
ในอดีตเรามักจะได้ยินเสมอ ว่า สื่อมวลชน เปรียบเสมือน ฐานันดรที่ 4
ฟังดูแล้ว เหมือนกับว่า อาชีพนี้มีสถานะโดดเด่นกว่าอาชีพอื่น ๆ มีความเป็นอภิสิทธิ์อะไรบางอย่าง
คำว่าฐานันดรที่ 4 มีที่มาในประวัติศาสตร์มานานแล้ว
นานมาแล้วในรัฐสภาอังกฤษประกอบด้วยฐานันดรสามระดับ คือ
ฐานันดรที่ 1 ประกอบด้วยสภาขุนนางอันมี พวกขุนนางสืบตระกูล
ฐานันดรที่ 2 ประกอบด้วยบรรพชิต พระราชาคณะ
ฐานันดรที่ 3 ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนธรรมดาได้เลือกตั้งให้เป็นผู้แทนของตนเข้าไปในสภา
วันหนึ่งระหว่างการประชุมในรัฐสภาอังกฤษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนชื่อ นายเอ็ดมันด์ เบิร์ก
ได้อภิปราย ตอนหนึ่งท่านได้กล่าวขึ้นว่า…..
“ในขณะที่เราทั้งหลายเป็น ฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งทั้งสามกำลังประชุมกันอยู่นี้
เราพึงคำนึงไว้ด้วยว่าบัดนี้ได้มี ฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้ว
และฐานันดรนั้นกำลังมานั่งฟังการประชุมของเราอยู่ ณ ที่นี้ด้วย”
เขาชี้มือไปยัง กลุ่มคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้พากันมานั่งฟังการประชุม
เอ็ดมันด์ เบิร์ก กำลังอธิบายถึงความเป็นอภิสิทธิ์ของคนอาชีพนี้
เป็นอาชีพเดียวที่สามารถเข้ามานั่งประชุมในรัฐสภาได้
ด้วยสิทธิพิเศษที่ให้อำนาจสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชน
ติดตามและสอบถามการทำงานของกษัตริย์และเหล่าขุนนางในรัฐสภา
ตั้งแต่นั้นมากลุ่มผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์จึงกล่าวว่าเป็นฐานันดรที่สี่
และกลายเป็นนิยามของสื่อมวลชนที่ใช้กันทั่วโลก
ถามว่าอาชีพนี้มีอภิสิทธิ์อย่างไร
ลองนึกภาพดูว่า จะมีอาชีพใดที่สามารถใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ นักการเมือง นายพล
หรือเซเล็บ คนดังทุกวงการ มากเท่าสื่อมวลชน
หากคุณมีบัตรนักข่าวคล้องคอ คุณสามารถเดินเข้าออกทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา
เขตทหาร ฯลฯ ได้อย่างง่ายดาย
ขณะที่อาชีพอื่นสามารถทำได้ไหม
จะมีอาชีพใดสามารถสัมผัสดารา นักร้อง คนดัง ได้มากเท่าสื่อมวลชน
เวลาเกิดไฟไหม้ เกิดอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่เอาเชือกมากั้นไม่ให้คนทั่วไปเข้าไป
แต่หากคุณสะพายกล้องหรือมีบัตรนักข่าวคล้องคอ ทางสะดวกทันที
เพราะคนเหล่านี้ คาดหวังว่า สื่อมวลชนจะเอาข่าวสาร
ที่เกิดขึ้นไปรายงานให้คนทั่วไปได้รับทราบ
หรือคาดหวังให้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตนเอง
ไม่แปลกใจที่สื่อมวลชนจึงถูกตั้งให้เป็น ฐานันดรที่ 4 มานานแล้ว
แต่ฐานันดรนี้ ก็มาจากความคาดหวังของคนทั่วไปด้วยว่า
จะคาบข่าวหรือรายงานข่าวที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติใด ๆ
สังคมให้คุณค่าสื่อว่าเป็นอาชีพที่อยู่เหนือหลายอาชีพ เพราะสื่อเปรียบเสมือนกระจกเงา
ที่สะท้อนความจริงเป็นดั่งตะเกียง หรือยามเฝ้าประตู
ที่พร้อมจะตะโกนบอกเจ้าของบ้านว่าเกิดอะไรขึ้น
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ
และมีบทบาทอย่างมากในการรายงานเหตุการณ์สำคัญของโลก
ปลายปากกาของสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนการเมืองในฝรั่งเศส
จนนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา มีการเผยแพร่แนวคิดต่อต้านการใช้ทาสในสังคมอเมริกันหลายสิบปี
ผ่านสื่อ The Liberator และ North Star จนมีการประกาศเลิกระบบทาสในที่สุด
ในประเทศไทย การรายงานข่าวของสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญ
ในเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ฯลฯ
ความรับผิดชอบต่อคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ และตีแผ่ความจริง
คือบทบาทของฐานันดรที่ 4 ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างทุกชนชั้นในสังคม
การรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติใดๆ
การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก่อนจะรายงานข่าวออกไป
ว่าไม่ใช่ข่าวโคมลอย หรือ Fake news
โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ที่มีข่าวลวงเต็มไปหมด
จึงเป็นมาตรฐานสำคัญที่แสดงถึงความเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ
หากสื่อทำแค่รายงานข่าวที่ปลิวว่อนในโลกโซเชียล
โดยไม่กลั่นกรองหรือตรวจสอบว่า
ข่าวนั้นมีข้อเท็จจริงเพียงใด
สื่อนั้นก็คงไม่ต่างจากการ forward ข้อความในกลุ่มไลน์
ยิ่งในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ คนดูก็ยังตรวจสอบข่าวของสื่อด้วยว่า น่าเชื่อถือเพียงใด
กรณี nation โป๊ะแตก เป็นตัวอย่างล่าสุดว่า
ทุกวันนี้คนดูข่าว ไม่ได้เชื่อข่าวของสื่อเสมอไป พากันตั้งคำถาม
ตรวจสอบการทำงานของสื่อเจ้านี้
จนสามารถจับผิดได้ว่า ข่าวของเนชั่นทีวี
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
ที่รายงานคลิปลับระหว่างนักการเมืองสองคนสนทนากัน
เป็นคลิปตัดต่อ ไม่ใช่คลิปจริง
ความน่าเชื่อถือจึงเป็น หัวใจสำคัญของสื่อมวลชน
คนดูคาดหวังความน่าเชื่อถือจากสื่อ เป็นอันดับแรก
ไม่ใช่ยอดกดไลน์ ยอดขายหรือเรทติ้ง
เพราะความน่าเชื่อถือคือเกราะคุ้มครองศักดิ์ศรีของสื่อมวลชนที่ดีที่สุด
และศักดิ์ศรีคือสมบัติชิ้นสุดท้ายของวิชาชีพนี้