T-shirt & Me

“ถ้าอ่านข้อความนี้จบ แสดงว่ามึงจ้องกูนานไปล่ะ”

ข้อความนี้เป็นสกรีนตัวอักษรใหญ่ชัดเจน ด้านหน้าของเสื้อยืดวัยรุ่นสีขาวตัวหนึ่ง แขวนขายอยู่บนหุ่นนางแบบในร้านขายเสื้อยืดแห่งหนึ่ง

ผู้เขียนอ่านจบแล้วอดยิ้มไม่ได้ พลางกวาดสายตาไปดูเสื้อยืดหลากหลายตัวอักษรในร้าน  เห็นข้อความน่าสนใจมากมาย สะท้อนมิติต่าง ๆ ของผู้คนในสังคม

นอกจากเสื้อยืดที่วางขายตามร้านค้าแล้ว ทุกครั้งที่มีการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับงานกีฬาสีของโรงเรียน งานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ งานเปิดตัวสินค้าไปจนถึง การประท้วงการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง สินค้าขายดีตลอดกาลอย่างหนึ่งของงานเหล่านี้คือเสื้อยืดคอกลม หรือ เสื้อ T-shirt

 T-shirt มีความหมายถึง เสื้อไม่มีกระดุม ปกเสื้อ และกระเป๋า โดยมีลักษณะคอกลมและแขนสั้น แขนเสื้อจะไม่เลยข้อศอก รูปร่างของเสื้อจึงคล้ายกับตัว T กลายเป็นที่มาของคำว่า T-shirt

ผมรู้จักเสื้อยืดสมัยเป็นนักเรียน  ในวิชาพละศึกษา นักเรียนทุกคนจะเปลี่ยนเสื้อเชิร์ตมาสวมเสื้อยืดขาวตราห่านคู่เนื้อผ้าทอจากฝ้าย สวมรองเท้าผ้าใบ เพื่อมาออกกำลังกาย หรือพอย่างเข้าหน้าหนาวกลับมาบ้านก็เห็นเสื้อยืดของคุณพ่อชอบใส่อยู่บ้าน จำได้ว่าเนื้อผ้าไม่ใช่ฝ้ายร้อยเปอร์เซนต์ แต่เป็นใยสังเคราะห์ทำให้เบาสบาย ยี่ห้อมองตากูร์ ของฝรั่งเศสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเสื้อยืดที่นำมาเป็นเสื้อชั้นในของสุภาพบุรุษ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา

ทั้งสองประเทศพยายามอ้างมาตลอดว่า ต้นกำเนิดของเสื้อยืดมาจากประเทศของตัวเอง

อันที่จริงเสื้อยืดมีประวัติมายาวนานมาก กล่าวกันว่าเสื้อยืดในปัจจุบันมีพัฒนาการมาจากเสื้อชั้นในที่ทอจากฝ้ายตั้งแต่สมัยอียิปต์หลายพันปีทีเดียว แต่เอาเข้าจริงเสื้อยืดเริ่มเป็นที่รู้จักของโลกสมัยใหม่ไม่ถึงร้อยปี เป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเสื้อคอกลมไม่มีปก ไม่มีกระดุมเส้นใยถักทอจากเนื้อฝ้าย เป็นที่นิยมของบรรดาคนงานขุดเหมือง และกรรมกรแบกสินค้าตามท่าเรือ เนื่องมาจากทำงานท่ามกลางอากาศร้อน  เสื้อยืดเบาสบายกว่า

ต่อมาเสื้อยืดคอกลมเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นหลังสงครามสเปน-สหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นศตวรรษที่ 1900 เสื้อยืดคอกลมสีขาวกลายเป็นเสื้อชั้นในของทหารเรืออย่างเป็นทางการ และหากต้องออกปฏิบัติงานในภูมิอากาศร้อน บรรดาทหารเรือก็จะถอดชุดเครื่องแบบออกและใช้เสื้อยืดสีขาวเป็นชุดทำงานเลย โดยเฉพาะในเรือดำน้ำที่มีอากาศอบอ้าวเป็นพิเศษ

ขณะที่คนทั่วไปในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะบรรดาชนชั้นแรงงานก็นิยมใส่เสื้อยืดเพื่อทำงานในปศุสัตว์ ในไร่ ในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเป็นเสื้อสวมใส่ง่าย สบาย ราคาไม่แพงและทำความสะอาดง่าย และเมื่อเกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1930 เสื้อยืดได้รับความนิยมมากขึ้นจากราคาถูก พอเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพที่เห็นทหารใส่เครื่องแบบครึ่งท่อน คือเสื้อคอกลมและกางเกงทหารกลายเป็นภาพชินตาของคนรุ่นนั้น ขนาดนิตยสาร LIFE ในเวลานั้นเอารูปทหารใส่เสื้อยืดขึ้นปกและคำว่า เสื้อ T-shirt ก็เป็นชื่อที่คนเรียกติดปากมากขึ้น จากเสื้อที่มีลัษณะเป็นตัว “T” และกองทัพอเมริกาเรียกเสื้อชนิดนี้ว่า “training shirt”

แต่เสื้อยืดโด่งดังกลายเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วโลก น่าจะเกิดจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดัง “รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา” (A Streetcar Named Desire) ในปีค.ศ. 1951 นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด  สร้างยอดขายเสื้อยืดในปีนั้นได้มากถึง 180 ล้านเหรียญดอลล่าร์

ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง Rebel Without a Cause นำแสดงโดยเจมส์ ดีน ในปีค.ศ.1955 พระเอกรูปหล่อ กล้ามใหญ่สวมเสื้อยืดคับอก กับกางเกงยีนส์แสนเท่ห์ กลายเป็นแฟชั่นวัฒนธรรมส่งออกของอเมริการะบาดไปสู่วัยรุ่นทั่วโลกยุคนั้น

ช่วงเวลานั้น แฟชั่นเสื้อยืดคอกลมที่ระบาดไปทั่วโลก ยังไม่ได้เปล่งพลังของเสื้อยืดออกมาอย่างชัดแจ้ง จนกระทั่งในปีค.ศ. 1960 เสื้อยืดกลายเป็นสัญลักษณ์ของกบฎ หรือคนที่คิดต่างจากรัฐบาล โดยเฉพาะการต่อต้านสงครามเวียดนาม ก่อนจะพัฒนากลายเป็นเสื้อโฆษณาอย่างแพร่หลาย

ในสังคมตอนนั้น แม้เสื้อยืดจะได้รับความนิยมมาก แต่เสื้อยืดก็ยังมีภาพลักษณ์ของความไม่เรียบร้อย ความมักง่าย ซึ่งตรงกับจริตของกลุ่มคนหนุ่มสาว บรรดาบุปผาชน หรือฮิปปี้ผู้ต่อต้านสงคราม ไม่ต้องการให้รัฐบาลอเมริกันเกณฑ์ทหารไปสู้รบในสงครามเวียดนาม

  เสื้อยืดได้ถูกออกแบบมีการสกรีนสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด คำโฆษณา ภาพวาดบนเสื้อยืด เพื่อบอกคนอื่นว่า คนที่กำลังใส่เสื้อยืดตัวนั้นคิด หรือเชื่ออะไรอยู่โดยเฉพาะการต่อต้านรัฐบาล สงครามและสันติภาพ

บางคนบอกว่าเสื้อยืดก็เปรียบเสมือนเฟรมผ้าใบสีขาว ที่ผู้คนจะแต่งแต้ม ระบาย หรือเขียนข้อความอะไรลงไปเพื่อบอกเรื่องราวต่าง ๆของตัวเอง หรือสิ่งที่ตัวเองสนใจในช่วงเวลานั้น

ไม่น่าแปลกใจที่เสื้อยืดสกรีนรูปเช กูวาร่า นักปฏิวัติฝ่ายซ้าย  ซึ่งเป็นเสื้อที่บรรดาผู้ประท้วงสงครามนิยมสวมใส่เพื่อสะท้อนความคิดขบถต่อสังคม กลายเป็นเสื้อยืดขายดีถล่มทลายติดอันดับจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงเสื้อยืดสกรีน คำว่า PEACE หรือสัญลักษณ์สันติภาพ

 และอีกด้านหนึ่งแฟนเพลงที่ชื่นชอบวงดนตรีชั้นนำ โดยเฉพาะในช่วงที่เพลงร็อคได้รับความนิยมสูงสุด ในช่วงยุค 70’s – 80’s จากเสื้อของวงดนตรีร็อค นักดนตรีต่างพากันใส่เสื้อยืดสกรีนรูปวงดนตรีของตัวเอง อาทิ The Rolling Stone ,Bob Marley ,Jimmy Hendrix,  Pink Floyd ฯลฯ  จนแฟนเพลงพากันซื้อใส่ ได้รับความนิยมถล่มทลาย แทบจะเรียกได้ว่า ยอดจำหน่ายเสื้อยืดรูปศิลปินเหล่านี้อาจจะมีปริมาณมากกว่าอัลบั้มที่ขายออกมาเสียอีก

และตั้งแต่ปี 1970 บรรดาบริษัทชื่อดังอย่าง Coca-Cola หรือ Mickey Mouse  ก็เริ่มทำการตลาดและโฆษณาด้วยการสกรีนตราสินค้าลงบนหน้าอกเสื้อยืด  บริษัทเสื้อผ้าชื่อดังหลายยี่ห้อ ก็เริ่มลงมาเล่นตลาดเสื้อยืด โดยสกรีนโลโก้เสื้อของตัวเองกลางหน้าอก เพื่อเป็นการย้ำแบรนด์ของตัวเอง เสื้อผ้าวัยรุ่น Calvin Klein เป็นยี่ห้อแรกที่ลงมาเล่นกับตลาดเสื้อยืดอย่างจริงจัง  ตามมาด้วยอีกหลายแบรนด์ อาทิ Ralph Lauren, The Gap  จนประสบความสำเร็จ ทำให้เสื้อผ้ายี่ห้อดังเกือบทุกยี่ห้อต้องลงมาเล่นตลาดเสื้อยืด เพื่อสร้างมูลค่าแบรนด์สินค้าของตัวเอง เช่นเดียวกับเสื้อยืดที่สกรีนหน้าอกว่า “ I ♥ N Y “ โดยนักออกแบบชื่อดัง Milton Glaser  ได้กลายเป็นต้นแบบของเสื้อยืดสไตล์นี้แทบทุกเมืองใหญ่ในโลก

ช่วงหนึ่งของชีวิตผู้เขียน มีโอกาสหาเงินด้วยการช่วยเพื่อนทำเสื้อยืดขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีร้านขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร กิจการขายดี ขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยจับกลุ่มลูกค้านักศึกษา และคนรุ่นใหม่ งานของผมคือการคิดแบบเสื้อ ด้วยคำพูดที่แสดงตัวตนของคนสวมใส่ เสื้อที่ขายดี จะสกรีนเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ สันติภาพ และคำพูดเท่ ๆ ของคนดัง ดารา นักร้อง

จำได้ว่าเสื้อยืดแบบหนึ่งเป็นรูปจอห์น เลนนอน และสกรีนคำพูดตอนหนึ่งในบทเพลง  Imagine อันโด่งดัง

“You may say I’m a dreamer

But I’m not the only one

I hope someday you will join us

And the world will be as one”

ปรากฎว่าเสื้อยืดรุ่นนี้ขายดีเป็นประวัติการณ์  คนรอซื้อจำนวนมากจนผลิตไม่ทันขาย  เพราะเสื้อออกแบบได้สวยงามแล้ว ยังสามารถแสดงตัวตนของคนสวมใส่ว่า เขาและเธอคิดอย่างไรในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่า นอกจากจะหลงรัก จอห์น เลนนอน แล้วเนื้อหาเพลงนี้ ประกาศตัวตนความเชื่อของคนสวมใส่ด้วย

ทุกวันนี้เสื้อยืดจึงเป็นเสื้อที่คนทั่วโลกนิยมใส่ นอกจากเพื่อการสวมใส่แล้ว ยังเป็นการสื่อสารราคาถูก สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่พบเห็นได้ผ่านสีของเสื้อ โลโก้หรือข้อความที่สกรีนบนเสื้อยืด เพื่อประกาศตัวตน ความเชื่อของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ดูเหมือนว่าเสื้อยืดจะกลายเป็นสินค้าขายดีในบรรดาสินค้าที่ระลึกทั้งหลาย

เพื่อแสดงความเชื่อทางการเมืองของตน

ตอนมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ในปีพ.ศ. 2553 มีเสื้อยืดขายดีจะสกรีนคำว่า “ไพร่” เด่นชัดเพื่อประกาศตัวตนของผู้สวมใส่ในช่วงนั้น

พอมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556 เสื้อยืดขายดีจะสกรีนคำว่า “กบฎ”เพื่อประกาศตัวตนของผู้สวมใส่อย่างชัดเจน

แม้คำที่ใช้จะต่างกัน แต่คนใส่เสื้อทั้งสองตัวคงจะภูมิใจและอยากแสดงออกด้วยตัวอักษรเชิงสัญลักษณ์นี้

ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่กับรัฐบาลในปี 2563  เสื้อยืดขายดี นอกจากรูปหมุดคณะราษฎรแล้ว ก็คือสกรีนตัวอักษรว่า “พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร”

หลายคนจึงยืดอกใส่เสื้อยืด เพื่อบอกตัวตน ความเชื่อของเราตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันอย่างเต็มภาคภูมิ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s