ขุดสระบนดอยสู้ไฟป่า

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

พอย่างเข้าหน้าแล้งของทุกปี ไฟป่าและหมอกควันพิษทำให้ผู้คนทางภาคเหนือต้องทนทุกข์ทรมาน เสี่ยงอันตรายจากการสูดอากาศที่เต็มไปด้วย pm2.5

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับ มีชาวบ้านจำนวนมากอาสาเดินขึ้นเขาบุกเข้าไปดับไฟป่าเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว 

หนึ่งในผู้คนเหล่านี้คือ เยาวชนแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋ หมู่บ้านปกาเกอะญอเก่าแก่แห่งอำเภอบ้านโฮ่ง ก่อตั้งมาร่วมสองร้อยปี ที่รวมกลุ่มกันขึ้นไปดับไฟป่าบนเขา ด้วยวิธีคิดและนวัตกรรมการดับไฟแบบใหม่ที่น่าสนใจ

หลายเดือนก่อนผู้เขียนมีโอกาสเดินทางขึ้นไปศึกษาวิธีการจัดการไฟป่าบนดอยช้าง ในจังหวัดลำพูนกับน้อง ๆเยาวชนเหล่านี้ จากบ้านดอยช้างป่าแป๋ หนทางขึ้นบนยอดดอยระดับความสูง 1,400 เมตร ไม่มีถนน นอกจากเส้นทางเดินเล็กๆในป่า เยาวชนเหล่านี้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะพาเราค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป สลับกับการเดินเท้าขึ้นไปเรื่อย ๆ 

ไม่นานนักกลางป่าลึกบนดอย มีถังน้ำขนาด 200 ลิตรจัดวางเรียงรายหลายสิบถัง แต่ละถังมีท่อประปาเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระเบียบ

นายบัญชา มุแฮ หรือ ดิปุ๊นุ แกนนำเยาวชนในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่า

ทุกปีนั้นสถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การดับไฟลำบาก ดับเปลวไฟหมดแล้ว แต่เชื้อไฟที่ไหม้ติดขอนไม้ ตอไม้ ท่อนซุง ลุกโชนขึ้นมาอีก จึงต้องใช้น้ำเท่านั้นที่จะช่วยการดับไฟป่าดับได้อย่างสนิท เหตุผลอีกประการหนึ่งคือแนวกันไฟชุมชนนั้น เป็นสันดอยสูงชันอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ จึงมีแนวคิดการนำถังเหล็ก 200 ลิตร ไปติดตั้ง 

“เรานำถังน้ำไปวางตามจุดต่างๆ บนสันดอย หรือหุบดอยที่มีร่องน้ำฝน โดยใช้ผ้ายาง หรือไม้ไผ่ เพื่อรองน้ำฝนเก็บไว้ดับไฟป่าในช่วงฤดูหน้าแล้ง หลังจากที่ชุมชนได้ดำเนินการติดตั้งถังน้ำ ผลลัพธ์ที่ได้คือ สามารถควบคุมไฟป่าได้ทันท่วงที ประหยัดเวลา ผ่อนแรงได้มากกว่า”

การกำหนดจุดวางถังน้ำแนวกันไฟนั้น บริเวณที่มีไฟขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหน้าผาที่เป็นจุดเสี่ยงอันตรายเชื้อไฟแรง บริเวณเหล่านี้คือจะเป็นจุดที่วางถัง จำนวนถังที่วางในแต่ละจุดขึ้นอยู่กับความแรงของไฟป่าจะมีจำนวนตั้งแต่ 2 ใบจนถึง 12 ใบ แต่ละจุดจะห่างกันประมาณ 200 เมตรจนถึง 1,000 เมตร ทั้งหมด 140 ถัง 20 จุด

ที่ผ่านมาเวลาเกิดไฟปา พวกเขาต้องบรรทุกถังน้ำขึ้นเขาด้วยความยากลำบาก แต่ตอนนี้พวกเขาเก็บน้ำไว้ดับไฟป่าบนเขาแต่เนิ่น ๆเลย 

น้ำที่พวกเขาเก็บกักในถังน้ำ ก็ได้น้ำมาจากตาน้ำบนป่าต้นน้ำที่มีน้ำซับไหลออกมาตลอดปี และแน่นอนว่า หากพวกเขาไม่ช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำแล้ว จะไม่มีน้ำในการดับไฟป่า ตลอดจนถึงน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนด้านล่างด้วย

ชุมชนปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ มีวิธีการจัดการไฟป่ามานานแล้ว เรียกว่า “วะ-เหม่-โต” เป็นภูมิปัญญาการทำแนวกันไฟรอบไร่หมุนเวียนตั้งแต่สมัยบรรพชน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้น จะมีพิธีกรรมความเชื่อตามชนเผ่า เพื่อเคารพถึงธรรมชาติสิ่งสูงสุด เจ้าของไร่และเพื่อนบ้านจะช่วยกันเฝ้าระวังไฟไม่ให้ลุกลามออกนอกเขตแนวกันไฟ จนกว่าไฟในไร่หมุนเวียนจะดับสนิท 

แต่หลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดไฟป่าจากรอบนอกลุกลามเข้ามาในเขตหมู่บ้านที่เป็นไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน  ทำให้ไร่ของชาวบ้านไหม้ และสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่บริเวณสวนนาของชาวบ้าน และพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

ชาวบ้านจึงร่วมใจกันทำแนวกันไฟขึ้นครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำลำพูนและเชียงใหม่ จนกระทั่งปัจจุบันความกว้างแนวกันไฟ 8 – 10 เมตร และความยาวรอบหมู่บ้าน 30 กม. เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัย 

แต่ปัจจุบันมีการล่าสัตว์ เผาป่าเอาของป่าเป็นประจำ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าและลุกลามเข้ามาในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำพูนและเชียงใหม่ เป็นประจำทุกปี ชาวบ้านป่าแป๋ต้องจัดอาสาสมัครไล่ดับไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

โชคดีที่เยาวชนในหมู่บ้านมีความตื่นตัวกันมาก มีอาสาสมัครมาช่วยจัดการไฟป่าอย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังเรียนหนังสือระดับมัธยมและปริญญาตรี เป็นกำลังสำคัญในการประยุกต์นำความรู้ใหม่ ๆ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาของคนโบราณ

จุดที่สองน้อง ๆ พาเราไปดูคือ สระน้ำบนดอย

ใครจะบ้ามาขุดสระขนาดใหญ่บนภูเขาสูง

ภาพที่เราเห็นคือสระน้ำขนาด 18 x 20 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร  คาดว่าน่าจะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 400,000 ลิตร เพื่อใช้ดับไฟป่า ด้วยระบบสปริงเกอร์ และอยู่ห่างไม่ไกลจากตาน้ำ ที่มีรางน้ำส่งน้ำเข้าสระน้ำตลอดเวลา

“สระน้ำบนเขา พวกเราได้แนวคิดมาจากชาวปกาเกอะญอรุ่นเก่า ที่มักขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ ไว้บนเขา ใกล้กับตาน้ำ เพื่อไว้ใช้ในหน้าแล้ง พวกเราจึงเอาวิธีนี้มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากไฟป่าโดยธรรมชาติจะไหม้ลุกลามจากป่าด้านล่างขึ้นบนยอด บางพื้นที่เป็นหน้าผาลุกลามขึ้นมา เราเลยใช้วิธีขุดสระน้ำบนยอดเขา และต่อสปริงเกอร์หรือสายยางหลายสาย คอยดับไฟที่ลามขึ้นมา ซึ่งง่ายกว่าต้องแบกน้ำขึ้นเขามาดับไฟ ลำบากมาก”

อีกประการหนึ่งไฟที่ไหม้ขอนไม้ ต้นไม้ จะดับยากมาก ลำพังใช้เครื่องเป่าลม หรือเอาไม้ตบ ๆ แยกเชื้อเพลิงไม่สำเร็จ ต้องใช้น้ำดับอย่างเดียว การดับไฟข้างบนจึงใช้น้ำเป็นสำคัญ “

เราเดินดูท่อสปริงเกอร์หลายหัว ที่หันหน้าลงสู่หน้าผา ราวกับเป็นปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ที่เตรียมพร้อมคอยสกัดกั้นไฟป่าผู้รุกรานในหน้าแล้ง

“พวกผมระดมอาสาสมัครขึ้นมาช่วยขุดหลายสิบคนเป็นเวลาสิบกว่าวัน จนสำเร็จด้วยงบประมาณแสนกว่าบาท”

สระเหล่านี้มีอยู่หลายแห่ง บนยอดเขากลางป่าดอยช้างที่มีอาณาบริเวณร่วมสองหมื่นไร่

ดิปุ๊นุเคยเขียนบันทึกไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

“16 กพ.66 ปีนี้คือวันแรกที่พวกเรามาทำแนวกันไฟครับ เมื่อถึงหน้าร้อน พวกเราจะร่วมแรงร่วมใจ สร้างแนวกันไฟ เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 2 หมื่นไร่ 

เราสร้างแนวกันไฟยาว 30 กม. รอบผืนป่าเหล่านี้ที่มีตาน้ำผุด มากกว่า 100 จุด ในแต่ละปีจะมีตาน้ำผุดเฉลี่ย 600 ล้านกว่าลิตรต่อปี (สถิติในหน้าร้อน) 

พวกเราเข้าป่าประกอบหัวกระจายน้ำสปริงเกอร์  ทดลองวาง ติดตั้ง แต่ละหัวยิงน้ำได้ไกลที่รัศมีวงกลม 15 เมตร ได้ใช้งานป้องกันไฟป่าเร็วๆ นี้แน่นอน

เป็นอีกวันที่พวกเรา มีความตั้งใจสุดๆ ในการทำแนวกันไฟระบบสปริงเกอร์ มีลุงป้าน้าอาและทีมน้องเยาวชน 

เริ่มจากออกเดินทางจากหมู่บ้าน พร้อมกับขนท่อพีอี อุปกรณ์อื่นๆ จอบ ขวาน เข้าป่าเพื่อเดินทางไปที่เป้าหมาย 

เมื่อถึงที่ทำการขุดร่องเพื่อวางฝังท่อพีอี วันนี้พวกเราขุดร่องวางท่อพีอีได้ 300 เมตร 

ขอบคุณทุกความร่วมมือร่วมใจครับ”

ทุกวันนี้เยาวชนหลายสิบคนแห่งบ้านดอยช้างป่าแป๋ผลัดเวรกันขึ้นไปดับไฟป่าบนดอยช้าง ซึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วน ๆ  เผาป่าล่าสัตว์หรือไม่ก็เพื่อหาของป่า หารู้ไม่ว่า ไม้ขีดไฟก้านเดียว มันสามารถไหม้ป่าเป็นพัน ๆ ไร่ได้  แต่น้ำจากสระน้ำ ถังน้ำ และสปริงเกอร์ที่เตรียมตัวไว้ตั้งแต่ยังไม่เกิดไฟป่า ช่วยทุ่นแรง และดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว

ระหว่างทางเยาวชนเหล่านี้ชี้ให้ดูเครื่องวัดคุณภาพอากาศ  และIP Camera (Internet Protocol Camera) คือ กล้องวงจรปิดที่รวมเอา คุณสมบัติของ Web Server ไว้ในตัวกล้อง  เพื่อให้สามารถ ดูภาพสดผ่านระบบ internet หรือ ระบบเครือข่ายได้ โดยผู้ใช้งานสามารถดูภาพจากระยะไกลในหมู่บ้านได้ เป็นการเฝ้าระวังไฟป่าว่าเกิดเหตุที่ใด จะสามารถส่งคนไปดับไฟได้ทันท่วงที นับเป็นการนำเอาอุปกรณ์เทคโนโลยีราคาไม่แพงมาช่วยในการจัดการไฟป่าได้

รถมอเตอร์ไซค์พาเรามาจนสุดถนน ต่อจากนี้ต้องเดินขึ้นเขาไปจนถึงยอดดอยช้างระดับความสูง 1,400 เมตร จากสภาพป่าด้านล่างที่เราผ่านมา ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ จนไต่ระดับความสูงมาถึงป่าบริเวณนี้คือสภาพป่าดิบเขา

ระหว่างทางที่เราเดินขึ้นยอดดอย เต็มไปด้วยต้นก่อ สัญลักษณ์ของป่าดิบเขา ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุมไปด้วย มอส ไลเคน ขึ้นหนาแน่นเขียวขจีไปทั่ว

สภาพของเรือนไม้ และระบบนิเวศไม่ต่างจากบนดอยปุย หรือดอยอินทนนท์บางแห่ง

ชาวปกาเกอะญอ แห่งชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ ที่มีวัฒนธรรมความเชื่อในการรักษาป่ามายาวนาน จะสามารถรักษาป่าดิบเขาได้อย่างดีเยี่ยม  

พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลามขึ้นไปถึงป่าดิบเขาจนสำเร็จ

มอส ไลเคน พืชเล็กๆที่ใช้เวลาเติบโตหลายสิบปี จึงอยู่รอด และบริเวณนี้เป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำวังหลวง และไหลลงสู่แม่น้ำปิง หล่อเลี้ยงชีวิตคนพื้นราบหลายสิบล้านคน

ก่อนกลับ เราถามดิปุ๊นุ ทำไมหมู่บ้านแถวนี้จึงไม่ปลูกข้าวโพด ที่มีราคาสูงมาก เหมือนกับที่อื่น ๆ

“หลายปีก่อน กระแสปลูกไร่ข้าวโพดกำลังเป็นที่สนใจของชาวบ้าน พวกเราจึงไปดูงานหมู่บ้านหลายแห่งที่ปลูกข้าวโพด ส่วนใหญ่เห็นแต่เขาหัวโล้นและความแห้งแล้ง  พอกลับมาพวกเราก็คุยกันแลกเปลี่ยนกันว่า หากปลูกข้าวโพดแล้ววิถีชีวิตและสภาพภูมิประเทศของพวกเราจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด จากบทเรียนที่ได้มาจากการไปดูที่อื่น …

สุดท้ายตกลงกันว่า ไม่ปลูกข้าวโพดเด็ดขาด”

ขอบคุณพี่น้องปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋จริง ๆ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s