9 มีนาคม 2562 นี้ ถ้าอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีชีวิตอยู่ จะมีอายุครบรอบ 103 ปี
ท่านจากแผ่นดินไปแล้ว 20 ปี
อาจารย์ป๋วยเกิดเมื่อวันที่9 มีนาคม 2459 ไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
มีตำแหน่งสูงสุดในอาชีพราชการ คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ชีวิตของท่านกลายเป็นตำนานที่ผู้คนกล่าวขานกันตั้งแต่เมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว
ผมรู้จักชื่อกับตัวจริงของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนอัสสัมชัญชั้น ป. 2-3
จำได้ว่าแต่ละปีหลังจากประกาศผลสอบไล่ปลายปีแล้ว
ทางโรงเรียนจะเชิญศิษย์เก่าดีเด่นและทำคุณประโยชน์ให้สังคมไทย
มาแจกประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนเรียนดี คือสอบได้ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
เพื่อให้นักเรียนได้เห็นแบบอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในอนาคต
ปีนั้นทางอธิการของโรงเรียนได้เชิญนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาแจกรางวัล
ผมจำได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ใส่แว่นใจดี หน้าตาเหมือนคนจีนแบบอาป๊า
แต่ไม่รู้ว่าตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ทำอะไร หรือใหญ่โตอย่างไร
รู้แต่ว่าเป็นศิษย์เก่าผู้รักโรงเรียนอัสสัมชัญมาก เวลาทางโรงเรียนเชิญให้มามอบรางวัล
ท่านไม่เคยปฏิเสธเลย
ในบรรดาศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถือเป็นนักเรียนที่บรรดาครูบาอาจารย์
ภาคภูมิใจมากที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความรู้ ความสามารถ และความซื่อสัตย์สุจริต
ป๋วยไม่ใช่ลูกคนรวย พ่อแม่อพยพมาจากเมืองเถ่งไห้ ประเทศจีน บ้านเดียวกับอาป๊าของผม
ท่านขวนขวายจนเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์
จากมหาวิทยาลัย London School of Economics เกียรตินิยมอันดับ 1
ในช่วงที่กำลังเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย
ป๋วยได้อาสาสมัครเป็นเสรีไทยทำงานต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น
และเป็นพลร่มเสี่ยงตายกระโดดลงมาบนแผ่นดินไทย เพื่อหวังมาส่งข่าวลับให้นายปรีดี พนมยงค์
อดีตผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าขบวนการเสรีไทย
อันเป็นขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่นจนถูกจับได้เป็นเชลยศึก
ต่อมาเมื่อสงครามสงบได้รับการประดับยศเป็นพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ
เมื่อท่านกลับมาได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง เป็นคนเก่งและมีชื่อเสียงจากความซื่อสัตย์สุจริต
ไม่ยอมก้มหัวให้ผู้มีอำนาจในสมัยนั้น จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่ออายุเพียง 43 ปี และกลายเป็นตำนานของคนที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้วางรากฐานระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของชาติ
เมื่อท่านได้รับการชักชวนให้มาก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่ให้การศึกษาแก่ท่าน
ตามระเบียบของกรมข้าราชการพลเรือนสมัยนั้น หากทำงาน 2 แห่ง
จะต้องรับเงินเดือนเต็มแห่งหนึ่ง อีกแห่งรับครึ่งเดียว
ท่านจึงขอรับเงินเดือนเต็มในฐานะคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ คือ 8,000 บาท
และรับเงินเดือนจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติครึ่งหนึ่ง คือ 25,000 บาท
แทนที่จะทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน คือรับเงินเดือนเต็มจากงานที่ได้เงินมากที่สุด
ตอนผมอยู่ชั้น ม.ศ.3 ผมเป็นสมาชิกค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียน
และได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประชุมเรื่องการพัฒนาชนบท ผมคงจะอายุน้อยที่สุด
เจ้าภาพเลยให้นั่งติดกับอาจารย์ป๋วย ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และสนใจการพัฒนาชนบทมาโดยตลอด ยังจำภาพท่านถลกแขนเสื้อเชิ้ตสีขาว
ใส่แว่น บางครั้งพ่นควันบุหรี่ปุ๋ยๆ ติดตาได้ดี
หลังจากนั้นไม่นานเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ท่านต้องหนีออกนอกประเทศ
สามปีต่อมาผมเป็นน้องใหม่ วันแรกที่เข้าธรรมศาสตร์ ตรงประตูท่าพระจันทร์
มีป้ายหนึ่งขยายลายมืออาจารย์ป๋วยเขียนด้วยมือซ้ายโย้ไปเย้มาเพราะท่านไม่สบาย
พูดไม่ได้ มือขวาเป็นอัมพาต เป็นข้อความกล่าวต้อนรับเพื่อนใหม่สั้นๆ
แต่สะเทือนใจคนอ่านเป็นยิ่งนัก
สมัยเป็นนักศึกษา ทุกปีเด็กกิจกรรมจะช่วยกันเขียนจดหมายเล่าเรื่องต่างๆ
ภายในมหาวิทยาลัยส่งไปให้ท่านที่บ้านพักในประเทศอังกฤษ
และขออนุญาตให้ท่านเขียนข้อความสั้นๆ ให้เพื่อนใหม่
ซึ่งท่านก็ไม่ปฏิเสธ ส่งข้อความสั้นด้วยมือซ้ายมาให้เสมอ
ความอยุติธรรมที่ท่านได้รับจากรัฐบาลเผด็จการในเวลานั้นฝังใจ
และเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ผมกลายเป็นนักกิจกรรมเต็มตัว
เมื่อผมจบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย และได้มาร่วมงานกับนิตยสาร สารคดี
พอถึงฉบับเดือนตุลาคม 2529 ทางกองบรรณาธิการคิดว่าน่าจะทำเรื่องรำลึกถึง
อาจารย์ป๋วยผู้ลี้ภัยจากเมืองไทยไปครบ 10 ปี ผมได้รับมอบหมายให้ทำสกู๊ปเรื่องนี้
เพื่อบันทึกว่าชีวิตของท่านในแดนไกลเป็นอย่างไร
เพราะที่ผ่านมาไม่มีสื่อใดๆ รายงานเรื่องราวของท่านในที่สาธารณะเลย
จากบรรยากาศทางการเมืองสมัยนั้นยังมีกลิ่นอายฝ่ายขวาพิฆาตฝ่ายซ้าย
เนื่องจาก สารคดี ให้ความสำคัญกับภาพมาก ผมเลยติดต่อคุณปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์
ลูกชายคนกลางที่เป็นช่างภาพด้วย ในการนำภาพถ่ายของอาจารย์ที่ประเทศอังกฤษ
มาเผยแพร่ให้คนได้รับทราบเป็นครั้งแรก และปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้ สารคดี
หมดแผงในเวลารวดเร็ว เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนหลังจากออกจำหน่ายได้ปีกว่าๆ ว่า
หนังสืออะไร ช่างกล้าดีแท้
ปี 2530 อาจารย์ป๋วยได้กลับมาเยี่ยมเมืองไทยเป็นครั้งแรก
ผมได้ไปรอต้อนรับท่านที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับลูกศิษย์ลูกหาที่ถือป้ายมีข้อความว่า
“ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน” “ลูกโดมมิลืมเลือนอาจารย์ป๋วย”
“ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหาย”
ที่บริเวณหน้าตึกโดม ไม่มีแถวกองเกียรติยศคอยต้อนรับ ไม่มีบริวารคอยคุ้มกัน
มีเพียงชายชราใจดีผู้หนึ่ง ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้ใด
ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ให้คนกลัวเกรง กำลังถูกห้อมล้อมด้วยผู้คนนับร้อยนับพันจากทั่วสารทิศ
ซึ่งมาให้กำลังใจบุคคลอันเป็นที่รักผู้ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมานานนับ 10 ปี
เมื่ออาจารย์มีอายุครบ 80 ปีใน พ.ศ.2539 สารคดี ได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านเป็นหน้าปกอีกครั้งหนึ่ง
รวมถึงการเปิดใจสัมภาษณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เคยเป็นคู่ขัดแย้งกัน
ท่านได้พูดถึงอาจารย์ป๋วยเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อผมได้หนีออกนอกประเทศไปพักที่สิงคโปร์ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
คุณป๋วยได้แสดงน้ำใจไปเยี่ยมเยียน……..
อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีความสามารถมาก
ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาทุกอย่าง
ผมเคยเชิญท่านมาเป็นรัฐมนตรีด้วย แต่ท่านไม่ขอรับตำแหน่ง
ท่านเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา”
6 สิงหาคม 2542 มีโทรสารจากประเทศอังกฤษฉบับหนึ่งแจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ด้วยโรคเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตกด้วยวัย 83 ปี และได้ทำการเผาศพเรียบร้อยแล้ว
ตามความประสงค์ของท่านที่เคยเขียนไว้ว่า
“ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน
และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป”
วันนั้น
บุคคลที่ซื่อสัตย์พอที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นซื่อสัตย์ตาม
ข้าราชการตัวอย่างที่กล้าคัดค้านและกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง
ผู้ใหญ่ผู้เห็นใจและเข้าใจปัญหาของผู้ยากไร้และคนยากคนจน
นักวิชาการที่เป็นมิ่งขวัญของนักวิชาการทุกคน ผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย
ด้วยวิญญาณและการกระทำ
ผู้ใฝ่สันติที่สอนให้คนต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสังคมอันเป็นธรรมด้วยสันติวิธี
ได้จากพวกเราไปแล้ว
หลายวันต่อมาผมอยู่บนเรือหลวง กระบุรี แห่งราชนาวีไทย ร่วมกับผู้คนจำนวนมาก
เพื่อนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเลบริเวณใกล้เกาะคราม
ทหารกองเกียรติยศทำความเคารพอดีตเสรีไทยและสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่
เมื่ออังคารถูกโปรยลงสู่ท้องทะเล
เสียงแตรนอนดังขึ้น คนบนเรือต่างโปรยดอกกุหลาบสีแดงเป็นการแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย
บราเธอร์จอห์น แมรี อดีตครูเพื่อนร่วมงานของป๋วยที่โรงเรียนอัสสัมชัญ
ได้เคยบอกผมในวันที่ทางโรงเรียนอัสสัมชัญได้จัดงานไว้อาลัย
และพิธีมิสซาให้แก่ศิษย์เก่าท่านนี้ว่า
“ในบรรดาผู้คนบนโลกนี้ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เปรียบเสมือน
คนถือคบไฟคอยส่องแสงสว่างนำทางให้แก่ผู้คน
อาจารย์ป๋วยเป็นคนหนึ่งผู้ถือคบไฟส่องสว่างให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป
…สัตบุรุษเช่นนี้เราจะลืมไม่ได้”
ติดตามครับ
LikeLike