เมื่อร่างกายต้องการดาว

 

IMG_8707 (26)

“ฟ้ายิ่งมืด ดาวยิ่งพราวฟ้า”

หากถามคนรอบตัวว่า ใครชอบดูดาวยามรัตติกาลบ้าง

เชื่อว่าคงไม่มีใครปฎิเสธการดูแสงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า

ในความเป็นจริง ปัจจุบันผู้คนในเมืองแทบจะเห็นดาวน้อยมาก

ตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน  เมื่อหลอดไฟฟ้าดวงแรกได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น

ท้องฟ้าอันมืดสนิทในยามค่ำคืนค่อย ๆ เลือนหายไป จากแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน

ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามตึกระฟ้า หลอดไฟตามท้องถนน ที่สว่างฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

แสงสว่างกระทบชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้าเรืองแสงไปทั่วมากขึ้นเรื่อย ๆ

จนผู้คนห่างไกลจากความงดงามในยามค่ำคืนไปนานแล้ว

 

คืนหนึ่งในปี 1994 เมืองลอสแองเจลิส  เวลาประมาณตีสี

ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 6.7 แม็กนิจูด ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง

ไม่มีไฟตามท้องถนนหรืออาคารบ้านเรือนเป็นเวลานาน

พอหลายคนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกเขาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต

คือดาวระยิบระยับ และทางช้างเผือกพาดกลางท้องฟ้า มันงดงามมาก

แต่ทำให้บางคนตื่นตกใจ  ถึงกับโทรไปแจ้งความที่สายด่วน 911 ของตำรวจ บอกว่า

“มีเมฆสีเงินประหลาดขนาดยักษ์ ลอยเหนือท้องฟ้า มันน่ากลัวมาก”

 

ชาวเมืองลอสแองเจลิสจำนวนมากก็เช่นเดียวกับผู้คนจำนวนมากบนโลก

ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต และพากันตื่นเต้นที่เห็นท้องฟ้างดงามเพียงใดยามมืดมิด

มีการศึกษาพบว่า แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีพื้นที่กว้างใหญ่

แต่คนอเมริกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต

เพราะหากมองจากนอกโลกในยามค่ำคืน ประเทศนี้สว่างไสวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

และคนทั่วโลกราว 2,000 ล้านคน ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเช่นกัน

 

ปัญหาใหญ่เกิดจากแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า

 

การใช้แสงสว่างในยามค่ำคืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ทุกวันนี้เราใช้แสงสว่างยามค่ำคืนเกินความจำเป็น

จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า มลภาวะทางแสง อันหมายถึง แสงประดิษฐ์ที่เกิดจากการกระทำกิจวัตรของมนุษย์

ในเวลากลางคืน รวมถึงมลภาวะของแสงที่สว่างจ้าจนเกินความจำเป็น

 

มลภาวะทางแสงไม่ได้ทำให้เราไม่เห็นดาวหรือทางช้างเผือกเท่านั้น

แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแสงสว่างจากนอกบ้านในตอนกลางคืน

ที่รบกวนการหลับนอนของมนุษย์ ส่งผลต่อเมลาโทนิน

 

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง

ต่อมไพเนียลนี้จะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย ทำให้เรารู้สึกง่วง พักผ่อนนอนหลับได้ลึกและเต็มที่ เป็นประโยชน์กับร่างกายมหาศาล

ความมืดเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งของเมลาโทนินและหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง

ในช่วงเวลากลางวันต่อมไพเนียลไม่ได้ทำงานเนื่องจากมีแสงสว่าง

 

เมลาโทนิน ช่วยให้เราหลับสนิท สุขภาพที่ดี มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ

ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคลอเรสเตอรอล

และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น

 

แต่หากแสงรบกวนการนอน ทำให้เมลาโทนินหลั่งในร่างกายน้อยลง นอนไม่พอเพียง

จะทำให้นาฬิกาชีวภาพ หรือวงจรระบบการทำงานในร่างกายคนเรา

ที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ

หรือการหลั่งฮอร์โมน เกิดอาการเครื่องรวน

สิ่งที่ตามมาคือ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม

 

การเปิดแสงสว่างจ้ามากเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก

นกอพยพจำนวนมากที่เดินทางเวลากลางคืน โดยใช้แสงสว่างจากดวงดาวและดวงจันทร์

เป็นเครื่องมือชี้ทิศทาง ก็หลงทิศได้ง่าย ๆ  จากแสงสว่างของมนุษย์

ทุกปีในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนกจำนวนมาก หลงทิศ และบินชนกระจกตึกอาคารสูง

ที่เปิดไฟสว่างไสวยามค่ำคืน ตายปีละ 100-1,000 ล้านตัว

 

ในยามค่ำคืน ลูกเต่าทะเลจำนวนมากที่ฟักออกมา แทนที่จะคลานลงทะเล กลับหลงทิศ

เดินลึกเข้าไปบนฝั่ง ตามแสงสว่าง เพราะคิดว่าเป็นแสงเรือง ๆ จากท้องทะเล

 

หิ่งห้อยในหลายพื้นที่ ค่อย ๆ หายไป เพราะความสว่างจ้ามากเกินไป

ทำให้การผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยลดน้อยลง

ไม่นับรวมสัตว์หากินกลางคืน ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสง

 

แสงสว่างจากหลอดไฟยามค่ำคืน ทำให้พืชหลายชนิดหยุดเจริญเติบโต

แมลงกลางคืนหลายชนิดไม่ผสมเกสร ทำให้พืชหลายชนิดอาจค่อย ๆสูญหายไป

 

ผลการวิจัยในสหราชอาณาจักร เผยว่าต้นไม้ในบริเวณที่มีไฟส่องสว่าง

จะออกดอกเร็วกว่าปกติ 1 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับต้นไม้ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟ

ปัญหาจากมลภาวะทางแสง ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ในความเป็นจริง

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ กลับง่ายดายมาก และแทบจะไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรเลย

ปัญหามลภาวะแสง แก้ไขง่ายกว่าปัญหามลภาวะเรื่องอื่น

ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม เพียงแค่จัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ

 

เพราะกิจกรรมการใช้แสงสว่างยังดำเนินต่อไป

เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหลอดไฟและโคมไฟให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

คือการใช้โคมไฟที่บังคับให้แสงมีทิศทางตกลงบนพื้นดิน

ไม่ต้องฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างไม่จำเป็น แต่ความสว่างยังเหมือนเดิม

โดยเฉพาะไฟนอกอาคาร อาทิ ไฟฟ้าตามท้องถนน ที่มุ่งความปลอดภัยของผู้คนเป็นหลัก

และการปรับทิศของแสงให้ตกลงบนพื้น ก็ได้ความสว่างเท่าเดิม ไม่ต้องฟุ้งขึ้นสู้ท้องฟ้า

เพียงเท่านี้ ความงดงามของแสงดาวระยิบฟ้าก็กลับคืนมา

IMG_5607
บริเวณเชิงเขาแห่งหนี่งในประเทศจีน
IMG_5608
ก่อนและหลังการจัดการไฟฟ้า

นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเคยคำนวณว่า ถ้าเราเปิดหลอดไฟจำนวน 100 หลอดทิ้งไว้หนึ่งปี

คิดเป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหินครึ่งตัน

และบนโลกนี้ มีหลอดไฟหลายพันล้านดวงที่เปิดทิ้งไว้ทั้งคืนโดยไม่จำเป็น

นั่นคือพลังงานมหาศาลที่สูญเสียไป

 

ทุกวันนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการจัดการมลภาวะทางแสง อาทิในประเทศ สิงคโปร์

มีการจัดทำแผนแม่บทการใช้แสงสว่างตามพื้นที่ต่าง ๆ

มีการแบ่งโซนการใช้หลอดไฟและความเข้มของแสงตามความจำเป็น

เพื่อควบคุมมลภาวะทางแสง และการประหยัดพลังงาน

 

แผนแม่บทการใช้แสงสว่าง ฟังแล้วน่าทึ่ง

เพราะประเทศเราแทบจะมีทุกแผน ยกเว้นแผนแม่บทแบบนี้

 

ที่สำคัญคือ ได้เกิดแนวคิดในการรณรงค์ให้เกิดเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ( Dark Sky Reserve)

ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

อาทิ บางพื้นที่หลายแสนไร่บนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์

ได้รับการประกาศจากสมาคมพิทักษ์ความมืดแห่งท้องฟ้าสากล (International Dark-Sky Association)  ให้เป็น เมืองดาว หรือ “เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า”

และเป็นหนึ่งในสถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดในโลก เพราะยามค่ำคืนมีท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มี “มลภาวะทางแสง”

บริเวณแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ควบคุมแสงนอกอาคาร ไม่ให้ฟุ้งกระจายมาร่วมสี่สิบปีแล้ว

และผลของการควบคุมแสง นอกจากทำให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะทางแสงแล้วยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย

สมาคมแห่งนี้เชื่อว่า “ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดาวนั้นเป็นมรดกพื้นฐานของมนุษยชาติ

และการปกป้องท้องฟ้าที่มืดมิดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างความมั่นใจว่าคนในรุ่นปัจจุบัน

และรุ่นต่อไปนั้นจะมีโอกาสได้มองเห็นดวงดาว”

นักดูดาวจากทั่วโลกต่างพากันเดินทางมาดูดาวบนเกาะใต้แห่งนี้

จนกลายเป็นรายได้สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ไปโดยปริยาย

แต่เป็นที่น่ายินดี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เริ่มโครงการ

“ลดมลภาวะทางแสงในชุเขตมชนและอุทยานแห่งชาติ” เพื่อคาดหวังว่าในอนาคตจะเกิด

เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ( Dark Sky Reserve)

โดยมีโครงการนำร่องในหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  ในชุมชนอำเภอเชียงดาว ฯลฯ

 

หากแสงสว่างคือสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย ความเจริญของมนุษย์

การเห็นทางช้างเผือกและดาวระยิบระยับในรัตติกาล อาจเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่า

มนุษย์กำลังหันกลับไปหาธรรมชาติอีกครั้งหนี่ง

IMG_5605
ทางช้างเผือกเหนือดอยหลวงเชียงดาว ภาพ : Kata Oak Mahakayi

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s