ทำสวนกระจายความเสี่ยงกับรายได้หลายแสน

IMG_7408.1

ลึกเข้าไปในป่าพะโต๊ะ จังหวัดระนอง  ชาวบ้านคลองเรือ

ใช้ชีวิตกลางสวนนานาชนิดอยู่กันอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง

เชื่อไหม พื้นที่เกษตรเพียง 5 ไร่ อาจสร้างรายได้ 500 ,000บาท

บางปีเกษตรกรที่นี่เก็บมังคุดได้ 8,000กิโลกรัม ขายได้กิโลละ 100บาท ก็ปาเข้าไป 800,000 บาท

ไม่นับพืชชนิดอื่น

ด้วยรายได้เฉลี่ยครอบครัวปีละหลายแสนบาท บางปีอาจจะได้นับล้าน

จากการทำสวนมังคุด กาแฟ หมาก เพียงไม่กี่ไร่

อย่าเพิ่งตาลุกวาว  กว่าจะมาถึงจุดนี้พวกเขาลองผิดลองถูกมานานแล้ว

………………………

บ้านคลองเรือ ได้ชื่อจากลำคลองในหมู่บ้านที่มีลักษณะคล้ายลำเรือ

ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร

เป็นชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน

 

ในอดีตเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ป่าพะโต๊ะเป็นป่าดงดิบอันอุดมสมบูรณ์

มีผู้คนอาศัยเพียงสองครอบครัว

เพราะเดินทางลำบากมาก ไม่มีทางรถเข้า ต้องเดินเท้าอย่างเดียว

ชาวบ้านมีอาชีพปลูกข้าว ปลูกกาแฟและไม้ผลต่าง ๆ

 

จนกระทั่งช่วงปี 2528 กาแฟมีราคาดี จึงเริ่มมีผู้คนจากทั่วสารทิศ

เข้ามาบุกเบิกที่ดิน ทำให้มีการรุกป่าเพื่อเป็นที่ทำกิน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะการเดินทางเข้าป่าลำบาก

ป่าหลายร้อยไร่ถูกเปลี่ยนเป็นพืชสวนไร่นา

โดยไม่มีกฎกติกาหมู่บ้านทำให้เกิดการแผ้วถางและเผาป่าเพื่อเป็นที่ทำกิน

 

แต่ต่อมาในปีพ.ศ. 2536 ผู้มาใหม่ ยอมทำความตกลงร่วมกันกับทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้

คือหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ เพื่อรักษาป่าต้นน้ำ

เพราะหากไม่ทำอะไรเลย ป่าพะโต๊ะคงเหลือแต่ตำนาน ด้วยการจำกัดพื้นที่คือ

แต่ละครอบครัวสามารถมีพื้นที่เพาะปลูก 25ไร่ ห้ามขยายเด็ดขาด

มีสัญญาใจไม่ขายสิทธิทำกินให้คนนอกหมู่บ้าน

เกิดการทำงานร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยอนุรักษ์ฯ

 

ชาวบ้านหลายคนเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่บ้านเกิด พวกเขาเคยมีที่ดินนับร้อยไร่

เชื่อคำแนะนำของทางการที่สนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลายอย่าง อาทิ ข้าวโพด ปอ อ้อย

แต่สุดท้ายราคาตกต่ำ ต้องเป็นหนี้สินมากมาย

ขายที่ดินจนหมดและมาตายเอาดาบหน้าที่ป่าพะโต๊ะ

 

เมื่อมาบุกเบิกที่ทำกินแห่งใหม่ จากเหตุการณ์ในอดีต

ทำให้หลายคนมีบทเรียนที่จะไม่ยอมปลูกพืชเชิงเดี่ยวอีกต่อไป

และเริ่มคิดว่า ที่ดินครอบครัวละ 25 ไร่ พวกเขาจะจัดการอย่างไร

IMG_7423 (1).1

พวกเขาปลูกพืชหลายชนิดแบบผสมผสานในที่ดินเดียวกัน เพื่อกระจายความเสี่ยง

พวกเขาใช้การสังเกต เรียนรู้สภาพดิน

พากันไปศึกษางานตามที่ต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้

 

ในที่สุด พวกเขาได้เรียนรู้ว่า สภาพดิน อากาศของป่าพะโต๊ะ

เหมาะกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด

และทำเกษตร 4 ชั้น คือ

ปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวให้เป็น

เกษตรผสมผสานที่มีสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติดั้งเดิม

ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อป้องกันน้ำเสีย

สนับสนุนการทำปุ๋ยชีวภาพ

 

บนพื้นดินเดียวกัน พวกเขาปลูกต้นหมากจนขึ้นสูงอยู่ชั้นบนสุด

ชั้นรองลงมาปลูก มังคุด ทุเรียน กาแฟ

พืชเหล่านี้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้และทำเงินเป็นอย่างดีด้วย

 

กลยุทธ์ปลูกพืชแบบกระจายความเสี่ยง

พวกเขาสามารถขายผลิตผลได้หลากหลาย

“ความล่มจมของเกษตรกรบ้านเรา

เพราะทางการสนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนเป็นหนี้สิน”

ชาวบ้านคลองเรือ คนหนึ่งบอกกับผม

 

ปีใดหมากราคาตก พวกเขาก็ได้ราคากาแฟ มังคุด มาชดเชย

ปีไหนราคามังคุดราคาตก พวกเขาก็ได้ ราคาหมากมาชดเชย หมุนเวียนไป

ตอนนี้หมากคือผลผลิตหลักที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ

IMG_7412.1

ความต้องการหมากในท้องตลาดมีมากขึ้น

โดยเฉพาะการส่งออกไปต่างประเทศ

ทุกวันนี้หมากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสีทุกชนิด

เพราะหมากมีสารบางตัวทำให้สีติดทนนาน

 

จนไม่น่าเชื่อว่า ชาวไร่บางคนที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวนับร้อยไร่แต่ล่มจม

แต่มาปลูกพืชบนพื้นที่ ห้าไร่

สามารถขายพืชผลต่างๆได้ปีละ 500,000บาท

 

แน่นอนว่าชาวคลองเรือทุกคนไม่ได้มีรายได้มากขนาดนี้ทุกคน

เพราะหลายคนยังมีความเชื่อเดิม ๆ ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือปาล์ม

 

แต่พวกเขาส่วนใหญ่เริ่มพบว่า การมีที่ดินมากไม่ได้หมายความว่า

จะได้ผลิตผลมาก แต่การสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในที่ดินที่จำกัดจะได้ผลิตผลมากกว่า

โดยไม่จำเป็นต้องไปรุกพื้นที่ป่าอีกต่อไป

 

ขณะเดียวกัน เขาชัดเจนว่าต้องรักษาป่า

เพราะไม่มีป่า ไม่มีน้ำ มาทำการเกษตร

พวกเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พลิกฟื้นป่า 1,875ไร่ ให้กลับคืนความสมบูรณ์

และเพิ่มการดูแลพื้นที่ป่าสงวนกว่า 7,000 ไร่

 

ชาวบ้านรักษาป่า ป่าสร้างน้ำ น้ำสร้างพืชผล พืชผลทำให้ชาวบ้านมั่นคงและมั่งคั่ง

ที่สำคัญคือเขามีแผนยุทธศาสตร์ว่า

อนาคตของที่นี่คือ เกษตรเชิงนิเวศและท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

 

เป็นยุทธศาสตร์ชาวบ้านสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ล้วน ๆ

และทำได้จริง

ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี บนห้องประชุมที่มีแต่กระดาษ

image_6483441 (1).1

 

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s