ในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประเทศจีนได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขง
ได้เริ่มก่อให้เกิดปัญหาแม่น้ำโขงแล้งน้ำบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง
เพราะเขื่อนจีนได้กักเก็บน้ำ ไม่ได้ปล่อยลงมาด้านล่างตามธรรมชาติ
น้ำในแม่น้ำโขงแห้งผิดปกติ จึงมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนเป็นหลัก
แต่ในช่วงฤดูฝนของปีนี้ ได้เกิดปัญหาน้ำแล้งในแม่น้ำโขงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน
ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขงที่บ้านพันลำ อำเภอเมืองบึงกาฬ
ได้ออกมานั่งจับกลุ่มพูดคุยถึงสภาพน้ำในแม่น้ำโขงบอกว่าตั้งแต่เกิดมา 70 กว่าปี
ไม่เคยเห็นน้ำในแม่น้ำโขงลดลงในหน้าฝนแบบนี้เลย
จะมีก็เพียงในหน้าแล้งเท่านั้น
……………
ในปีพ.ศ. 2409 ฟรานซิส การ์นิเยร์ นายทหารนักสำรวจชาวฝรั่งเศสทีมที่เป็นคนฝรั่งเศสและคนพื้นเมือง
ได้ออกเดินทางจากเมืองไซง่อน เพื่อหาเส้นทางเดินเรือไปถึงจีน เพื่อการค้าและเอาชนะอังกฤษ
เจ้าอาณานิคมคู่แข่งสมัยนั้นในการทำแผนที่แม่น้ำโขง
ทีมสำรวจได้ล่องไปตามลำน้ำโขง ผ่านนครวัด เข้าสู่เกาะแก่งกลางลำน้ำอันแสนเชี่ยวกราก
สู่เวียงจันทร์ หลวงพระบาง เข้าเขตเมืองจีน ไปสิ้นสุดที่เมืองต้าลี่ เป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร
นับเป็นทีมสำรวจแม่น้ำโขงชาวยุโรปทีมแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
การ์นิเยร์ ได้เคยกล่าวว่า
“ไม่มีแม่น้ำใหญ่ขนาดนี้สายใดที่จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเท่าแม่น้ำโขงอีกแล้ว”
แม้ว่าทีมสำรวจจะไปไม่ถึงต้นน้ำแม่น้ำโขงบนเทือกเขาหิมาลัย
แต่สิ่งที่เขาพูดไว้เมื่อร้อยปีก่อน กำลังถูกท้าทายด้วยน้ำมือของมนุษย์ในปัจจุบัน
น้ำแข็งและหิมะที่ละลายกลายเป็นสายน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย บริเวณที่ราบสูงทิเบต
บนระดับความสูงชันร่วม 4,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล คือแม่น้ำโขงตอนบน
ผ่านประเทศจีน ไหลเป็นแนวดิ่งผ่านโตรกเขา ลดระดับอย่างรวดเร็ว
ก่อให้เกิดสายน้ำที่ไหลเร็ว เชี่ยวกราก ตัดผ่านร่องเขาสูงชันนับร้อยเมตร สลับซับซ้อนหลายแห่ง
เป็นระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร จนไหลมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ
แนวเขตประเทศไทย-ลาว-พม่าลดความรุนแรง เหลือระดับความสูงแค่ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ที่เรียกว่า แม่น้ำโขงตอนล่าง
ตลอดเส้นทางที่แม่น้ำโขงผ่าน จะมีสายน้ำหลายร้อยสายจากลุ่มน้ำสองฟากฝั่ง
ไหลมาเติมน้ำในแม่น้ำโขง อาทิ แม่น้ำมูล, แม่น้ำชี, แม่น้ำสงคราม, หนองหาน, ทะเลสาบเขมร ฯลฯ
หล่อเลี้ยงให้แม่น้ำโขงเป็นสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายร้อยล้านคน
จนออกปากแม่น้ำในเวียดนาม
แม่น้ำโขงจึงเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ปล่อยน้ำออกมาเฉลี่ยปีละ 475 ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร
มากเป็นอันดับ 8 ของโลก จากปริมาณน้ำมหาศาล
ด้วยลักษณะพิเศษของแม่น้ำสายนี้ คือมีปริมาณน้ำมาเติมจากสองแหล่งใหญ่ ๆ คือ
จากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยประมาณร้อยละ 20
และปริมาณน้ำอีกมหาศาลร้อยละ 80 มาจากลำน้ำนับร้อยสาขา
ตลอดสองฟากฝั่งที่ไหลผ่านไทย พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม
ในอดีตที่ผ่านมา ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศของสายน้ำต่าง ๆ
ที่ไหลลงแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมากมาย
มีการประเมินว่า แม่น้ำโขงที่มีความยาว 4,909 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับสิบของโลก
แต่มีพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ประมาณ 1,200-1,700 ชนิด
กลายเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากเป็นอันดับสองของโลก
แต่ละปีมีการจับปลาในแม่น้ำโขงมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นกว่าล้านบาท
และอาหารโปรตีนของคนลุ่มน้ำโขงหลายร้อยล้านคน มาจากปลาแม่น้ำโขง
ในอดีตวัฎจักรของระดับน้ำในแม่น้ำโขง จะมีระดับน้ำสูงในช่วงหน้าฝน จากปริมาณน้ำที่มากล้น
และลดต่ำลงในช่วงฤดูแล้ง เพราะน้ำจากแม่น้ำสองฟากฝั่งที่ไหลมาเติมลดน้อยลงตามธรรมชาติ
แต่หลังจากได้มีการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
สายน้ำของแม่น้ำโขงไม่ได้ไหลเป็นธรรมชาติอีกต่อไป
แต่ถูกควบคุมด้วยน้ำมือมนุษย์ผ่านการเปิดเปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ปี 2539
ตรงกับปีที่เขื่อนม่านวาน เขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกสร้างเสร็จ
ทุกปีในฤดูแล้ง แม่น้ำโขงตอนล่างจะลดระดับต่ำ สองฟากฝั่งเป็นหาดทรายยาว
บางแห่งระดับน้ำลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้น้ำด้านล่างมาตลอด
ทุกวันนี้จีนมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงมากถึง 28 เขื่อน และลาวอีก 11 เขื่อน
ที่ผ่านมา หน้าแล้งฝนไม่ตก และมนุษย์กักน้ำไว้ใช้เหนือเขื่อน
แม่น้ำโขงตอนล่างก็เหือดแห้งมาตลอด
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทผลิตไฟฟ้าของจีน
สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยมานับสิบปี
แต่รัฐบาลไทยไม่เคยแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อรัฐบาลจีน ออกลูกเกรงใจคนจีนมาตลอด
แต่ไม่เคยปกป้องความเดือนร้อนของคนไทยด้วยกันเลย
แต่ปีนี้ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ คือแม่น้ำโขงแห้งเหือดในช่วงหน้าฝน
นายไบรอัน ไอเลอร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัย Stimson Center สหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าจากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม
ภาพถ่ายแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ
พบว่าแห้งกว่าในช่วงที่แห้งที่สุดในรอบศตวรรษของแม่น้ำโขง เมื่อเดือนเมษายน 2016
จนกระทั่งเห็นเกาะและหาดทายโผล่มาในภาพถ่ายเดียวเทียมชัดเจน
“น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่ง
ทำให้ฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับการใช้งานเขื่อนในประเทศจีน
จนอาจทำให้เราเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ
การที่ระดับน้ำลดลงต่ำสุดในช่วงฤดูกาลนี้ซึ่งควรเป็นช่วงน้ำหลาก
จนส่งกระทบต่อความสามารถของปลาอพยพที่จะว่ายไปสู่แหล่งอาศัย
และวางไข่ตามตอนบนของแม่น้ำและลำน้ำสาขา”นายไบรอัน กล่าว
การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือปัญหาโลกร้อน ได้ทำให้ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา
ฝนทิ้งช่วงยาวนานในภูมิภาคแถบนี้ จนเกิดภาวะความแห้งแล้งไปทั่วลาว พม่า ภาคอีสาน
และภาคเหนือของไทย ปริมาณน้ำจากลำน้ำต่าง ๆ ที่เคยไหลลงแม่น้ำโขงก็ลดน้อยลง
นอกเหนือสาเหตุอื่นคือ เขื่อนหลายแห่งในประเทศจีนได้ลดการระบายน้ำในแม่น้ำโขงลงครึ่งหนึ่ง
เพื่อกักเก็บน้ำ
และสาเหตุล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ เขื่อนไซยะบุรี
เขื่อนสัญชาติไทยขนาดใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว ก่อสร้างได้เกือบครบสมบูรณ์
อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้า จากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง
ไปจนถึงระบบสายส่งไปยันถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ต้องลดการระบายน้ำ
ระดับน้ำแม่น้ำโขงจึงลดลงกะทันหัน สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับคนสองฟากฝั่ง
สมัยก่อนผู้คนแถวนี้ลำบากเฉพาะหน้าแล้ง จากระดับน้ำที่ลดลง
แต่มาบัดนี้ จากเขื่อนขนาดยักษ์สัญชาติไทยที่กำลังจะเปิดใช้งาน
อีกหลายเขื่อนที่กำลังก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงอีกหลายแห่ง
และปัญหาโลกร้อน ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกในช่วงฤดูฝน
ไม่มีใครทำนายได้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะแห้งไปตลอดหรือไม่
จะเรียกวิกฤติของแม่น้ำโขงขนาดนี้ว่าอะไรดี
ผีซ้ำด้ำพลอยแม่น้ำโขง ของแท้