วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
มีเพื่อนเคยถามว่า “ป่าห้วยขาแข้งใหญ่แค่ไหน”

ผมตอบว่า “คิดว่ากรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไหม”
เพื่อนพยักหน้า
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีพื้นที่มากกว่า 1,800,000 ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครเกือบสองเท่า
มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่น้อยกว่า 159 ชนิด นกไม่น้อยกว่า 428 ชนิด โดยรวมมีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า โดยเฉพาะป่าแห่งนี้ เป็นพื้นที่บริเวณเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสัตว์ในวงศ์วัว อาศัยอยู่ถึงสามชนิด คือ วัวแดง กระทิง และควายป่า
วัวแดง สัตว์ที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าวัวบ้าน ลำตัวสีน้ำตาลสวยงามมาก บนผืนโลกนี้มีเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเมืองไทย สถานภาพปัจจุบันของวัวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้อยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์ (EN) เคยอาศัยอยู่ตามป่าทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงมากจากป่าถูกทำลายและการไล่ล่าของมนุษย์
แต่ที่ป่าห้วยขาแข้ง กลายเป็นพื้นที่วัวแดงอาศัยมากที่สุด คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 300 ตัว กระจายอยู่ในป่า
ต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมกลับไปป่าห้วยขาแข้งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับสายฝนที่โปรยกระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ช่วงหัวค่ำคืนนั้นในราวป่า แมงเม่าที่ได้ฝนแรก พากันบินขึ้นมาจากพื้นดินเป็นล้าน ๆ ตัว เคลื่อนตัวไปที่ใด แมงเม่าบินว่อนเต็มไปหมด ไม่ต้องเปิดไฟฉาย ใช้ความสว่างล่อแมงเม่า สัตว์ปีกตัวน้อยก็บินตามมาเกาะตัวเรา ต้องรอเวลาสักพักให้พวกมันสลัดปีก หล่นลงกับพื้นดินเหมือนเดิมก่อน
สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ ข่มตานอนให้หลับเร็วที่สุดในความมืดมิด ขณะที่อากาศเย็นเริ่มปกคลุมในป่า

หลายปีที่ผ่านมา มีข่าวว่า ปริมาณสัตว์ป่าหลายชนิดในป่าห้วยขาแข้ง เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในมรดกโลกแห่งนี้ เป็นตัวชี้วัดถึงการทำงานหนัก ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ผู้เขียนเดินทางเข้าโป่งแต่เช้า เพื่อรอพิสูจน์ปรากฎการณ์จริง ๆ ระหว่างเดินคนเดียว เจ้าหน้าที่บอกให้ระวังช้างป่าแถวนั้นให้ดี อาจมาทักทายโดยไม่รู้ตัว ตามทางจึงเห็นมูลช้างสด ๆ แสดงว่าช้างเพิ่งเดินจากไปไม่นาน
โป่งเป็นแหล่งเกลือโซเดียมและแคลเซียมที่จำเป็นแก่สัตว์ป่าทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์กินพืช
เรามาซุ่มโป่งแห่งหนึ่ง ในอดีตโป่งคือสวรรค์สำหรับนายพรานที่จะมาดักยิงสัตว์ แต่ในปัจจุบัน โป่งคือสถานที่ดีที่สุดสำหรับการมาซุ่มดูพฤติกรรมของสัตว์ หากโชคดีอาจจะเห็นละครชีวิตของสัตว์นานาชนิด กวางหรือวัวแดงมากินโป่ง เสือมาซุ่มกินกวาง ต่อมาอีแร้งมากินซากสัตว์ที่โป่ง

โป่งแห่งนี้ มีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้า มีลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่าน ด้านหลังเป็นป่าผืนใหญ่ พอเหลือบไปทางซ้าย วัวแดงสี่ห้าตัวกำลังเล็มหญ้าอย่างสบายใจ ลูกวัวแดงนอนเล่นริมน้ำ
ยิ่งเงียบ เสียงลำธารน้ำไหลดังชัดเจน แม้จะอยู่ห่างไป ผู้เขียนเข้าป่าเห็นวัวแดงมาหลายรอบ แต่ครั้งนี้น่าจะใกล้ที่สุด ห่างกันไมกี่สิบเมตร วัวแดง เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos javanicus รูปร่างคล้ายวัวบ้าน สูงประมาณ 155–165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 600–800 กิโลกรัม
เรามองผ่านเลนส์กล้อง เห็นวงก้นขาวชัดเจน เช่นเดียวกับ ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ราวกับใส่ถุงเท้าสีขาวชัดเจน ก่อนที่วัวแดงทั้งหมดจะค่อย ๆ เดินหายลับข้าไปในชายป่าด้านหลัง เมื่อแดดเริ่มร้อนขึ้น
พวกเขาคงมานอนแถวนี้ตั้งแต่ช่วงสาย ๆ แบบแผนการนอนพักผ่อนของวัวแดงไม่ธรรมดา บางตัวเดินหากิน บางตัวนอนพัก สลับกันระวังภัย ตัวที่ออกหากินก็กระจายออกไปรอบ ๆ ถ้าลมพัดมาจากทิศใด วัวตัวนั้นก็จะสัมผัสได้ หากมีกลิ่นแปลกปลอม ก็จะร้องเตือนภัยกัน แม้กระทั่งเวลานอนพัก หูจะสะบัดไปมาเพื่อไล่แมลงและคอยฟังเสียง ดังนั้นโอกาสตามวัวแดงไม่ง่ายเลย
ต้นยางใหญ่ตรงหน้า นกแซงแซวหางบ่วงสีดำ บินมาหาเหยื่อ ก่อนจะไปป้อนลูกน้อยบนรังนกที่อยู่เหนือกิ่งใหญ่ขึ้นไป แต่สักพักมีเสียงนกร้อง เมื่อเหยี่ยวขาวบินลงมาเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ และเมื่อเหยี่ยวบินโฉบมาใกล้รังนกแซงแซงที่หมายจะคาบลูกน้อยไปกิน พ่อแม่นกแซงแซวก็บินออกมาปะทะไล่ศัตรูออกไปทันที
ครึ่งวันผ่านไปความเงียบปกคลุม เราจะได้ยินเสียงมากมายของธรรมชาติ เสียงนกหลายชนิด ใบไม้สีกันตามแรงลม เสียงกิ่งไม้หัก เสียงสัตว์ไกล ๆ เสียงแมลงนานาชนิดที่บินมาตอมเหงื่อของเรา และเสียงวิ่งไล่ของสัตว์ตัวหนึ่งตรงลำธาร พอมันวิ่งตัดหน้าเราไป จึงรู้ว่าคือนากเล็บสั้น
ช่วงบ่ายแดดร้อน ๆ ไม่ปรากฏสัตว์ลงกินน้ำเลย ส่วนใหญ่คงนอนพักผ่อนตามร่มไม้ จนกระทั่งแดดคล้อยลงเรื่อย ๆ นกยูงไทยห้าหกตัวค่อย ๆ เดินย่องออกมาจากชายป่า เดินหากินไปเรื่อย ๆ ทางซ้ายมือของเรา
แต่แล้วมีเสียงดังกึกก้องมาด้านขวาไกล ๆ พอหันไปมอง ฝูงวัวแดงฝูงใหญนับได้สามสิบหกตัวโผล่ออกมาเล่นน้ำ เป็นวัวแดงฝูงใหญ่ที่เห็นมาในชีวิตเลย มีทั้งพ่อแม่ ลูกเล็ก แต่ที่โดดเด่นคือวัวแดงตัวผู้ขนาดใหญ่ สีน้ำตาลแดงเข้มจนเกือบเป็นสีดำ เป็นวัวแดงโตเต็มที่ ขนาดใหญ่เกือบเท่ากระทิง ยืนคุมเชิงฝูงวัวแดงอยู่ห่าง ๆ ท่วงท่าสง่างาม ชาวบ้านเรียกวัวแดงนี้ว่า “วัวบา”

สักพักวัวแดงก็เงยหน้าและจ้องมาทางเรา แต่โชคดีลมยังไม่เปลี่ยนทิศ มันจึงก้มลงกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกใบอ่อนในทุ่งหญ้า เราเห็นเขาวัวแดงสง่างาม เขาสีดำปลายแหลมตีวงกางโค้งเป็นวงกว้าง บางตัวหันหลังให้ เราจึงเห็น “ก้นขาว” ลักษณะเด่นของวัวแดง คือบริเวณก้นมีขนสีขาวเกือบครึ่งตะโพกเป็นรูปคล้ายใบโพ
วัวแดงเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง มีสมาชิกประมาณ 15-16 ตัว ตามปกติจะมีตัวผู้ตัวเดียว นอกนั้นเป็นตัวเมียและลูกวัวตัวน้อย ตัวเมียแก่สุดจะเป็นตัวนำฝูง คอยนำโยกย้ายถิ่นหรือหลบหนีศัตรู ส่วนตัวผู้ตัวโตหรือวัวบาจะเป็นจ่าฝูง คอยเดินตามฝูงห่าง ๆ หรือเดินตามหลัง เพราะจ่าฝูงจะระวังภัยอยู่ด้านหลัง และคอยไล่ตัวผู้ตัวอื่นไม่ให้แอบเข้ามาผสมพันธุ์ตัวเมียในฝูง แต่ฝูงนี้มีมากจริง ๆ เกือบสี่สิบตัว
วัวแดงคือหนึ่งในเจ็ดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกขนานนามว่า Big 7 อันได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า กระทิง และช้างป่า
วัวแดงตัวผู้มีน้ำหนัก 800-900 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนัก400-600 กิโลกรัม จึงกินใบไม้ ใบหญ้าเยอะมาก แต่ละวันกินมากถึง 10-20 กิโลกรัม และการที่วัวแดงกินพืชมาก ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ คือช่วยถางหญ้าและพืชชั้นล่างไม่ให้ทึบเกินไป เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้หลายชนิดในป่า
มีเสียงดัง “ฟืด ฟืด” ลมเปลี่ยนทิศ วัวแดงสูดกลิ่นในอากาศ มันมีสัญชาตญาณระวังภัยสูงมาก แต่เมื่อไม่มีอะไรผิดสังเกต จึงก้มหน้ากินหญ้า เล่นน้ำต่อไป
สักพักเราเห็นหมูป่าพาลูกสิบกว่าตัววิ่งข้ามน้ำมากินอาหารใกล้กับฝูงวัวแดง และกวางสามตัวก็ค่อย ๆ เดินมากินหญ้าในพื้นที่เดียวกัน ดูเหมือนสัตว์เหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ยกเว้นเมื่อมันได้กลิ่นผู้ล่า โดยเฉพาะเสือโคร่งที่เป็นผู้ล่าอันดับหนึ่งบนห่วงโซ่อาหาร

ศัตรูสำคัญของวัวแดงคือเสือโคร่ง เวลาล่าเหยื่อ มันจะกระโดดตบและกัดคอหอยวัวแดงจนเหยื่อขาดใจตาย แล้วมันจเลือกกินเครื่องในก่อน กัดท้องลากไส้ กระเพาะออกมากิน เพื่อไม่ให้ซากเน่าเร็ว แล้วค่อย ๆ ลากเอาไปซ่อนในป่ารกทึบ ค่อย ๆกินเนื้อ ส่วนขา สะโพก อก หัว กินหมดทั้งตัว เหลือแต่กระดูก แถวนี้มีลูกวัวแดงหลายตัวที่ถูกเสือกิน
เสือโคร่ง คือ ผู้ล่า คือศัตรูตัวฉกาจของวัวแดง ด้วยขนาดความใหญ่โตของวัวแดง หากเสือโคร่งล้มวัวแดงได้ แสดงว่าเสือโคร่งมีความแข็งแรงมาก อันเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของเสือโคร่งด้วย
ดังนั้น การมีวัวแดงชุกชุม จึงเท่ากับ ความสำเร็จในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
จากการสำรวจวิจัยเสือโคร่งในป่าตะวันตกบริเวณนี้ ระยะเวลา 10 ปี พบว่าประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของโลกที่มีการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติจนประชากรเสือเพิ่มขึ้น
ระบบนิเวศในธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน เริ่มตั้งแต่พืชได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในจักรวาลชื่อดวงอาทิตย์ พืชเปลี่ยนแปลงพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ เป็นพลังงานในรูปสารอาหารเก็บไว้ แล้วถ่ายทอดไปยังสัตว์กินพืชที่มากิน จากนั้นพลังงานจากสัตว์กินพืชก็จะถูกถ่ายทอดไปยังสัตว์กินเนื้อ พอสัตว์เหล่านี้ตายไปก็ถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ย ทำให้พลังงานมีการหมุนเวียน ช่วยให้ระบบนิเวศป่าดำรงอยู่ได้
เคยมีการบันทึกภาพซากวัวแดงที่เสือโคร่งกินไม่หมด พบว่า อาคันตุกะที่มากินซากสัตว์ นอกจากเสือโคร่งแล้ว ยังมี หมีควาย หมาจิ้งจอก อ้น เม่น ไก่ป่า และชะมดรวมถึง หนอน แมลง แบคทีเรีย ได้ช่วยกันย่อยสลายซากวัวแดงหนักครึ่งตันจนหมดสิ้น
…สิ่งมีชีวิตกำเนิดมาจากผืนดิน สุดท้ายก็กลับสู่ผืนดินเช่นเดิม
