
ช่วงนี้ดูเหมือนการสร้างฝาย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่ง
รัฐบาลอ้างว่าเพื่อให้เกิดแอ่งน้ำให้ชุมชน แก้ภัยแล้ง-ลดความรุนแรงของน้ำในฤดูฝน
บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งก็ทำโฆษณาอย่างครึกโครม
ประกาศจะทำการสร้างฝาย เพื่อเป็นการคืนกำไรให้สังคม
ทุกวันนี้ หน่วยงานรัฐหรือภาคเอกชนเวลาจะจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
หรือการทำ CSR ให้กับองค์กร
หากคิดอะไรไม่ออก ก็คือการหาพื้นที่ สร้างฝายชะลอน้ำ
หากเป็นสมัยก่อน คงเป็นการหาพื้นที่ปลูกป่า
แต่ตอนนี้ดูเหมือนการสร้างฝายชะลอน้ำกำลังแซงหน้า การปลูกป่า
ฝายชะลอน้ำกำลังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร
ฝายชะลอน้ำ หรือ Check Dam คือสิ่งก่อสร้างทำขึ้นเพื่อขวางหรือกั้นทางน้ำ
ลำห้วย ลำธาร ในพื้นที่ต้นน้ำ
หรือ พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยมีประโยชน์ว่า
เพื่อช่วยลดความรุนแรงและอัตราเร่งของกระแสน้ำในลำธาร
ช่วยบรรเทาความรุนแรงอันเกิดจากการกัดเซาะพังทลายของดินบริเวณสองฝั่งลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ
เพื่อช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ
ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น
เพื่อช่วยให้พื้นที่ต้นน้ำซึ่งมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น
จะทำให้ความหนาแน่นของชนิดพันธุ์พืชต่างๆมีมากขึ้นด้วย
หลายสิบปีที่ผ่านมา การสร้างฝายในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นนับแสนแห่งทั่วประเทศ
ฝายชะลอน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
คือ ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น หรือฝายแม้ว ทำจากวัสดุธรรมชาติ
ฝายกึ่งถาวร หรือชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน
และฝายถาวร แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก
เชื่อกันว่า ฝายชะลอน้ำ จะช่วย ทำให้บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์
ดินเกิดการอุ้มน้ำ ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น พื้นที่มีความชุ่มชื้น
อันจะส่งผลดีต่อบริเวณโดยรอบ
ฝายยังมีประโยชน์มหาศาล ราวกับยาแก้ไข้สารพัดโรค
จนมีคำพูดว่า ฝายมีชีวิต
แต่ทุกอย่างล้วนมีสองด้านเสมอ
ฝายอาจจะเหมาะสมหากสร้างในพื้นที่แห้งแล้ง สร้างความชุ่มชื้นในดิน
แต่อีกด้านหนึ่ง
ฝายก็สร้างปัญหามากมายตามมาภายหลัง
ก่อนการสร้างฝายจำนวนมาก เชื่อแน่ว่า
ส่วนใหญ่คงไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบต่อการสร้างฝายในลำธาร
ว่าการเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปกั้นลำน้ำในระบบนิเวศบริเวณนั้น
จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง
หลังสร้างฝายเสร็จ ระดับน้ำอาจจะสูงขึ้นในฤดูฝน
จนเกิดน้ำท่วมพืชและสัตว์บริเวณนั้น ต้นไม้ที่มีอายุยืนนานมาหลายสิบปี
ส่วนใหญ่ยืนตายจากน้ำท่วม พอช่วงฤดูแล้ง น้ำในฝายอาจจะเริ่มหยุดไหล เกิดสภาพน้ำนิ่ง
ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่า ขาดออกซิเจน
และทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำค่อย ๆ หายไป
ปัญหาปลาในลำธารไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ เพาะพันธุ์ได้
หลายปีก่อนจะมีการสร้างฝายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ได้มีการค้นพบปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ ( Siamese bat catfish)
สัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย พบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลก
ที่ลำธารน้ำไหลแรงบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
แต่หลังจากมีการสร้างฝายบนน้ำห้วยทรายเหลืองในอุทยานแล้ว
ไม่พบปลาค้างคาวชนิดนี้อีกเลย
ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดสูงมากแห่งหนึ่งของโลก
คือในทวีปอเมริกาเหนือพบพันธุ์ปลา 760 ชนิด ในยุโรปพบพันธุ์ปลา 546 ชนิด
แต่เฉพาะเมืองไทยพบพันธุ์ปลาสูงถึง 600 ชนิด แต่ใกล้สูญพันธุ์ถึง 94 ชนิด
ยังไม่มีการวิจัยว่า ปลากี่สายพันธุ์ และสิ่งมีชีวิตตามลำน้ำกี่ชนิด ที่ค่อย ๆ หายไป
ภายหลังจากการสร้างฝายตามลำน้ำเกือบทุกแห่งในประเทศ
มีจำนวนและกี่ชนิดมากน้อยเพียงใด
ปัญหาขยะจำนวนมหาศาลที่กองไว้
หลังฤดูฝนผ่านไป ฝายส่วนใหญ่จะพัง ขยะจากกระสอบทราย
เศษปูน จะกระจัดกระจายไปทั่ว จนทำให้น้ำเน่า
และที่สำคัญคือฝายรุ่นใหม่ นิยมเอาปุ๋ยคอกใส่ลงไปในกระสอบ
เพื่อเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ที่จะปลูก ซึ่งปุ๋ยคอกมีแบคทีเรียจำนวนมาก
เมื่อละลายในน้ำ เกิดปัญหาตามมาแน่นอน
ปัญหาไม่มีตะกอนไปสะสมปลายน้ำ อันเป็นธรรมชาติของสายน้ำ
ที่นำพาตะกอนและแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์จากต้นน้ำไปปลายน้ำ
แต่ละปีจะมีตะกอนจากแม่น้ำหลายสายออกสู่อ่าวไทย 18.7 ล้านตัน/เดือน
แต่ปัจจุบันได้ลดลงถึง 75% เมื่อเทียบกับเมื่อ 35 ปีก่อน
แต่ปัญหายังไม่หนักหนาเท่ากับ การไปสร้างฝายชะลอน้ำในทุกพื้นที่
โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามเขตอุทยานแห่งชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีลำธารน้ำใสตลอดปี
เพราะไม่มีความจำเป็นในการสร้างฝายชะลอในป่าแบบนี้ ที่มีผืนดินชุ่มชื้นอยู่แล้ว
ส่งผลกระทบตามมาอย่างมากมาย
แต่ดูเหมือนนโยบายของรัฐ ตั้งใจจะสร้างฝายในป่าอนุรักษ์
โดยคงไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เวลาเฮโลมีโครงการสร้างฝายในป่าอนุรักษ์
กรุณาเอาความรู้ไปด้วย ว่าการสร้างฝายชะลอน้ำ จำเป็นจริง ไหม
เพราะบางที ฝายอาจไม่ได้สร้างชีวิต
แต่อาจทำลายชีวิตมากกว่า
