บทเรียนจากการปฏิวัติอิหร่าน

เช้าวันที่ 3 ม.ค. 2562 โดรนของกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ลอบสังหารพลตรี สุเลมานี วัย 62 ปี

ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps) และเป็นผู้กุมอำนาจเบอร์สองของอิหร่าน ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่สนามบินในกรุงแบกแดด

การสังหารในครั้งนี้จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจกลายเป็นสงครามครั้งใหม่

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมปี 2562  สถานการณ์ในอ่าวเปอร์เซียเริ่มวิกฤติ

เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาได้เคลื่อนขบวนกองเรือรบมุ่งหน้ามาอ่าวเปอร์เซีย

ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านที่มีมานานได้เริ่มขึ้น

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นผมออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ

ด้วยสายการบินแห่งชาติของอิหร่าน Mahan Air มุ่งหน้าสู่กรุงเตหะราน

ท่ามกลางความห่วงใยของคนรอบข้างที่ไม่รู้ว่าทั้งสองประเทศจะเปิดศึกกันเมื่อใด

ผู้โดยสารเต็มลำ แต่เกือบทั้งหมดเป็นคนอิหร่าน แทบจะไม่มีคนไทยนอกจากกลุ่มของเราสิบกว่าคน

ยามปกติประเทศอิหร่านเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย

เพราะค่าครองชีพถูก อาหารอร่อย มีสถานที่เก่าแก่งดงามหลายแห่งระดับโลกที่ไม่ควรพลาด

แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยลดจำนวนลง

ตอนแรกผมคิดว่าสายการบิน Mahan Air คงบินแวะมารับผู้โดยสารจากเมืองไทย

แต่เป็นความรู้ใหม่ว่า สายการบินแห่งชาติอิหร่าน บินตรงจากประเทศไทยไปอิหร่าน

และในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่สายการบินนี้บินตรงจากกรุงเตหะราน

ผมทราบภายหลังจากเพื่อนชาวอิหร่านว่า

คนอิหร่านรู้จักและคุ้นเคยกับเมืองไทยดี เพราะความสัมพันธ์ในอดีตอันยาวนาน

สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสยาม คือ เชค อาหมัด กูมี หรือ เฉก อะหมัด

พ่อค้า นักบวชชาวอิหร่านซึ่งเดินทางมาค้าขายในสยามประเทศ ราวศตวรรษที่ 16

ต่อมาได้สร้างความดีความชอบมากมาย พระนารายณ์มหาราชจึงโปรดให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่

ระดับสมุหนายกอัครมหาเสนาบดีและเป็นต้นสกุลหลายนามสกุล รวมถึงตระกูลบุนนาค

ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจากอิหร่าน

แปดชั่วโมงต่อมา เรามาถึงสนามบินTehran Imam Khomeini

ตั้งชื่อตาม โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน

เจ้าหน้าที่ประจำสนามบินทำงานตามปรกติ ไม่มีทหาร ตำรวจ ยืนยามรักษาความปลอดภัยเข้มงวด

เดินออกผ่านสนามบินมาพบไกด์ชาวอิหร่านที่รอรับไปโรงแรม

อาณาจักรเปอร์เซียในอดีตเมื่อสองพันกว่าปีก่อน คือมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

ไม่ต่างจากกรีก โรมัน จีน หรืออินเดีย เพียงแต่ต่างยุคต่างสมัยกัน

มีกษัตริย์ผู้มีชื่อเสียง อาทิ พระเจ้าไซรัสมหาราช พระเจ้าดาไรอัสมหาราช

เคยรบชนะกรีก บุกไปตีกรุงเอเธนส์ แผ่ขยายอาณาจักรไปไกลแสนไกล

ตั้งแต่บางส่วนของคาบสมุทรบอลข่าน และยุโรปตะวันออกทางทิศตะวันตก

จรดลุ่มแม่น้ำสินธุทางทิศตะวันออก ทำให้เป็นจักรวรรดิใหญ่สุดในโลกในขณะนั้น

แต่ได้ล่มสลายลงจากชัยชนะของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชต่อกองทัพเปอร์เซีย

ประมาณ 330 ปีก่อน ค.ศ.

ต่อมาศาสนาอิสลามได้เข้ามาเผยแพร่และกลายเป็นศาสนาประจำชาติ

อาณาจักรแห่งนี้มีทั้งยุครุ่งเรืองและเสื่อมโทรม

โดยเฉพาะในช่วงหลังเมื่อมหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา

หนุ่มสาวชาวอิหร่าน

หลายวันถัดมา หลังจากคุ้นเคยกับไกด์ชาวอิหร่านผู้นี้ คำถามแรกที่เราถามเพื่อนคนนี้คือ

“ทำไมสหรัฐอเมริกากับอิหร่านเป็นศัตรูกันมาช้านาน”

เขาบอกว่า ความขัดแย้งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น

แต่มันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานย้อนกลับไปนับร้อยปี

ในสมัยล่าอาณานิคมของประเทศชาติตะวันตก

แม้อิหร่านจะไม่ได้ถูกยึดครองโดยตรงจากชาติมหาอำนาจ

แต่อังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน และสหรัฐอเมริกาได้แผ่อิทธิพล

และเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของอิหร่านที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์

รวมทั้งต้องยอมเสียดินแดนบางส่วน

แทบจะไม่แตกต่างจากสยามประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5

เมื่อมีการค้นพบน้ำมันในอิหร่านในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ประเทศอังกฤษผูกขาดผลประโยชน์น้ำมัน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมาก

จนเกิดกระแสต่อต้านที่กว้างขวางของประชาชนชาวเปอร์เซีย

เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของประเทศ

จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921

นายพล เรซา ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซคได้นำกองทัพบุกเข้าเมืองหลวงทำการรัฐประหาร

และต่อมาได้สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ เรซา ชาห์ ปาห์เลวี

ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี ในปี ค.ศ.1925

พระองค์ประกาศจะพลิกอิหร่านให้กลับมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง

และเชิดชูผู้นำชาตินิยมแบบฮิตเลอร์แห่งเยอรมนี และอตาเติร์กแห่งตุรกี

พอสงครามโลกครั้งที่ 2 ประทุขึ้น ประเทศอิหร่านอยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมนี

ต่อมากองทัพพันธมิตรจึงได้ตัดสินใจบุกอิหร่าน

กองทัพอังกฤษยึดภาคใต้ ขณะที่กองทัพรัสเซียยึดภาคเหนือ

ประเทศอิหร่านถูกปกครองโดยกองทัพสัมพันธมิตร กษัตริย์เรซาจึงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติ

พระโอรสองค์ใหญ่คือ โมฮัมหมัด เรซา ข่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

หลังจากนั้นชนชั้นนำได้นำประเทศอิหร่านให้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประเทศตะวันตก

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวในความเป็นชาตินิยมจึงไม่เห็นด้วยกับผู้นำในเวลานั้น

อาคารบ้านเรือนในกรุงเตหะราน

ในปี ค.ศ. 1951 ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เขาใช้มาตรการตอบโต้การยึดครองของต่างชาติอย่างรุนแรง

ด้วยการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ของอังกฤษมาเป็นของชาติ

รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ

เศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วนและเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว จากการบอยคอตของชาติตะวันตก

และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น

สุดท้ายได้เกิดการรัฐประหาร มูซัดเดกและคณะรัฐบาลถูกจับกุม

พระเจ้าชาห์โมฮัมหมัดเรซา ได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมือง

และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่งตั้งรัฐบาลใหม่ มีนโยบายเอาใจตะวันตก มีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

และปกครองประเทศท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน

เพื่อนอิหร่านเล่าให้เราฟังว่า

“มูซัดเดกเป็นนายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้า

เขาเสนอให้ทางบริษัทน้ำมันของอังกฤษที่สร้างโรงกลั่นน้ำมันใหญ่สุดในโลก

แบ่งผลประโยชน์ให้อิหร่านด้วย แต่ทางอังกฤษไม่ยอม

มูซัดเดกจึงยึดโรงกลั่นน้ำมันต่างชาติหมด มหาอำนาจตะวันตกไม่ยอม ใช้ทหารล้มรัฐบาล

และกษัตริย์ชาห์ไปเข้าข้างมหาอำนาจ

อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เกิดปฏิวัติอิสลามในเวลาต่อมา”

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 รัฐบาลได้ทำการจับกุมอยาตุลเลาะห์ โคมัยนี ผู้นำศาสนาอิสลาม

ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษาและประชาชนขณะปราศรัยโจมตีรัฐบาล

สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมากจึงพากันออกมาเดินขบวน

เรียกร้องให้ปล่อย โคมัยนี เหตุการณ์ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด

รัฐบาลกษัตริย์ชาห์ แก้ปัญหาด้วยการเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศเป็นเวลาถึง 13 ปี

เพื่อหวังว่าประชาชนจะลืมผู้นำทางจิตวิญญาณท่านนี้

แต่ความไม่พอใจของประชาชนยังไม่จบสิ้น ขณะที่คนในราชวงศ์ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย

แต่ผู้คนอดอยาก เศรษฐกิจตกต่ำ

และในปี ค.ศ. 1978 ได้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง มีคนเสียชีวิตสามร้อยกว่าคน

จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง ตำรวจไม่สามารถหาคนผิดได้

ประชาชนจึงออกมาเดินประท้วงตามท้องถนนอีกครั้ง มีข้อความประท้วงชาห์

เผาธงชาติสหรัฐอเมริกา ผู้อยู่เบื้องหลังการปกครองของชาห์

ขณะเดียวกัน โคมัยนีก็ใช้สื่อเป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยการพูดอัดลงเทปคาสเซ็ทและนำออกมาเผยแพร่ให้คนอิหร่านฟัง

กระตุ้นให้เกิดการนัดหยุดงานหลายแสนคนและเดินขบวนกันทั้งประเทศหลายครั้ง

เพื่อโค่นล่มกษัตริย์ชาห์ เรียกร้องให้มีรัฐอิสลาม มีการปะทะ เผาบ้านเรือนของชาวอเมริกัน

คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ประเทศกลายเป็นอัมพาต

จนในที่สุดเมื่อสถานการณ์คุมไม่ได้

สหรัฐที่สนับสนุนกษัตริย์มาหลายสิบปีได้แนะนำให้เสด็จออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979

เป็นการสิ้นสุดยุคสมัยการปกครองแบบกษัตริย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 2,500 ปีของอิหร่าน

1 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน โคมัยนี ได้เดินทางจากกรุงปารีสกลับประเทศ

กองทัพยอมวางตัวเป็นกลาง ฝ่ายโคมัยนีจึงเข้ายึดที่ทำการรัฐบาล

ประกาศชัยชนะและนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองแบบรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณ

มีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด

ประเทศอิหร่านกลายเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ผู้นำทางศาสนามีสิทธิในการกลั่นกรองกฎหมายทุกอย่าง มีนโยบายขจัดอิทธิพลชาติตะวันตก

“ตอนนั้นต้องยอมรับว่า คนอิหร่านจำนวนมากที่ออกมาประท้วงไล่กษัตริย์ชาห์

ก็ยังงงๆ ไม่รู้ว่า อนาคตประเทศจะเดินไปทางใด

แนวคิดเรื่องรัฐอิสลามของท่านผู้นำโคมัยนี จึงเป็นทางออกอันเดียวในเวลานั้น

แม้รู้ว่าเสรีภาพจะลดน้อยลง แต่ก็เป็นรองจากปัญหาหลักคือเศรษฐกิจตกต่ำ

ซึ่งเชื่อว่ารัฐอิสลามจะเข้ามาแก้ไขได้”

เพื่อนชาวอิหร่านผู้ไม่ประสงค์ออกนามเล่าความเห็น

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริการุนแรงขึ้นถึงขีดสุด

เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้บุกสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน และจับชาวอเมริกัน 52 คน

เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน

รัฐบาลสหรัฐตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน

และความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง 2 ชาติ ยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่คนอิหร่านเกลียดชังสหรัฐอเมริกา

คือ ในปี ค.ศ. 1980 เมื่อ ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักได้สั่งบุกอิหร่าน

หลังจากมีปัญหากระทบกระทั่งกันตามชายแดน จนสงครามอิรัก-อิหร่าน ดำเนินมาถึง 8 ปี

มีคนล้มตายหนึ่งล้านคน สร้างความเสียหายกว่า 30 ล้านล้านบาท

สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็เจรจายุติสงครามกัน ไม่มีใครแพ้ชนะ

“คนอิหร่านเชื่อว่า สหรัฐอยู่เบื้องหลังสงคราม สั่งให้อิรักบุกเรา

เพื่อต้องการทำลายการปฏิวัติอิสลาม โค่นล้มท่านผู้นำ

สงครามครั้งนั้น ชาวอิหร่านตายเยอะมาก ”

หลายวันต่อมาที่เราเดินทางไปหลายพื้นที่ในประเทศอิหร่าน

เราสังเกตเห็นรูปภาพเด็กหนุ่มจำนวนมากตามกำแพง สวนสาธารณะ ริมถนน

คนเหล่านี้คือชายหนุ่มที่ถูกเกณฑ์ไปสู้กับทหารอิรัก

กล่าวกันว่าแทบทุกบ้านในเวลานั้นจะต้องมีเด็กหนุ่มเสียสละชีวิตถูกฆ่าตายในสงครามครั้งนั้น

เหตุการณ์ผ่านไปร่วม 40 ปี ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านยังดำรงอยู่ตลอดเวลา

แต่การทำสงครามกับอิหร่านไม่ง่ายเหมือนการที่สหรัฐบุกอิรักโค่นซัดดัม ฮุสเซน

อิหร่านมีทรัพยากรมหาศาล รวมถึงแร่ยูเรเนียม

มีอาวุธป้องกันตัวที่มีประสิทธิภาพ  เป็นพันธมิตรสำคัญกับรัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนีและจีน

“ความขัดแย้งครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

คนอิหร่านเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกนิยมกษัตริย์ชาห์ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง

มีบทบาทสำคัญในคณะที่ปรึกษาของทรัมป์” เพื่อนชาวอิหร่านกล่าวต่อ

“แต่ผมไม่เชื่อว่าสหรัฐจะกล้าทำสงครามกับอิหร่านอย่างเต็มตัว

เพราะทรัมป์เป็นพ่อค้า ไม่ใช่ทหาร สิ่งที่เขาอยากได้คือ

การหาเงินด้วยการขายอาวุธสงครามให้กับประเทศอาหรับ อย่างซาอุดิอาระเบียที่เป็นศัตรูกับเรา”

สิบกว่าวันในประเทศนี้มีแต่ความสงบ คนอิหร่านที่เราพบเห็นอาจจะเชื่อเช่นนี้จึงดำเนินชีวิตปกติ

ไม่มีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ หรือเตรียมความพร้อมอะไร ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ดูกันต่อไปว่า ความเชื่อของคนอิหร่านจะเป็นจริงหรือไม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s