ในยุคสมัยนี้ มีศัพท์หนึ่งคำที่มนุษย์ควรรู้ เพราะคำนี้จะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต
คือคำว่า Anthropocene
ศัพท์ธรณีวิทยาคำนี้ เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี เป็นคำที่ใช้เรียกยุคธรณีวิทยา ระยะช่วงเวลาไม่นานมานี้
ที่การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เป็นคนริเริ่มศัพท์คำนี้เป็นคนแรกคือ พอล ครูตเซน นักฟิสิกส์เคมีชาวเนเธอร์แลนด์
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี จากการค้นพบผลกระทบของสารประกอบที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และเป็นผู้เชี่ยวชาญปัญหาโลกร้อนคนสำคัญ
ระหว่างการนำเสนองานทางวิชาการครั้งหนึ่งในปีค.ศ. 2000 ที่พอล ครูตเซน เข้าร่วมประชุมด้วย
และมีคนบรรยายเกี่ยวกับมนุษย์ปัจจุบันและยุค Holocene
(ยุคทางธรณีวิทยาล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปี หลังจากยุคน้ำแข็งละลาย)
“ตอนนั้นผมคิดว่ามันผิดแล้วที่เรายังใช้คำว่า Holocene เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว
มนุษย์มีส่วนในการทิ้งร่องรอยไว้มากมาย และผมคิดถึงคำนี้ขึ้นมา Anthropocene”
คำนี้มาจากคำสองคำคือ Anthropo มีความหมายว่า มนุษย์ cene มีความหมายว่า ใหม่
ยุคสมัยที่มนุษย์ครองโลกเมื่อหมื่นปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
จนกระทั่งเมื่อมนุษย์เริ่มทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน
โดยนักวิทยาศาสตร์มีแนวคิดต่างกัน บางคนเชื่อว่า
เริ่มจากการผลิตเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ ในศตวรรษที่ 18
บางคนเชื่อว่าเกิดการขุดค้นน้ำมันขึ้นมาใช้ ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น
แต่ปรากฎการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุค Anthropocene
คือ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลกโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา
ที่เรียกว่า The Trinity test อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Manhattan
หรือโครงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อเวลา 05.29 น.วันที่ 16 กรกกฏาคม 1945 ที่ทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก
ความร้อนและความรุนแรงจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งนั้น ได้ทิ้งร่องรอยบนชั้นหิน ชั้นดิน
ชั้นบรรยากาศอย่างชัดเจน และเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ล้วน ๆ ไม่ใช่จากธรรมชาติ
จากนั้นยุคสมัยที่มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อาทิปัญหาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ปัญหาการทำลายป่า
การปล่อยมลพิษลงสู่ผืนดิน ทะเล และมหาสมุทร
และสำคัญคือ ปัญหาการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่า การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 กล่าวคือ
การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกเกิดขึ้นมาแล้วห้าครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณ 450 ล้านปี
และครั้งที่ห้าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนในยุคไดโนเสาร์ครองโลก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรมชาติ
แต่ปัจจุบันโลกกำลังก้าวสู่การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่หก สาเหตุหลักไม่ได้มาจากธรรมชาติ
แต่มาจากน้ำมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่
ที่น่าตกใจคือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งนี้ มีอัตราการทำลายล้างสูงมากกว่าในอดีตถึงหนึ่งพันเท่า
สาเหตุมาจากคือการไล่ล่าของมนุษย์ การทำลายป่า ปัญหาโลกร้อนและปัญหามลพิษ
โลกของเรากำลังก้าวสู่ยุคการทำลายล้าง
ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช อย่างน้อย 3 ใน 4 ที่มีอยู่ทั้งหมด
ต้องสูญพันธุ์และหายไปจากโลกใบนี้
อีกด้านหนึ่ง วิคเตอร์ เวสโคโว นักสำรวจชาวอเมริกัน ทำลายสถิติโลกด้วยการใช้เรือสำรวจดำดิ่งเกือบ 11 กม.
หรือความลึก 10,927 เมตร ไปยังร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ไม่มีมนุษย์ลงไปลึกขนาดนี้ได้
ในระดับความลึกขนาดนั้น ปราศจากแสง เขาได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกใหม่ ๆ หลายชนิด
แต่ในความมืดมิดของใต้พื้นมหาสมุทรที่ลึกที่สุด
เขายังได้พบถุงพลาสติกและซองลูกอมด้วย
นั่นหมายความว่า ท้องทะเล ท้องมหาสมุทรทั่วโลก ไม่มีพื้นที่ใดรอดพ้นจากขยะพลาสติก
หรืออาจจะเรียกได้ว่า ทั่วทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ แทบจะไม่มีที่ใดที่ปลอดจากกิจกรรมของมนุษย์เลย
แต่หลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงสัญลักษณ์อันโดดเด่นของยุคสมัยทางธรณีวิทยา Anthropocene
คือไก่ที่เรากินเป็นประจำนั่นเอง
ไก่บ้านเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากไก่ป่าบ้านเราในแถบเอเชียอาคเนย์
และมนุษย์นำมาเลี้ยงจนกลายเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดยักษ์กระจายไปทั่วโลก
ทุกวันนี้ไก่จึงกลายเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังจำนวนมากที่สุดในโลก
คือมีไก่ปีละกว่า 60,000 ล้านตัวให้มนุษย์ได้บริโภค
การปรับปรุงสายพันธุ์ทำให้ไก่หิวเร็ว ต้องกินอาหารมาก ทำให้ตัวใหญ่ ได้เนื้อปริมาณมากในเวลาสั้น
มีรูปร่างผิดกับไก่ตามธรรมชาติ จึงเป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำในยุคสมัยนี้
และกระดูกไก่จำนวนมหาศาลจะกลายเป็นฟอสซิลปรากฎร่องรอยทางธรณีวิทยาบนโลกนี้
ได้ชัดเจนที่สุดในยุคสมัยนี้
เห็นด้วยไหม หากจะบอกว่า Anthropocene ควรจะมีโลโก้เป็นรูป ไก่
ส่วนจะเป็นไก่ยี่ห้ออะไร คงไม่ต้องจารึกไว้นะครับ 555