เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนหนีความร้อนแรงของการเมืองไปเยือนชาวประมงแห่งชุมชนไหนหนัง
ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
เพื่อนที่ชวนไปบอกว่า หมู่บ้านนี้ไม่ธรรมดาจริง ๆ
พวกเขาส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเป็นชุมชนประมงพื้นบ้านเก่าแก่มานาน
ในอดีตชาวบ้านประสบปัญหาจากการเข้ามาของเรืออวนลาก เรืออวนรุนจำนวนมากที่เข้ามาจับสัตว์น้ำทุกอย่าง
ริมฝั่งทะเลหน้าบ้านพวกเขา ชาวบ้านจึงเข้าปกป้องผืนทะเลด้วยการสู้กับเรืออวนอย่างทรหดหลายปี แม้กระทั่งยอมเอาขีวิตเข้าแลก
และเมื่อป่าชายเลนแถวนั้นที่ทางการเคยให้สัมปทานได้หมดลง ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนครั้งใหญ่
จนกลายเป็นป่าชุมชนอันอุดมสมบูรณ์ขนาด 3,500 ไร่
และกลายเป็นปราการสำคัญป้องกันไม่ให้คลื่นสึนามิเข้ามาทำลายหมู่บ้านเมื่อครั้งเหตุการณ์ปี 2547
ชาวไหนหนังทราบดีว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรเป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
หลายปีก่อน ทางกรมประมงขอร้องไม่ให้ ชาวประมงใช้โป๊ะน้ำตื้นจับสัตว์น้ำ แต่ไม่มีใครสนใจ
ชาวประมงกระบี่ทราบดีว่า โป๊ะน้ำตื้น เครื่องมือจับปลาชนิดนี้ คือตัวการทำลายพันธุ์กุ้งหอยปูปลา มาช้านานแล้ว
เพราะมันกวาดจับสัตว์น้ำทุกชนิดหน้าชายฝั่งตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ไม่สามารถหลุดรอดออกมาเจริญเติบโตได้
จนวันหนึ่งทางกรมประมงได้มาขอร้องให้ชาวบ้านไหนหนังยกเลิกการใช้โป๊ะน้ำตื้น
เพื่อนำร่องเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องชาวประมงหมู่บ้านอื่นในจังหวัดกระบี่ได้ยอมเลิกตาม
ตอนนั้นชาวบ้านไหนหนังนับร้อยรายก็ยังใช้โป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือจับปลา แต่เมื่อแกนนำได้ชักชวนชาวประมงทั้งหมู่บ้าน
ไปร่วมประชุมกันที่มัสยิดหาทางออก ผ่านการถกเถียงกันยาวนาน สุดท้ายได้ข้อยุติว่า
ภายในห้าปี โป๊ะน้ำตื้นต้องหมดไปจากหน้าบ้านพวกเขา
และประกาศร่วมกันในมัสยิดว่าจะดูแลท้องทะเลด้วยการไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายอีกต่อไป
คำมั่นสัญญานี้ไม่ได้แค่คำพูด
ชาวไหนหนังที่เคยทำโป๊ะน้ำตื้น ค่อย ๆ เลิกไปใช้เครื่องมือจับปลาแบบอื่น จากคำมั่นสัญญาจนหมดสิ้นภายในห้าปี
ชาวไหนหนังเป็นคนประเภท รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง พูดคำไหนคำนั้น
และเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวประมงหมู่บ้านอื่นยกเลิกโป๊ะน้ำตื้นจนหมดทั้งจังหวัด
กระบี่กลายเป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่ปลอดภัยจากโป๊ะน้ำตื้นโดยสิ้นเชิง
ชาวไหนหนังยังตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในป่าชายเลน ผลัดเวรออกตรวจตราตราท้องทะเลหน้าบ้านว่า
มีเรือใดทำผิดกฎหมาย จะมีการวิทยุติดต่อให้ทางการเข้าไปจับกุม
ชาวบ้านบอกผู้เขียนว่า พวกเขาช่วยกันสร้างปะการังเทียมแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ราคาถูก
โดยไปเสาะหาท่อคอนกรีตที่ถูกทิ้งร้างจากการก่อสร้าง มาทิ้งไว้ใต้ทะเลให้เป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งหอยปูปลา
และตั้งธนาคารปู ปลา กุ้ง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกสัตว์น้ำทุกชนิด
วันนี้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลกระบี่ กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านไหนหนัง
จากทรัพย์ในทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาจำนวนมากที่พวกเขาช่วยกันอนุรักษ์
อีกด้านหนึ่งชาวบ้านหลายครอบครัวยังคงทำนา ทำไร่ ปลูกผักอินทรีย์ ซื้อขายกันในชุมชน ไม่ต้องพึ่งพาภายนอก
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ พวกเขาเลี้ยงผึ้งโพรง โดยอาศัยดอกไม้ในป่าชายเลนเป็นรายได้เสริมจากการขายน้ำผึ้ง
และยังต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ สบู่เหลว สบู่ก้อน แชมพู ครีมนวดผมน้ำผึ้ง
ผู้เขียนเดินดูรังผึ้ง ทำจากกล่องไม้ วางเรียงรายอยู่ในสวนยางพารา รอบ ๆ หมู่บ้าน
พวกเขาบอกว่า ผึ้งจะบินไปหาน้ำหวานจากเกสรในรัศมีห้ากิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนและเกษตรกรรม
ผึ้งชอบกินน้ำหวานจากเกสรของต้น แสมขาว ตะบูนดำ ตะบูนขาว ตาตุ้ม เป้ง ในป่าชายเลน
ชาวบ้านบอกผู้เขียนว่า จะเลี้ยงผึ้งได้สำเร็จต้องดูแลป่าด้วย
ผึ้งไม่ชอบควันไฟจากเผาป่า
ผึ้งไม่ชอบสารเคมี ยาฆ่าแมลง ตามหัวไร่ปลายนา
และไม่มีป่าก็ไม่มีผึ้ง
ชาวบ้านจึงตกลงร่วมกันช่วยกันดูแลป่าชายเลน ไม่เผา ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงในไร่นา
เพื่อถนอมคุณภาพน้ำผึ้งและรักษาจำนวนประชากรผึ้ง
เมื่อชาวบ้านดูแลป่าชายเลนน้ำผึ้งก็ทำรายได้หลายหมื่นบาทให้กับพวกเขา
เป็นตัวอย่างการเลี้ยงผึ้งพร้อมกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างน่าทึ่ง
ทุกวันนี้ชาวไหนหนังกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของกระบี่
จากการอนุรักษ์ท้องทะเล ป่าขายเลนควบคู่กับการเลี้ยงผึ้ง มีรายได้ทางเศรษฐกิจอยู่รอดได้ พึ่งตัวเองได้อย่างดี
ท่ามกลางความตกต่ำของพืชไร่ทางภาคใต้
เพราะพวกเขาเชื่อว่า
เมื่อพวกเขาดูแลทะเล ดูแลป่าอย่างดีแล้ว ป่ากับทะเลจะดูแลพวกเขาเอง