คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า
“ความตายเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด
ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเจ็บปวดทางร่างกาย อาจเป็นความรู้สึกเจ็บปวดภายในใจ
แล้วเราก็หยิบสิ่งที่ธรรมชาติให้มาหยุดยั้งความเจ็บปวดนั้น”
แล้วอะไรที่ทำให้พี่สืบเจ็บปวดหัวใจขนาดนั้น
หลายปีก่อน ผมเดินทางกลับไปอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกครั้งหนึ่ง
พร้อมกับพรรคพวกหลายสิบคนที่อยากมาตามรอยอดีตข้าราชการกรมป่าไม้คนหนึ่ง
สำหรับหลายคน เขื่อนเชี่ยวหลานอาจจะเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพแปลกตา
เห็นเกาะหินปูนรูปร่างแปลกอยู่กลางอ่างเก็บน้ำ ราวกับทะเลสาบกุ้ยหลินของเมืองจีน
แต่สำหรับผมแล้ว การไปเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งแรกของผมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
เป็นภาพที่อยู่ในใจไปตลอดชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ
สืบ นาคะเสถียร
ผมดั้นด้นไปตามหาสืบ นาคะเสถียรกลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน
เมื่อได้ทราบว่า เขาเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ในการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่หนีตายจากน้ำท่วมไปติดค้างอยู่ตามต้นไม้และเกาะกลางอ่างเก็บน้ำ
ภายหลังการสร้างเขื่อน
ผมจำได้แม่นยำว่า วันหนึ่งขณะที่เราผูกเรือกับตอไม้กลางทะเลสาบ
เพื่อช่วยชีวิตชะนีตัวหนึ่ง ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดลำข้อมือ ยาวร่วม 3 เมตร
พุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้ ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจ
และโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ
“ตามมันไป จับมันให้ได้” พี่สืบบอกพวกเรา
และเมื่อเราช่วยกันใช้สวิงจับงูขึ้นมาบนเรือแล้ว คราวนี้ทุกคนหันหน้ามามองกันเลิกลั่ก
ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ…
ยังไม่ทันไรพี่สืบใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดขอบเรืออย่างแรง
พร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใส ๆไหลเยิ้มออกมาจนหมด
พี่สืบจับมันใส่ถุงกระสอบ ใช้เชือกผูกมัดแน่นหนาอย่างรวดเร็ว
พอทุกอย่างปลอดภัย ผมเดินไปพูดกับพี่สืบว่า ไปเรียนจับงูมาตั้งแต่เมื่อใด
พี่สืบบอกว่า “ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต”
ผมนับถือน้ำใจของพี่สืบที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเต็มที่
แกมีลูกน้องหลายคน แต่เมื่อต้องเสี่ยงอันตราย พี่สืบออกหน้ารับเอง
หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสพบกันสม่ำเสมอในงานต่าง ๆ
โดยเฉพาะการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ที่จังหวัดกาญจนบุรี
ที่พี่สืบเป็นแกนนำในการคัดค้านอย่างแข็งขันแม้ว่าจะเป็นข้าราชการตัวเล็ก ๆ
และ เขาขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่าง ๆ จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี
เพราะทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า
“วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”
ปลายปี 2532 พี่สืบเล่าให้ผมฟังว่า กำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต
คือพี่สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ที่ตอนนั้นแทบจะไม่มีใครรู้จัก
หากเป็นคนทั่วไป ก็คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก
เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับพี่สืบแล้ว
เขารู้ดีว่าป่าห้วยขาแข้งมีความสำคัญอย่างไร หากปกป้องไม่ได้
ป่าด้านตะวันตกของเมืองไทยก็คงพินาศ
ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ
เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีคนบุกรุกอาศัย
อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก
เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ
วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ออกจับไม้เถื่อน
แล้วสืบก็พบว่า ป่าจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน
แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย
แต่ละหน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่
และที่น่าตลกคือ งบประมาณในการดูแลป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้ ได้เพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี
ในขณะที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อมสภาพแล้วรัฐให้เงินอุดหนุนถึงไร่ละ 1,000 บาทต่อปี
สืบพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวันในเวลานั้น
“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย
จับมันได้ครั้งหนึ่ง มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด
กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอน แบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเราแต่เราต้องตามจับ
อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน
เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา
มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”
สืบรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานด้วยความยากลำบากยิ่งนักในป่าเปลี่ยวที่พร้อมจะโดนยิงเมื่อไรก็ได้
โดยไม่มีหลักประกันใด ๆ ทั้งสิ้นให้แก่ครอบครัวและตัวเขา
นอกจากเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวไม่เกินคนละ 1,500 บาทต่อเดือน
ไม่มีสวัสดิการ หรือประกันชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น
และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ พวกเขาขาดวิทยุสื่อสารที่จะติดต่อกันได้ในพื้นที่มหาศาล
และรถก็ไม่เพียงพอ แม้กระทั่งอาวุธประจำกายก็มีเพียงปืนลูกซอง
ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธล่าสัตว์ และมีบุคคลในเครื่องแบบคอยคุ้มครอง
สืบพยายามรายงานให้ผู้ใหญ่ทราบถึงปัญหา แต่ดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจอะไรเลย
มีแต่ความเงียบที่กลับมา เขารู้สึกหนักอึ้งและถูกกดดัน
ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขานั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น
เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป
เขารู้ว่าเขาไม่อาจจะทำอะไรให้มากกว่านี้แล้ว
เขาบอกคนใกล้ชิดว่า “ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”
ไม่กี่ปีต่อมา ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็ก ๆผู้นี้ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน
ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง และเหนืออื่นใด
ความตายของเขาได้สั่นสะเทือนผู้คนในสังคมไทยที่ทราบข่าวอย่างรุนแรง
มีผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
จึงตัดสินใจยิงตัวตาย
วันที่ผมไปรอรับศพพี่สืบที่นำมาจากป่าห้วยขาแข้ง เอามาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุบางเขน
จำได้ดีว่าวันแรกไม่มีศาลาว่าง ต้องฝากโลงเอาไว้
ในความรู้สึกถึงเพื่อนและพี่ชายคนนี้ ผมเขียนบันทึกสั้น ๆไว้ว่า
“คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง
แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียรแล้ว
เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่ามากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก
เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งพล่านไปทั่ว
เพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่า
เกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าห้วยขาแข้ง
…ไม่มีใครสนใจ เสียงตะโกนของเขาไม่มีใครอยากได้ยิน
ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนนัดหนึ่งจึงดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง
สองอาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนดังไม่กี่สิบเมตรข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้
ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน
ได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน
สืบ นาคะเสถียรรอวันนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เขามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้
เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง
แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย
ก่อนตายไม่นาน พี่สืบได้เล่าให้ฟังว่า มีโอกาสได้พบรัฐมนตรีคนหนึ่ง
และพยายามอธิบายปัญหาการตัดไม้ในห้วยขาแข้งที่พัวพันกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย
แต่รัฐมนตรีตัดบทไม่ใส่ใจ
พี่สืบคงเจ็บปวดกับระบบราชการจนถึงที่สุด
หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย
พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องซึ่งเขาเป็นคนส่งไปปฏิบัติหน้าที่
ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ
สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้า
โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้
พี่สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่าและป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด
เขาพยายามทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจากประชาชนให้ดีที่สุดเท่านั้น
เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการ
และผู้มีอำนาจในเมืองไทย ที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง
เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก
การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง
ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อหน้าที่ของเขา
แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้
สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ และความมุ่งมั่นของตัวเอง
บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้
………
ภายหลังการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ได้ก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ครั้งใหญ่ในสังคมไทย
และต่อมาไม่นาน ยูเนสโก ได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร
เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของพี่สืบ
ส่งผลให้เกิดความหวงแหนดูแลป่าทั้งสองผืนอย่างจริงจังจากคนทั้งประเทศ
ปริมาณสัตว์ป่าในรอบหลายปีได้เพิ่มขึ้น อันเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ทำงานอย่างจริงจังในการอนุรักษ์ผืนป่าเหล่านี้
รวมถึงการขยายพื้นที่ดูแลไปทางผืนป่าตะวันตก
อันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง
เป็นผืนป่าติดต่อกัน 11.7 ล้านไร่
โดยประสบความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ที่เคยขัดแย้งกันมาตลอด ให้หันมาจับมือกันดูแลรักษาป่า สืบทอดความฝันของสืบ นาคะเสถียร
เสียงปืนในราวป่าห้วยขาแข้งเมื่อยี่สิบปีก่อน ยังคงดังกึกก้องมาจนถึงบัดนี้