Unseen Assumption

              อัสสัมชัญได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1885  โดยบาทหลวงกอลมเบต์ชาวฝรั่งเศส โดยตั้งชื่อว่า College de L’ Assomption ด้วยจำนวนนักเรียน 33 คนมาจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนสำเร็จการศึกษามาห้าหมื่นกว่าคน จากเลขประจำตัวนักเรียนล่าสุด 58484

              บาทหลวงกอลมเบต์ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแผ่นดินแม่ มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ บริเวณที่เรียกว่า บางรัก อันมีชุมชนชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกตั้งถิ่นอาศัยมาช้านาน และมีโบสถ์อัสสัมชัญเป็นศูนย์กลางในสมัยนั้น และต่อมาได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนอบรมสั่งสอนให้กับนักเรียนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ฐานันดร ศาสนา รวมถึงเด็กกำพร้าที่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1885 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาโรงเรียนอัสสัมชัญ

              จากนักเรียนที่มาเรียนไม่กี่สิบคน เพียงไม่นานมีเด็กมาเรียนมากขึ้นตามลำดับ จากชื่อเสียงของโรงเรียนที่ผลิตเด็กนักเรียนมีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมและความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสจากครูต่างชาติ ในขณะเดียวกันทางโรงเรียนก็ขาดแคลนทุนทรัพย์และครูสอน บาทหลวงกอลมเบต์จึงเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด และติดต่อคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ให้มาสืบทอดกิจการของโรงเรียนต่อไป และทางคณะเซนต์คาเบรียลได้ส่งภราดาชุดแรกห้าท่านลงเรือมากรุงเทพฯเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 เพื่อมาดูแลการบริหารโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป และหนึ่งในนั้นคือ ฟ.ฮีแลร์  ภราดาผู้เป็นเสาหลักและสร้างความเจริญรุ่งโรจน์ให้แก่โรงเรียนมาตลอดระยะเวลาหกสิบกว่าปีที่ท่านอยู่ที่โรงเรียนตราบจนวาระสุดท้าย และเป็นผู้แต่งหนังสือ “ดรุณศึกษา” ตำราเรียนชั้นประถมศึกษา แบบเรียนภาษาไทยเก่าแก่ชื่อดังที่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน

              ต่อมาคณะเซนต์คาเบรียลที่บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้เล็งเห็นว่า โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก คงไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ปกครองที่อยากส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ จึงได้ขยายโรงเรียนในเครือออกไปอีกนับสิบแห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา  โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ

ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปี โรงเรียนอัสสัมชัญได้อบรมนักเรียนจนสำเร็จการศึกษาหลายหมื่นคน และหลายคนทำชื่อเสียงให้แก่สังคม อาทิ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร , พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายควง อภัยวงศ์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก ,พระยาอนุมานราชธน บุคคลสำคัญของโลก โดย UNESCO , นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย,  เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  อาทิ พระไพศาล วิสาโล  นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายวัลลภ เจียรวนนท์  นายชาติศิริ โสภณพานิช  นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายปิยบุตร แสงกนกกุล ฯลฯ

              เมื่อเร็ว ๆนี้ทางสมาคมอัสสัมชัญได้ผลิตหนังสือสมุดภาพเล่มใหญ่ชื่อ “Unseen Assumption บันทึกไว้ในแผ่นดิน” ในวาระครบรอบ 135 ปีแห่งการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ภายในหนังสือเล่มนี้มีภาพเก่าหายากอายุนับร้อยปี ทางทีมกองบรรณาธิการได้สืบหาข้อมูลจากหลายแหล่ง และไม่เคยเปิดเผยมาก่อน และทางผู้เขียนได้ขออนุญาตทางสมาคม เพื่อคัดภาพบางส่วนมาตีพิมพ์เผยแพร่

              ภาพเหล่านี้สามารถสะท้อนเรื่องราวของสังคม และชวนให้รำลึกอดีตของสยามนับร้อยปีก่อนว่า มีสภาพเป็นอย่างไร

(หมายเหตุ  สนใจหนังสือที่ระลึก Unseen Assumption ติดต่อสมาคมอัสสัมชัญ (คุณแมว) 086 990 1488)

ภาพที่ 1-2 ภาพถ่ายนักเรียนอัสสัมชัญทางเข้าหน้าประตูใหญ่ ประมาณค.ศ.1900

ภาพที่ 3  นักเรียนทั้งโรงเรียนถ่ายภาพร่วมกับพระสังฆราชแปร์รอส บาทหลวงกอลมเบต์

ภราดามาร์ติน เดอตูรส์ ภราดาฟ.ฮีแลร์  ภราดาไมเกิล  ณ ลานด้านหน้าตึกเก่า ราวค.ศ. 1901-1914

ภาพที่ 4 ผู้แทนสันตะปาปาจากวาติกัน มาเยี่ยมโรงเรียนในปีค.ศ. 1938

ภาพที่ 5  รูปหมู่นักเรียนอัสสัมชัญค.ศ. 1888 หลังจากเปิดการสอนได้สามปี ถ่ายพร้อมกับม.ปาวี

กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤติการณ์ ร.ศ.112

ภาพที่ 6 ภาพถ่ายภราดา ครู และนักเรียนชั้นมูล ราวค.ศ.1912 สังเกตเห็นมีทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติมาเรียนรวมกัน

ภาพที่ 7 ภาพถ่ายนักเรียนในปีค.ศ. 1917

พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) เยี่ยมโรงเรียนอัสสัมชัญ

ภาพที่ 8  นักเรียนอัสสัมชัญที่ท้องสนามหลวง ในงานฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่สอง ในปีค.ศ. 1911 สังเกตธงช้าง ธงชาติในสมัยนั้น และป้าย Christian High School

ภาพที่ 9-10   บาทหลวงเอมิล ออกุสต์ กอลมเบต์ (1849-1933) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

และสมุดบันทึกของท่าน

ภาพที่ 11 สมณทูตเล กรอ อาร์ต (คนกลาง) มาเยี่ยมโรงเรียนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1923 ท่านได้อบรมนักเรียนที่มีจำนวนประมาณ 1,600 คน

ภาพที่ 12 ทีมฟุตบอลสมาคมอัสสัมชัญ ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชิงเครื่องบินจำลองของกรมอากาศยาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1935 ได้รับรางวัลเครื่องบินจำลองรุ่น นิเออปอร์ต

ภาพที่ 13  วงเครื่องเป่า AC Band  เป็นวงดุริยางค์เก่าแก่ที่สุดวงหนึ่งของประเทศ ภาพถ่ายก่อนปีค.ศ. 1913

ปกหนังสือ Unseen Assumption

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s