
“ถ้าวันนี้ฉันตาย เลือดทุกหยดของฉันจะหล่อเลี้ยงประเทศชาติ”
อินทิรา คานธี (๒๔๖๐-๒๕๒๗)
เชื่อได้ว่า ทุกคนที่เดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์อินทิรา คานธี คงสะดุดกับคำพูดซึ่งปรากฏบนกำแพงในอาคารสีขาวที่เคยเป็นบ้านพักของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศอินเดียในกรุงนิวเดลี และเป็นสถานที่ซึ่งเธอถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ ต่อมาทางการได้บูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดให้ผู้คนเข้าไปศึกษาเรื่องราวของนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่
เมื่อผมเดินเข้าไปภายใน ห้องแรกที่เห็นผ่านกระจก คือห้องทำงานของท่านที่ยังคงรักษาเครื่องใช้ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ดูมีรสนิยมในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากโต๊ะทำงานและเก้าอี้รับแขกศิลปะยุคอาร์ตเดโคแล้ว ยังเต็มไปด้วยหนังสือจำนวนมาก และแขวนภาพถ่ายของท่านในอิริยาบถต่างๆ อาทิภาพถ่ายกับคุณพ่อ ยะวาฮาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
นางอินทิรา คานธี เกิดในตระกูลเนห์รูซึ่งเป็นชนชั้นขุนนางเก่าแก่มาตั้งแต่ราชวงศ์โมกุลของอินเดีย ครอบครัวมีการศึกษา มีฐานะร่ำรวย นางจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สนใจการเมืองมาตั้งแต่เป็นเด็ก ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวประท้วงต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นางได้สมรสกับนายเฟโรซ คานธี ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวดองกับมหาตมะคานธี และเมื่อคุณพ่อได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ลูกสาวคนนี้ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว ก่อนจะเข้าสู่สนามการเมือง ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาของพรรคคองเกรส
ผมเดินผ่านไปยังห้องอาหาร ห้องรับแขก เห็นภาพนางกับผู้นำประเทศต่างๆ ที่มาเยือน และที่สะดุดตาคือภาพถ่ายในวันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๐๙ นางอินทิราเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๓ ของอินเดีย และเป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของอินเดียด้วย
แม้นักการเมืองผู้ชายในพรรคคองเกรสจะมองว่านางเป็นนักการเมืองไร้เดียงสา คิดใช้นางเป็นหุ่นเชิดสักประเดี๋ยว ทั้งตั้งฉายานางว่า “กูกี กูดิยา”หรือ “ตุ๊กตาหน้าโง่”แต่ภายในเวลาไม่กี่ปี อินทิราก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของประเทศค่ายประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศนี้ถึง ๔ สมัย
ในปี ๒๕๑๔ หญิงเหล็กแห่งอินเดียผู้นี้ก็ทำให้โลกสะเทือนด้วยการทำสงครามกับปากีสถานเพื่อช่วยปากีสถานตะวันออกที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช จนในที่สุดก็ประสบชัยชนะ ปากีสถานตะวันออกเปลี่ยนเป็นประเทศบังกลาเทศ ต่อมานางอินทิรายังกล้าท้าทายมหาอำนาจอันดับ ๑ ของโลก ด้วยการหันเหนโยบายต่างประเทศไปคบกับสหภาพโซเวียต เพื่อคานอำนาจกับปากีสถานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ปี ๒๕๑๗ อินเดียก็สั่นสะเทือนโลกอีกครั้ง เมื่อนางอินทิราประกาศว่าอินเดียประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกใกล้พรมแดนกับปากีสถาน ภายใต้รหัสลับว่า “พระพุทธเจ้าแย้มพระโอษฐ์”
การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบดุดันทำให้ทั่วโลกต้องจับตามองบทบาทของหญิงเหล็กผู้นี้ แต่ภายในประเทศเอง นางอินทิราหว่านโปรยนโยบายประชานิยมด้วยโครงการสังคมสงเคราะห์ที่เรียกว่า “ขจัดความยากจน”จนได้รับความนิยมจากคนอินเดียจำนวนมาก ส่งผลให้นางได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง ๑๖ ปี
ในด้านเศรษฐกิจ นางริเริ่มการปฏิวัติเขียว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่อินเดีย ด้วยการปรับปรุงคุณภาพพันธุ์พืช และเปลี่ยนอินเดียให้เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจากที่เคยเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือด้านอาหาร รวมทั้งเพิ่มการผลิตน้ำนมให้มีปริมาณเพียงพอแก่การบริโภคของชาวอินเดีย จนเรียกว่าการปฏิวัติสีขาว
แต่อีกด้านหนึ่ง นางอินทิราได้นำยุคมืดของประชาธิปไตยมาสู่ผู้รักเสรีภาพ ในสมัยของนาง นักการเมืองฝ่ายค้านถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยม ผู้ประท้วงถูกจับกุมอย่างไร้เหตุผล ปัญหาชนกลุ่มน้อยถูกจัดการด้วยความรุนแรง และสื่อหนังสือพิมพ์ที่เคยมีเสรีภาพเต็มที่ก็ถูกเซนเซอร์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า นางอินทิรารู้จักความสำคัญของอำนาจ และรู้จักการใช้อำนาจมากกว่านักการเมืองคนอื่นๆ
ความเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาดของนางอินทิราขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน ๒๕๒๗ เมื่อกลุ่มชาวซิกข์ในรัฐปัญจาบเรียกร้องเอกราชเพื่อจัดตั้งรัฐซิกข์ขึ้นทางตอนเหนือของอินเดีย นางอินทิราใช้มาตรการรุนแรงด้วยการส่งกองทัพอินเดียเข้าปราบปรามชาวซิกข์ที่ยึดวิหารทองคำในเมืองอมฤตสาร์เป็นฐานที่มั่น ส่งผลให้ชาวซิกข์ถูกฆ่าตายจำนวนมาก และวิหารทองคำอันเปรียบเสมือนเมกกะของชาวซิกข์เสียหายหนัก สร้างความโกรธแค้นในใจชาวซิกข์อย่างเงียบๆ
ผมสังเกตเห็นส่าหรีภายในห้องหนึ่งยังมีรอยเปื้อนเลือด อ่านคำบรรยายได้ความว่าเป็นชุดที่นางอินทิราใส่เป็นวันสุดท้าย และตรงทางเดินก่อนจะออกพ้นประตูใหญ่ ปิดทับไว้ด้วยกระจกกับข้อความว่า ณ ตรงนี้ นางอินทิรา คานธี ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ ๒ คนลอบสังหาร เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗

นางอินทิรา คานธี ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ ๒ คนลอบสังหารบริเวณทางเดินหน้าบ้านพัก ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๗

เศษเสื้อผ้าของ ราจีฟ คานธี เมื่อถูกระเิบิดพลีชีพ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔

ราจีฟ คานธี
วันนั้นนางถูกกระสุนปืนถึง ๓๐ กว่านัด และเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล อันเป็นผลจากความต้องการแก้แค้นที่นางสั่งให้กองทัพอินเดียบุกวิหารทองคำ แต่เมื่อคนอินเดียทราบว่านายกรัฐมนตรีหญิงได้จากไป การจลาจลก็เกิดขึ้น มีการไล่เข่นฆ่าชาวซิกข์ตายไปมากกว่า ๔,๐๐๐ คน
ผมเดินต่อไปอีกห้องหนึ่ง เรียกว่าห้องราจีฟ คานธี นักการเมืองหนุ่ม ลูกชายคนโตของนางอินทิรา คานธี อดีตนักบินสายการบินแอร์อินเดีย ผู้ไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมือง จนกระทั่งเมื่อนายสัญชัย น้องชายผู้เป็นทายาททางการเมืองของนางอินทิราประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตก ทำให้เขาต้องมารับตำแหน่งทายาททางการเมืองแทน และเมื่อนางอินทิราถูกลอบสังหารอย่างไม่มีใครคาดฝัน ราจีฟ คานธี ก็ได้รับเลือกจากพรรคคองเกรสให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีแทนแม่ ด้วยวัยเพียง ๔๐ ปี
ภายในห้องนี้จัดแสดงภาพนายกรัฐมนตรีหนุ่มที่สุดขณะออกพบปะประชาชน และภาพถ่ายส่วนตัวของเขาซึ่งนับว่าเป็นผู้มีฝีมือในการถ่ายภาพมาก ตลอดสมัยของราจีฟ ผลงานอาจจะไม่ได้โดดเด่น แต่ด้วยฐานะลูกชายของนางอินทิรา และนโยบายประชานิยมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ แต่เมื่อเขาคิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ความตายก็มาถึงตัวเขาทันที
ในห้องนั้นมีตู้กระจกหนึ่งใบ ภายในแสดงภาพเศษเสื้อผ้า รองเท้าอันขาดวิ่น และคำบรรยายบอกว่า เสื้อผ้าและรองเท้าที่ราจีฟ คานธี ใส่ในวันสุดท้าย อันเป็นผลจากการลอบวางระเบิด
๒๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔ เมื่อ ราจีฟ คานธี มาหาเสียงที่รัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย หญิงสาวชาวทมิฬได้ผูกระเบิดพลีชีพเข้าไปใกล้ตัวเขา และกดระเบิดทันที เป็นการแก้แค้นแทนชาวทมิฬในประเทศศรีลังกาที่ครั้งหนึ่งราจีฟเคยส่งทหารอินเดียเข้าไปเปิดศึกกับชาวทมิฬ เพื่อหวังยุติสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ
ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์อินทิรา คานธี มีผู้เข้าชมวันละร่วมหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียที่ยังให้ความเคารพนางอินทิรา คานธี ในฐานะหญิงเหล็ก นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก จนสามารถนำอินเดียให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจได้สำเร็จ
ศึกษาตระกูลของนักการเมืองใหญ่ๆ ของโลกค่ายประชาธิปไตย แล้วจะรู้ว่าจุดจบไม่ค่อยต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นตระกูลเคนเนดี หรือตระกูลคานธี