เมื่อนกกระเรียนไทย คืนถิ่นธรรมชาติ เป็นครั้งแรก

cropped-48bde1ea-f668-4664-9071-da8324cbb55f.jpeg

 

“ตอนนี้พวกมึงเลี้ยงนกกระเรียนไปก่อนนะ อีกหน่อยนกมันจะเลี้ยงพวกมึงเอง”

คำพูดสั้นๆของนักการเมืองผู้กว้างขวางในจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อหน้าบรรดาผู้นำท้องถิ่นในอำเภอเมืองเมื่อหลายเดือนก่อน

 ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวนากับนกจากการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนถิ่นในธรรมชาติบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

ก่อนหน้านี้ นกกระเรียนไทย มีเรื่องเล่ามากมายกว่าจะเดินทางมาถึงตรงนี้

……………………………

คนส่วนมากไม่ทราบมาก่อนว่า นกกระเรียนไทย (Eastern Sarus Crane)

ได้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานมากแล้ว

เหลือเพียงความทรงจำ มีชื่อเป็นหนึ่งในสิบห้าชนิดของสัตว์ป่าสงวนไทย

ในบรรดานก 18,000 ชนิดบนโลกนี้นกกระเรียนนับได้ว่าเป็นนกที่สง่างามติดอันดับต้น ๆ

จากรูปร่างอันเพรียวบาง สูงเป็นสง่าดูอ่อนไหวเวลาย่างกราย ท่าเต้นรำเกี้ยวพาราสี

มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเมื่อกระพือปีกขึ้นโบยบินแล้วเป็นความงดงามอันเหลือเชื่อ

นกกระเรียนเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ทั่วโลกพบ 15 สายพันธุ์และนกกระเรียนไทยจัดว่า

เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มวัย อาจสูงท่วมหัวคน คือ 1.8เมตรน้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม

จึงเป็นเป้าสายตาของนักล่าได้ง่าย แม้ว่าในอดีตจะมีบันทึกการพบนกกระเรียนไทยเป็นจำนวนมาก

ตามทุ่งนาและหนองน้ำ

บันทึกเรื่อง “ลานนกกระเรียน” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในสมัยรัชกาลที่ 5กล่าวถึงการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนไทยจำนวนนับหมื่นตัว

ในบริเวณทุ่งมะค่าจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นการล่านกกระเรียนก็แพร่หลาย

ควบคู่ไปกับการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเค้า

ไม่กี่สิบปี มีการพบนกกระเรียนไทยฝูงสุดท้ายบินผ่านจังหวัดเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 2488

 ปี 2507 มีรายงานว่าพบนกกระเรียนไทย 4 ตัวตัวที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปุทมธานี  

จนถึงปี 2511พบลูกนกกระเรียนสองตัวบริเวณชายแดนไทยเขมรแถวจังหวัดสุรินทร์

เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้นำมาเลี้ยงดู และอยู่รอดในกรงจนถึงปี 2527

จากนั้นไม่มีใครพบเห็นนกกระเรียนในธรรมชาติอีกเลย

อย่างไรก็นักวิจัยสัตว์ป่าของสวนสัตว์โคราชได้พยายามนำเอานกกระเรียนไทยที่ยังพอเห็นตามธรรมชาติ

ในประเทศกัมพูชามาทดลองเพาะเลี้ยงในกรง  โดยในปี 2533ได้รับบริจาคนกกระเรียนจากชาวบ้าน

แถบชายแดนกัมพูชา27 ตัวมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

วันชัย สวาสุ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมาผู้อยู่เบี้องหลัง ได้เล่าว่า

“  ในช่วงแรกเราอาศัยการลองผิดลองถูกเนื่องจากข้อมูลนกกระเรียนไทยตอนนั้นน้อยมาก

และหาได้ยาก  เราใช้เวลาเจ็ดปี จึงผสมพันธุ์สำเร็จได้ลูกนกกระเรียนคู่แรกในปี 2540

แต่ก็ยังน้อยมาก และใช้เวลานับสิบปี  พัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

สามารถมีลูกตามธรรมชาติได้น่าพอใจ  ”

สวนสัตว์นครราชสีมาได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนไทยใหญ่ที่สุดในโลก

มีนกกระเรียนประมาณ 120 ตัว

DSC_1201.1.1แต่เป้าหมายต่อมาของนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่ชี้วัดความสำเร็จไม่ใช่อยู่ที่การเพาะเลี้ยงอย่างเดียว

แต่ต้องทำให้นกกระเรียนไทยคืนถิ่นอาศัยในธรรมชาติได้

การเพาะเลี้ยงนกกระเรียนในกรงว่ายากแล้วแต่การปล่อยให้นกกระเรียนคืนถิ่นในธรรมชาติ

อย่างปลอดภัยอาจจะยากกว่า

“สิ่งที่ยากที่สุดคือนกกระเรียนได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติมาร่วมห้าสิบปีแล้ว

เราไม่มีองค์ความรู้เลยข้อมูลที่ได้มาก็มาจากเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่

 เรายังคลำทางกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร จะปล่อยที่ไหน ปล่อยอย่างไร จำนวนเท่าไร

และควรจะดำเนินงานอย่างไร”นักวิจัยคนหนึ่งจากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ที่มาร่วมทีมได้เล่าปัญหาใหญ่ให้ฟัง

แต่เมื่อเริ่มต้นการทำงานเป็นทีมจากนักวิจัยหลายส่วน โดยเฉพาะองค์ความรู้จากมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งทีมงานมาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด

การนำนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติจึงได้เริ่มต้นขึ้น  โดยมีพื้นที่เหมาะสมคือบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน

เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายยืนยันว่าจังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนในอดีต

และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น

ในปีพ.ศ.2554 ได้มีการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติบริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง จนถึงปัจจุบันจำนวน 86  ตัว และจากการติดตามอย่างใกล้ชิดพบว่านกกระเรียนสามารถรอดชีวิตได้กว่า 60%

กรกฎาคม 2561 ช่วงเวลาที่คนไทยกำลังสนใจข่าวเด็กทีมหมูปาติดน้ำถ้ำหลวง

เย็นนั้น ผู้เขียนยืนอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากเฝ้ามองนกกระเรียนไทยสี่ห้าตัว

ถลาร่อนข้ามหัวลงมาคุ้ยหาหอยตามท้องทุ่ง ผมค่อย ๆเขยิบเข้าไปใกล้

เค้าหันมามองเล็กน้อย ก่อนจะก้มลงจิกหาอาหาร 

นกกระเรียนตัวใหญ่ สีเทาเห็นตุ่มหนังสีแดงชัดเจนกระจายไปบริเวณแก้ม ท้ายทอยและลำคอส่วนบน

นกกระเรียนย่างกรายเดินหากินในท้องทุ่งตามธรรมชาติเป็นความงามที่มิอาจอธิบายได้ 

นอกจากมาเห็นด้วยตาจริง ๆ

DSC_1341.1

แต่ในความงามมีความกังวลของนักวิจัยอีกสองประเด็นคือ นกกระเรียนใช้พื้นที่หากินมาก

คือบริเวณพื้นที่นาข้าวรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำด้วยซึ่งปัญหาการใช้สารเคมีของชาวนา

อาจจะส่งผลร้ายต่อนกกระเรียน แต่โชคดีที่ชาวนาแถวนั้นเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ค่อยใช้สารเคมี

แต่อีกปัญหาคือ นกกระเรียนเวลาเดินย่ำหากินในนาข้าว จะสร้างความเสียหายกับต้นข้าวเป็นวงกว้าง

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่า ฯ พามาสำรวจบริเวณรังวางไข่ในที่นาของชาวบ้านบริเวณไม่ไกลนัก 

ผู้เขียนเห็นร่องรอยความเสียหายของต้นข้าวตามทางที่นกกระเรียนย่ำไปมากทีเดียว

“ชาวบ้านบางคนก็ไม่ว่าอะไร ดีใจที่เห็นนกกระเรียนทำรังในนาของเขาแต่บางคนก็ไม่พอใจ นาข้าวเสียหาย”

การที่นกกระเรียนจับคู่ผสมพันธุ์และทำรังวางไข่กลางกลางท้องนาเป็นครั้งแรกรอบหลายสิบปี 

ถือว่าเป็นการนำนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง

มีเรื่องเล่าว่า นกกระเรียนทำรังวางไข่ตามท้องนาครั้งแรกในปีพ.ศ. 2558 

ชาวบ้านพบไข่สองฟองสีขาวนวลคล้ายไข่เป็ดมีขนาดใหญ่กว่า  ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นไข่อะไร

เลยเอาไปกินแต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ช่วยกันดูแล พอปีรุ่งขึ้นมาก็พบรังไข่ 5 รัง

ลูกนกรอดตาย 3 ตัวปีที่แล้วพบ 11 รัง รอดตาย 7 ตัว

สักพักนกกระเรียนไทยสองตัวก็บินร่อนลงมากลางทุ่งนาเราเฝ้าดูพวกเค้าเดินหากินไม่ห่างจากรัง

 บางครั้งก็กระพือปีกหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีกันกลางทุ่ง แต่พอเราเข้าไปใกล้พวกเค้าจะส่งเสียงร้องดังลั่น

ราวกับเตือนว่า “อย่าเข้าใกล้นะนี่คืออาณาเขตของฉัน”

แน่นอนว่าทุกย่างก้าวของพวกเค้า ต้นข้าวที่เริ่มออกรวงก็โดนเหยียบย่ำเป็นทางยาว

จากการศึกษาพบว่านกกระเรียนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนาข้าวเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% 

ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้แจ้งให้กับชุมชนรอบ ๆว่า ทางการยินดีชดใช้ให้กับนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย

แต่ในระยะยาวการอยู่ร่วมกันระหว่างนกกระเรียนไทยกับชาวนาจะสร้างประโยชน์ร่วมกันได้

นอกจากชาวนาจะหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารแล้วบริเวณแถวนี้จะเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญ

ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาดูนกกระเรียนแห่งเดียวในประเทศสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น

ไม่ต่างจากแหล่งดูนกกระเรียนในเกาะฮอกไกโดที่ดึงดูดนักดูนกจากทั่วทุกมุมโลก

หลายเดือนก่อนเมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายที่ดูแลนกกระเรียนได้เข้าพบนักการเมืองชื่อดังของจังหวัดบุรีรัมย์

ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกกระเรียน ไม่นานนักมีการเรียกประชุมผู้นำท้องถิ่น

และคำพูดสั้น ๆของนักการเมืองที่มีวิธีพูดกับผู้นำชุมชนให้ช่วยกันดูแลนกกระเรียนด้วยภาษาชาวบ้านว่า

“ตอนนี้พวกมึงเลี้ยงนกกระเรียนไปก่อนนะ อีกหน่อยนกมันจะเลี้ยงพวกมึงเอง”

ติดตามกันต่อไปว่า วลีสั้น ๆ นี้จะเป็นจริงไหม

One thought on “เมื่อนกกระเรียนไทย คืนถิ่นธรรมชาติ เป็นครั้งแรก

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s