ชนชั้นประชุม

 

7665.png_860
ภาพ: lovepik.com

การประชุมเป็นเรื่องสำคัญในแต่ละองค์กร

การประชุมถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรให้นำไปสู่ทิศทางที่กำหนดไว้

หากบริหารการประชุมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

องค์กรอันแข็งแกร่ง สังเกตได้จากการประชุมว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด

 

องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการประชุม จะมีข้อกำหนดชัดเจนให้ผู้เข้าประชุมต้องปฏิบัติตาม

ถือเป็นหลักพื้นฐานในการประชุมที่ดี

อาทิ  การตรงเวลาถือเป็นเรื่องซีเรียส  ใครไม่ตรงเวลา โดนลงโทษทันที

ผู้เข้าร่วมประชุมต้องทำการบ้านวาระการประชุมอย่างละเอียด

เพื่อถกเถียงกันในที่ประชุมได้อย่างกระชับ

ผู้เข้าร่วมประชุมต้องพูดเข้าประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ

ประธานในที่ประชุมต้องจับประเด็นแม่น

ตัดบทคนที่พูดจาน้ำท่วมทุ่ง

การประชุมแต่ละครั้งไม่ควรเกินสองชั่วโมง

ต้องมีข้อสรุปในที่ประชุม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจ และนำไปปฏิบัติต่อได้

เหล่านี้คือตัวอย่างของการประชุมที่มีประสิทธิภาพ

 

แต่ละครั้งที่ประชุม เราจะสังเกตได้เสมอว่า

คนที่เข้าประชุมมีสติปัญญาเป็นอย่างไร โดยดูได้จากเนื้อหาของอภิปรายว่าน่าสนใจ

หรือแหลมคมเพียงใด

บางคนพูดจายาวเหยียด แต่ไม่แสดงสติปัญญาอะไรออกมา

 

บางคนพูดสั้น ๆ สองสามประโยค แต่ประเด็นแหลมคม

เห็นทางแก้ปัญหา น่าฟัง ชวนติดตาม

 

องค์กรที่มีประสิทธิภาพ จึงเลือกคนเข้าร่วมประชุมแบบไม่ยึดติดตำแหน่ง

เพราะอยากฟังการแสดงความคิดเห็นของคนนั้น

มากกว่าที่จะเลือกคนเข้าประชุมจากตำแหน่งในองค์กรนั้น ๆ

 

แต่หลายองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน หรือ องค์กรของรัฐ

มักจะเป็นองค์กรที่มีผู้บริหารประชุมตลอดเวลาวันละหลาย ๆ รอบ

การประชุมแต่ละครั้งจะกินเวลายาวนาน

ปล่อยให้ผู้บริหารอภิปรายไปเรื่อย ๆ ไม่มีประเด็นอะไรเป็นแก่นสาร

ประธานในที่ประชุมก็ไม่เด็ดขาด หรือไม่ก็เกรงใจผู้อภิปรายจนไม่กล้าตัดบท

พอประชุมเสร็จ  ก็จะไม่มีข้อสรุป

และบางครั้งอาจจะนำวาระเดิมไปประชุมใหม่ในครั้งหน้า

 

หรือหากในที่ประชุมไม่กล้าตัดสินใจอะไร ยังไม่กำหนดแผนงานออกมา

ก็ใช้วิธีตั้งอนุกรรมการขึ้นมาร่างแผนงานที่เกี่ยวข้อง

แล้วค่อยนำมารายงานในที่ประชุมอีกครั้ง

อนุกรรมการชุดนั้น ก็ประกอบด้วยกรรมการชุดเดิมหลายคน และคนภายนอกอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้บริหารก็จะมีการประชุมเพิ่มมากขึ้นอีก หากขยันตั้งอนุกรรมการหลายชุด

 

องค์กรบางแห่งยังตั้งอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุด เพื่อประเมินว่า

แผนงานที่อนุกรรมการร่างขึ้นมาใช้ได้หรือไม่

พอทำแผนงานเสร็จ ก็เก็บไว้ในแฟ้ม แทบจะไม่ได้นำออกมาปฏิบัติจริง

ทำงานด้วยความเชื่องช้า วนเวียนกันไปมา

จนผู้ปฏิบัติงานมึนงงว่า องค์กรจะเดินหน้าได้อย่างไร

 

องค์กรที่ไร้ประสิทธิภาพหลายแห่ง จึงเต็มไปด้วยการประชุม

ผู้บริหารหลายคนจึงไม่ต้องบริหารอะไร เพราะหมดเวลาไปกับการประชุมวันละหลายแห่ง

 

จนมีเรื่องติดตลกว่า องค์กรบางแห่งประชุมกันบ่อยมาก

จนต้องมีวาระว่า “ครั้งหน้าจะประชุมเรื่องอะไรดี”

ผู้บริหารบางคน ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการที่อื่น หรือเป็นตัวแทนขององค์กรไปร่วมประชุมข้างนอก

นานเข้า หลายคนเคยชินกับการประชุมจนกลายเป็น “ชนชั้นประชุม”

 

คนเหล่านี้รู้สึกว่า การเข้าร่วมประชุมทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญขององค์กรนั้นๆ

บางคนเป็นบอร์ด เป็นกรรมการหลายแห่ง จากการมีเส้นสาย หรือวิ่งเต้นหาผู้มีอำนาจ

ยิ่งประชุมมากยิ่งรู้สึกตัวเองเป็น somebody

หลายคนประชุมบ่อยมาก จนแทบจะไม่มีความสามารถอะไรอื่น

นอกจากประชุม และประชุม

แต่รับเบี้ยประชุมกันสนุก

บางคนได้ค่าเบี้ยประชุมมากกว่าเงินเดือนตัวเองเสียอีก

บางคนอายุมากเกินไป แต่ไม่ยอมรับสังขารของตัวเอง สุดท้ายก็หลับคาห้องประชุม

 

หลายคนไม่รู้ตัวว่า ไม่มีความรู้ความสามารถพอจะมาแสดงความเห็นในที่ประชุมได้

แต่ก็เข้าประชุมได้เพราะ connection

บางคนจึงใช้วิธี ก้มหน้านั่งเล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ก หรือพลิกดูข่าวในออนไลน์

แทนที่จะมีสมาธิในการประชุม

หลายคนมาไม่ตรงเวลา เวลาประชุมก็แสดงความเห็นพอเป็นพิธี

บางคนอภิปรายไปเรื่อยๆ  ไม่มีประเด็นคมคาย  แค่ขอให้ได้พูด

เพราะคิดว่ายิ่งพูดยิ่งคิดว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ

เรียกกันว่า พวก  NATO หรือ  No Action Talk Only

 

หลายองค์กรจึงเสียเวลากับการประชุมทั้งวัน โดยไม่ได้อะไรจาก ชนชั้นประชุม เหล่านี้

วนๆไปแบบไม่มีข้อสรุป เพราะไม่กล้าตัดสินใจ

บางองค์กรเสียเวลาประชุมเป็นปี

แต่ไม่ได้อะไรคืบหน้า

การแก้ปัญหาหลายอย่างจึงวนอยู่กับที่ นี้ไม่ไปไหนเสียที

ชนชั้นประชุมเหล่านี้คือตัวถ่วงความเจริญสังคม.

ระบาดหนักไปทุกวงการ ตั้งแต่หน่วยงานรัฐ. บริษัท องค์กรอิสระ ไปจนถึงอาคารรัฐสภา

โดยเฉพาะบรรดาสว. ถือเป็นสวรรค์ของชนชั้นประชุม

และเป็นสวรรค์ของคนที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่มาได้ด้วย connection ล้วน ๆ

news96613_855
ภาพ: ครอบครัวข่าว ช่อง 3

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s