
“ผู้ที่จะอยู่รอดได้ ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด
แต่คือผู้ที่ปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก”
ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
ขณะที่โควิด ๑๙ ระบาดทั่วโลก มีผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายหลายล้านคน ดูเหมือนคำพูดของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin – ปี ๒๓๕๒-๒๔๒๕ )จะได้รับการอ้างอิงถึงบ่อยมากทั้งแบบเข้าใจและไม่เข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการ
ชาวอังกฤษผู้นี้ได้รับการยกย่องว่า “เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในโลกยุคใหม่ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเลยที่ส่งผลกระทบโดยรวมอันอาจเทียบได้กับดาร์วิน ทั้งต่อวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์สังคม ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง ศาสนา และปรัชญา”
ปีที่ผ่านมาก่อนโรคไวรัสจะระบาดทั่วโลกไม่นาน เรามีโอกาสไปเยือนบ้านของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในชนบทอังกฤษ
สถานที่ซึ่งเขาใช้เวลาสี่สิบกว่าปีพำนักอย่างเงียบๆ ร่วมกับเอมมา เวดจ์วูด-ภรรยา ลูกสิบคน จนวาระสุดท้าย

ชาร์ลส์ ดาร์วิน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านห่างไกลผู้คน หรือในสมัยนี้อาจจะเรียกว่าเป็น social distancing
หลายคนทราบดีว่าดาร์วินผู้เคยเรียนด้านการแพทย์และด้านเทววิทยา เปลี่ยนชีวิตตัวเองขณะที่มีอายุเพียง ๒๒ ปี ด้วยการออกเดินทางรอบโลกไปกับเรือสำรวจของอังกฤษ บีเกิล (HMS Beagle) ในปี ๒๓๗๓ ระหว่างยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม เป็นเวลาถึง ๕ ปี เพื่อเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ จำนวนมหาศาล นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักธรรมชาติวิทยา
ถือเป็นการท้าทายคำสอนของคริสต์ศาสนาที่สั่งสอนกันมานับพันปีว่า พระเจ้าคือผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวงอย่างสมบูรณ์
บ้านหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติอังกฤษ (English Heritage site) เก็บเรื่องราว ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และคงรักษาสภาพให้เหมือนเมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ผู้เรืองนามท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อกลับสู่อังกฤษเขาย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ ค้นคว้า ทำการทดลองอย่างเงียบๆ เพื่อยืนยันแนวคิดของเขาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ก่อนลงมือเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่เขย่าความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้นอย่างรุนแรง

On the Origin of Species (กำเนิดสปีชีส์) มีเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ผ่านสายใยแห่งธรรมชาติอันทรงพลังและมองไม่เห็น เรียกว่าการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) จนเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีวิวัฒนาการ (theory of evolution) อันพลิกความเชื่อหรือทฤษฎีเดิมของการกำเนิดสิ่งมีชีวิตในอดีต



๑
ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสมาต่างประเทศ เรามักจะไปเยี่ยมบ้านของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลก เพื่อจินตนาการย้อนอดีตข้ามมิติของกาลเวลาว่า ในช่วงที่ยังมีลมหายใจ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน สร้างงานสำคัญๆ ขึ้นมาได้อย่างไร



เราขับรถออกจากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มุ่งหน้าสู่เมืองเคนต์ รวมระยะทางประมาณ ๙๖ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงกว่าๆ ก่อนจอดหน้าบ้านหลังใหญ่ในหมู่บ้านดาวน์ (Down Village) ชาร์ลส์ ดาร์วิน ซื้อบ้านหลังนี้บนเนื้อที่ราว ๔๕.๕ ไร่ ในปี ๒๓๘๕ ด้วยเงินประมาณสองพันกว่าปอนด์
หลังการผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิตไปกับเรือบีเกิล เขาอาศัยในกรุงลอนดอนกับภรรยาได้ระยะหนึ่ง เมื่อมีลูกสองคนจึงคิดจะย้ายบ้านจากเมืองหลวงอันแออัด อึกทึก อากาศเป็นพิษจากปล่องควันถ่านหิน สุดท้ายเลือกลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านดาวน์
เขารักบ้านหลังนี้มาก ที่นี่เงียบสงบจนทำงานทดลองได้มากมาย เขาเคยเขียนจดหมายถึงเพื่อนมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ถ้าชีวิตผมดำเนินไปเสมือนเข็มนาฬิกา ผมก็รู้แล้วว่า ชีวิตผมควรจะหยุดลงที่ตรงไหน”
บ้านขนาดใหญ่สองชั้นสไตล์จอร์เจียน ล้อมรอบด้วยสวน ทุ่งหญ้า ป่า แปลงพืช เรือนเพาะชำหรือห้องกรีนเฮาส์ เปรียบเสมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์กลางแจ้ง บรรยากาศสงบ ร่มรื่น เหมาะเป็นที่พักอาศัยและห้องทดลอง
หลังดาร์วินเสียชีวิต บ้านหลังนี้เปลี่ยนมือจากรุ่นหลานกลายเป็นโรงเรียนสตรี และต่อมารัฐบาลสนับสนุนให้เป็นพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแด่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในการดูแลของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอังกฤษ
เมื่อย่างเท้าผ่านประตูบ้าน เสียงเด็กนักเรียนที่คุณครูพามาเดินตามรอยนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกดังเจี๊ยวจ๊าว เราปล่อยให้กลุ่มเด็กเดินนำหน้าสักระยะ ก่อนจะเดินเข้าสู่ห้องสำคัญทางทิศเหนือของบ้านที่แสงแดดส่องเข้ามาในห้องเพียงไม่กี่ชั่วโมงยามเช้า เหมาะเป็นห้องทำงานของดาร์วิน
กลางห้องเป็นโต๊ะทำงาน มีสมุดบันทึก จดหมาย เครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ เครื่องมือผ่าตัดเล็กวา
อยู่ในสภาพคงเดิม เหมือนเมื่อครั้งดาร์วินยังนั่งทำงานอยู่
ข้างๆ มีเก้าอี้ไม้มะฮอกกานีตัวโปรด ถัดไปมีโต๊ะทำงานขนาดเล็กวางหลอดทดลองและขวดแก้วบรรจุตัวอย่างเมล็ดพืชและแมลงนานาชนิด โต๊ะตั้งติดหน้าต่าง มีแสงสว่างลอดผ่านเพียงพอสำหรับดาร์วินจะใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูตัวอย่างสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
ดาร์วินมีปัญหาโรคกระเพาะอาหารแทบตลอดชีวิต เขาคิดว่าน่าจะติดโรคมาจากอเมริกาใต้เมื่อครั้งเดินทางรอบโลก เมื่อรู้สึกไม่ค่อยแข็งแรงจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านและไม่ค่อยไปไหนไกลๆ มุมห้องหนึ่งจึงมีผ้าม่านกั้นไว้เป็นที่ขับถ่ายชั่วคราวหากเกิดฉุกเฉินเดินเข้าห้องน้ำไม่ทัน
ห้องทำงานแห่งนี้เอง ดาร์วินเริ่มต้นเขียนหนังสือ On The Origin of Species รวมถึงหนังสือชุดสามเล่ม Narrative of the Surveying Voyages of H.M. Ships Adventure and Beagle
ที่ผนังห้องด้านหนึ่งมีหนังสือเรียงรายตามชั้น หลายเล่มมีลายมือของเขาเขียนคำอธิบายเพิ่มเติม บางหน้าถูกฉีกออก และบางเล่มดูเหมือนยังไม่เคยถูกเปิดอ่าน
ชั้นล่างของบ้านยังมีห้องบิลเลียด ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร มีโต๊ะขนาดใหญ่สำหรับพ่อแม่และลูกสิบคน ห้องนั่งเล่นมีเปียโนสำหรับเอมมาเล่นให้ครอบครัวฟัง เธอเป็นนักเปียโนฝีมือดีและเป็นคริสตชนผู้เคร่งศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุประการหนึ่งว่าทำไมดาร์วินจึงใช้เวลานานกว่ายี่สิบปีกว่าจะเขียนหนังสือเสร็จ ที่ผ่านมาอาจเกรงใจภรรยาก็เป็นได้ เพราะทฤษฎีวิวัฒนาการอันเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งกับหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์โดยสิ้นเชิง
เราเดินขึ้นชั้นบน มีห้องนอนขนาดใหญ่ของสามีภรรยา ห้องนั่งเล่นและห้องนอนของลูกสิบคน ปัจจุบันดัดแปลงเป็นห้องจัดแสดง มีมุมสะสมเครื่องมือ เครื่องใช้ เสื้อผ้า จดหมายส่วนตัว
รวมถึงนิทรรศการแสดงชีวิตกับครอบครัวของดาร์วิน ประวัติของตระกูลดาร์วินและตระกูลเวดจ์วูดที่มีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น (ตระกูลเวดจ์วูดร่ำรวยจากการทำเครื่องปั้นเซรามิกและเป็นผู้สนับสนุนการเดินทางรอบโลกของดาร์วิน)
บนชั้นสองมีการจำลองสภาพห้องส่วนตัวของดาร์วินในเรือบีเกิล ว่าเขาใช้ชีวิตบนเรืออย่างไรตลอด ๕ ปี นับจากจุดเริ่มต้นที่ รอเบิร์ต ฟิตซ์รอย กัปตันเรือต้องการเพื่อนสักคนหนึ่งที่มีการศึกษา พูดคุยกันรู้เรื่องตลอดการเดินทางอันเวิ้งว้างเห็นแต่ฟ้ากับน้ำเป็นเวลานาน เพราะกัปตันเรือคนก่อนฆ่าตัวตายจากความเครียดในการเดินทางอันยาวนาน
มีข้อความตอนหนึ่งอธิบายว่า
“เรือหลวงบีเกลเป็นเรือขนาดสามเสากระโดง ยาว ๙๐ ฟุต กว้าง ๒๔ ฟุต พร้อมปืนใหญ่ไม่กี่กระบอก มีลูกเรือ ๗๔ คน ภายในมีถังเก็บน้ำ ลังไม้ใส่ตัวอย่างชนิดพันธุ์ต่างๆ และตู้หลายใบบรรจุเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วางอยู่ตามทาง…
“ดาร์วินใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเคบินของเขา ทำการผ่าตัด ทดลอง และตรวจสอบตัวอย่างพืชและสัตว์ที่เก็บสะสมด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำการติดฉลาก จัดกลุ่มตัวอย่างให้เป็นระเบียบ แต่เขามักเจ็บไข้หลายครั้งเมื่ออยู่บนเรือนานๆ และหากมีโอกาสได้ขึ้นฝั่ง เขาจะรีบกระโจนออกไปสำรวจทันที
ไม่นานนักบรรดาลูกเรือก็ทราบดีว่า เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาตัวจริง และพวกเขามักจะช่วยกันสำรวจ เก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ต่างๆ มาให้ดาร์วินเป็นจำนวนมากด้วย”
นอกจากนั้นยังมีห้องจัดแสดงช่วงชีวิตสำคัญของดาร์วิน อาทิ แผนที่การเดินทางรอบโลกของเรือบีเกิล บทคัดย่อสาระสำคัญของหนังสือ On The Origin of Species ภาพถ่ายของผู้คนในตระกูลดาร์วิน โดยเฉพาะนิทรรศการสะท้อนข้อโต้แย้งและต่อต้านทฤษฎีวิวัฒนาการของผู้คนในสมัยนั้น เช่นข้อความหนึ่งที่ว่า
“หลังตีพิมพ์หนังสือ On The Origin of Species ไม่นาน เกิดการโต้เถียงอย่างหนัก เพราะคนทั่วไปเชื่อกันว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างสรรค์และออกแบบสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง และให้มนุษย์มีวิญญาณเป็นอมตะ การสร้างสรรค์ของพระเจ้าอยู่นอกเหนือการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
แต่ดาร์วินเชื่อมั่นว่า ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้ตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ตราบใดที่โลกหมุนไปตามกฎของแรงดึงดูด กำเนิดสิ่งมีชีวิตจึงมาจากกฎธรรมชาติแห่งวิวัฒนาการ ตามทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติของเขา”



๒
“ผมเขียนจดหมายมา เพราะห้องเรือนเพาะชำได้สร้างเสร็จแล้ว ผมอยากทดลองปลูกต้นไม้หลายชนิด เหมือนกับเมื่อครั้งเป็นเด็กนักเรียน โปรดบอกได้ไหมว่ามีชนิดใดบ้าง ผมจะได้ขอต้นไม้เหล่านั้น”
จดหมายจาก ชาร์ลส์ ดาร์วิน ถึง โจเซฟ ฮุกเกอร์ แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว, ปี ๒๔๐๖

ฮุกเกอร์เป็นผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์คิว เป็นเพื่อนสนิทที่สุด มีภาพของฮุกเกอร์แขวนอยู่ในห้องทำงานของดาร์วินด้วย พวกเขาติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กันทั้งทางจดหมายและฮุกเกอร์มาหาที่บ้านเป็นประจำ
ปัจจุบันมีการรวบรวมจดหมายของดาร์วินได้ ๗,๐๐๐ ฉบับ หนึ่งในสามเป็นจดหมายโต้ตอบกับฮุกเกอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการค้นพบของดาร์วิน
เราเดินออกมาด้านนอกตัวบ้านสู่ห้องทดลองทางธรรมชาติขนาดใหญ่ของดาร์วินที่ช่วยยืนยันทฤษฎีวิวัฒนาการ มีทั้งสวนพรรณไม้ แปลงดอกไม้ คอกม้า สนามหญ้า ป่าขนาดย่อม และเรือนเพาะชำ
มีบันทึกชีวิตประจำวันของดาร์วินว่า เขาจะตื่นแต่เช้า ไปเดินเล่นในสวนหรือเรือนเพาะชำ กลับมากินข้าวเช้า นั่งทำงานในห้องทำงานจนเที่ยง ออกไปเดินเล่นในสวนตามทางเดิน sand walk กับลูกๆ เขามักสังเกตธรรมชาติอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือแมลงต่างๆ จากนั้นกลับไปกินอาหารตอนบ่ายโมง อ่านหนังสือพิมพ์ เขียนจดหมาย และออกไปเดินเล่นอีกครั้ง ก่อนจะกลับมานอนพักผ่อน
เราเดินมุ่งหน้าไปเรือนเพาะชำหรือเรือนกระจกสีฟ้า แดดส่องถึง ภายในมีท่อระบายไอร้อนเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ปี ๒๔๐๓ ดาร์วินสร้างเรือนเพาะชำเพิ่มเติมในสวนหลังบ้าน เป็นห้องทดลองตัวอย่างพืชชนิดพิเศษที่เขาสามารถควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม ซึ่งเขาได้รับพืชจากฮุกเกอร์

ในเรือนนี้เอง ดาร์วินค้นพบข้อมูลที่จะเป็นผลงานวิจัยสำคัญด้านพฤกษศาสตร์มากมายตลอด ๒๐ สุดท้ายของชีวิต
วันที่เราไปเยือน ภายในเรือนเพาะชำมีพืชเขตร้อนสำคัญเหมือนเมื่อครั้งดาร์วินทำการทดลอง อาทิ กล้วยไม้หลายชนิดที่มีรูปร่างแตกต่างกัน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างแมลงกับการกระจายพันธุ์เกสรดอกไม้ ตัวอย่างดอกไม้กินแมลงที่ล่อให้แมลงลงมากินเกสรก่อนจะกลายเป็นเหยื่อ การสังเกตและทดลองพืชเหล่านี้เป็นข้อมูลชั้นดีในการเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการและการคัดสรรตามธรรมชาติของกล้วยไม้และดอกไม้
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือกล้วยไม้ชนิดที่เรียกว่า Comet Orchid (Angraecum sesquipedale) พบในเกาะมาดากัสการ์ มีเกสรและน้ำหวานลึกถึง ๓๐ เซนติเมตร ดาร์วินตั้งข้อสังเกตว่าต้องมีผีเสื้อชนิดที่มีงวงยาวมากพอที่จะสอดเข้าไปดูดน้ำหวานได้ แต่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน จนกระทั่งหลังดาร์วินจากไปหลายสิบปีนักวิทยาศาสตร์จึงค้นพบผีเสื้อกลางคืนชนิดที่มีงวงยาวพอแก่การนั้น

กล้วยไม้ชนิดนี้ภายหลังมีชื่อว่า Darwin Orchid เป็นตัวอย่างการพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตชิ้นสำคัญ เป็นการยืนยันว่ากล้วยไม้หลากหลายชนิดล้วนมีรูปแบบเหมาะสมกับแมลงบางชนิดในการผสมพันธุ์ เพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์

เราเดินออกจากเรือนเพาะชำผ่านทุ่งหญ้าและสวนจนถึง sand walk ทางเดินโรยด้วยก้อนกรวด ตลอดสองข้างทางเป็นป่าละเมาะ วันวานดาร์วินลงมือปลูกต้นไม้ทรงพุ่มทำเป็นแนวรั้ว พอถึงวันนี้กลายเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ทางเดินราว ๔๐๐ เมตรนี้เงียบสงบ
นี่เองเส้นทางที่ดาร์วินมักออกเดินเป็นประจำประมาณห้ารอบในตอนเที่ยง และบางครั้งลูกๆ ก็เดินเล่นกับพ่อด้วย
กล่าวกันว่าเวลาที่เขาคิดอะไรไม่ออกก็มักจะมาเดินที่ sand walk ปล่อยความคิดให้โลดแล่น จนทางนี้ถูกเรียกว่าเส้นทางนักคิด (Thinking Path)
เมื่อเดินเรื่อยๆ ตามลำพัง จะได้ยินเสียงไม้เท้าปลายหุ้มเหล็กเคาะตามพื้นกรวด
ราวกับว่าทุกย่างก้าวเมื่อเสียงเคาะไม้เท้าดังขึ้น ดาร์วินกำลังสังเกตสรรพสิ่งรอบตัว กำลังใช้ความคิด และทฤษฎีเขย่าโลกจึงบังเกิดบนทางเดินเล็กๆ แห่งนี้


“เมื่อข้าพเจ้าต้องหยุดการสังเกต ข้าพเจ้าก็ตาย”
ชาร์ลส์ ดาร์วิน