Silent Spring หนังสือสะเทือนโลก

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ใครจะเชื่อว่า หนังสือเล็ก ๆเล่มหนึ่ง สามารถเปลี่ยนโลกได้

ปี 2022 เป็นวาระครบรอบหกสิบปี ที่หนังสือ Silent Spring หรือ “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน” ผู้แต่งคือ Rachel Carson สุภาพสตรีชาวอเมริกัน ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายในปี 1962

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีหนังสือไม่กี่เล่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และ Silent Spring คือหนึ่งในหนังสือไม่กี่เล่ม ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ให้ตระหนักถึงพิษภัยของยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ดีดีที

หนังสือพิมพ์ The Guardian เคยกล่าวไว้ว่า

“ราเชล คาร์สัน ให้ความรู้แก่โลก…ถ้าให้เลือกว่าหนังสือที่เขียนโดยคนคนเดียวเล่มใดเป็นเสาหลักของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คนส่วนใหญ่ย่อมเลือก Silent Spring อย่างไม่ต้องสงสัย  ผลกระทบของหนังสือเล่มนี้ปรากฏขึ้นทันที ส่งผลกว้างไกล และเป็นหนังสือบรรลุผลมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยมีมา”

ในปี 1999 นิตยสาร Time ฉบับ 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 20 ชื่อของ ราเชล คาร์สัน ติดอันดับเคียงคู่กับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (นักคณิตศาสตร์)  ซิกมัน ฟรอยด์ (นักจิตวิเคราะห์) สองพี่น้องตระกูลไรท์ (นักบิน) เอดวิน ฮับเบิล (นักดาราศาสตร์) ในฐานะ “นักสิ่งแวดล้อมผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ ก่อนที่จะมีขบวนการสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมา”

สมัยนั้นใครจะกล้าคิดว่า ดีดีที ที่เรียกว่าเป็นสารมหัศจรรย์ ใช้กันแทบทุกวงการ ตั้งแต่ใช้แทนยาสระผม ยาฆ่าศัตรูพืช และมีการใช้กันแพร่หลายทั่วโลก จะถูกเปิดโปงว่าอีกด้านหนึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

Silent Spring หนังสือที่เปิดโปงอันตรายของยาฆ่าแมลง ดีดีที อย่างไม่หวั่นเกรงอันตราย และนำไปสู่การยกเลิกการใช้สารเคมีนี้ในเวลาต่อมา

27 พฤษภาคม ค.ศ.1907 ราเชล คาร์สันถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองสปริงเดลล์ รัฐเพนซิลวาเนีย  ในวัยเด็ก มาเรียแม่ของเธอ ผู้เคยเป็นครูมาก่อน ได้ปลูกฝังนิสัยรักธรรมชาติให้กับลูกทั้งสามคน  แต่ละวันแม่ลูกมักจะออกมาเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน ที่เต็มไปด้วยป่า บึงน้ำ ลำธาร โดยเฉพาะลูกสาวคนสุดท้องที่สนใจธรรมชาติเป็นพิเศษ

อายุหกขวบ คาร์สันได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Street School มีความสุขกับการอ่านหนังสือมาก และรู้สึกอยากเขียนหนังสือ 

พออายุได้ 9 ขวบ โดยการสนับสนุนจากแม่ คาร์สันก็เริ่มเขียนบทกวี เขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งได้ตีพิมพ์ในนิตยสารท้องถิ่น  แม่จึงเป็นผู้มีอิทธิพลต่อลูกสาวคนเล็ก ผู้เลือกเส้นทางชีวิตด้านธรรมชาติและเขียนหนังสือมาตลอด

คาร์สันเลือกเรียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย หวังจะเป็นนักเขียน แต่เมื่อมาลองเรียนวิชาชีววิทยาตอนชั้นปีสอง ก็เริ่มหลงใหลวิทยาศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านชีววิทยา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอาจารย์ ที่คิดว่าคาร์สันน่าจะเอาดีทางการเป็นนักเขียนมากกว่า และผู้หญิงไม่เหมาะจะบุกป่าฝ่าดง แต่คาร์สันก็ไม่ย่อท้อ เธอเคยพูดว่า “ ไม่มีแม้สักเสี้ยววินาที ที่ฉันละทิ้งความสนใจในโลกธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบ ๆ ตัว”

คาร์สันยังเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาโทด้านสัตววิทยาทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ในปี ค.ศ. 1932 คาร์สันเริ่มสนใจธรรมชาติในทะเลมากขึ้น และเข้าทำงานที่สำนักการประมง และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เขียนบทวิทยุชีวิตโลกใต้ทะเล “Romance under the Water” งานนี้เองที่เธอได้ใช้ประสบการณ์ในการเขียนและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เขียนบทให้ดูสนุกมีชีวิตชีวา และให้ความสนใจกับธรรมชาติโลกใต้ทะเลอย่างจริงจัง

UNITED STATES – SEPTEMBER 24: Biologist and author Rachel Carson peering through a microscope at home. (Photo by Alfred Eisenstaedt/Time & Life Pictures/Getty Images)

คาร์สันได้ค้นพบจุดแข็งของตัวเองว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆออกมาได้อย่างมีสีสัน และสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตในทะเล คือ Under The Sea wind เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเล โดยใช้กลวิธีการเขียนที่สนุก สัตว์แต่ละตัวมีชื่อเหมือนคน เรื่องราวจึงมีชีวิตชีวา นักวิจารณ์ให้ความชื่นชม แต่เนื่องจากตีพิมพ์ในปี 1941 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง หนังสือเล่มนี้จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ

จนกระทั่ง หนังสือเล่มต่อมา The Sea Around Us  ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1951 ได้กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ New York Times มียอดขายกว่า 2 แสนเล่ม  ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้งานเขียนชิ้นนี้ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์หลายแห่ง รวมถึง National Geographic

หลังจากนั้นคาร์สันก็ลาออกจากงานประจำ กลายเป็นนักเขียนด้านธรรมชาติเต็มตัว และเริ่มคิดถึงการอนุรักษ์เพื่อเป็นมรดกให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

งานเขียนของคาร์สันในช่วงแรก เป็นงานสารคดีที่ให้ความรู้ด้านธรรมชาติแก่เด็กและผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันคาร์สันก็เริ่มรับรู้ถึงปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรว่าก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเพียงใด แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ให้ความสนใจ และยังสนับสนุนให้มีการใช้ดีดีทีอย่างแพร่หลาย โดยไม่มีการบอกกล่าวเตือนภัยถึงหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามาถึงมนุษย์

คาร์สันจึงเริ่มเขียนบทความให้ผู้คนเห็นถึงอันตรายจากการใช้ยาฆ่าแมลง ดีดีที  แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจ แม้กระทั่งนิตยสาร Reader Digest อันโด่งดังก็ปฏิเสธงานเขียนของเธอ

 ในปีค.ศ. 1958 คาร์สันได้เดินทางไปเมืองแห่งหนึ่ง เมื่อเพื่อนคนหนึ่งได้เขียนจดหมายเล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่ในเมืองได้ฉีดยาดีดีทีฆ่ายุงทั้งเมือง ส่งผลให้นกตายเกลื่อนเมืองรวมทั้งผึ้ง ตั๊กแตนและแมลงจำนวนมากล้มตายเกือบหมด

ดีดีที DDT’ (Dichlorodiphenyltrichloroethane) เป็นสารปราบศัตรูพืชที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติสะสมในชั้นไขมันของสิ่งมีชีวิต

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คาร์สันคิดว่า ผลกระทบของยาฆ่าแมลงเหล่านี้ต้องส่งผลถึงมนุษย์ในไม่ช้า จะต้องทำอะไรอย่างจริงจัง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือ Silent  Spring  เธอใช้เวลาในการเดินทางไปทั่วประเทศ เก็บข้อมูลพิษภัยของยาฆ่าแมลง ดีดีที จากแหล่งต่าง ๆ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่า สารเคมีเหล่านี้นอกจากจะทำลายสิ่งมีชีวิตจำนวนมากแล้ว ยังมีผลต่อระบบประสาทของมนุษย์อีกด้วย  เรียบเรียงเป็นข้อเขียนที่อ่านง่าย ๆ และเริ่มต้นเผยแพร่ทยอยลงนิตยสาร The New Yorker ในปีค.ศ. 1962

หนังสือ “ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงันเริ่มต้นว่า

“กาลครั้งหนึ่งมีเมืองเล็ก ๆแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่น ทุกชีวิตดูจะอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เมืองอยู่ท่ามกลางเรือกสวนไร่นาอันอุดมสมบูรณ์ ในฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้บานจะพัดปลิวไปตามสายลมเหนือทุ่งสีเขียวขจี…ดอกไม้ป่าชนิดต่าง ๆขึ้นอยู่ตามริมทาง เหล่านกกาพากันจิกกินผลไม้ป่า ลำธารมีปลาและน้ำใสไหลลงมาจากเนินเขา,,, แต่แล้วหายนะภัยอันแปลกประหลาดก็คืบคลานเข้ามา ทุกอย่างเริ่มแปรเปลี่ยนไป โรคร้ายระบาดในฝูงไก่ วัวและแกะเริ่มล้มป่วยตาย ทุกหนแห่งปกคลุมด้วยเงาแห่งความตาย  ชาวไร่ชาวนาโจษจันถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในครอบครัวตนเอง มีคนเสียชีวิตมากมายโดยไม่ทราบสาเหตุ ความเงียบงันอย่างน่าพิศวงบังเกิดขึ้น  นกนานาชนิดหายไปไหนกันหมด  นกไม่กี่ตัวที่คนพบก็ใกล้ตาย มันเป็นฤดูใบไม้ผลิที่เงียบวังเวง ยามรุ่งอรุณที่เคยก้องด้วยเสียงประสานส่งเสียงเจื้อยแจ้วของนกหลายชนิด  มาบัดนี้ความเงียบแผ่คลุมไปทั่ว”

หนังสือเล่มนี้ได้เปิดเผยถึงผลกระทบของดีดีที จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของเซลพืชและสัตว์ เปลือกไข่นกที่บางเกินไปจนนกวางไข่ไม่สำเร็จ  การตกค้างของสารเคมีในปลาหลายชนิด การก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดโดยเฉพาะนกเช่น อินทรีหัวขาว มีจำนวนลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ฯลฯ

“เป็นไปได้อย่างไรกันที่เราปล่อยให้มีการพ่นสารพิษปริมาณมหาศาลลงสู่ผืนดิน รู้ทั้งรู้ว่าเป็นการฆ่าสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดในดิน” เธอตั้งคำถามต่อไปว่า

 “มันไม่ควรจะเรียกว่ายาฆ่าแมลง (insecticides) เพราะมันคือยาฆ่าชีวิต (biocides) เหมือนกับยาพิษ”

พอหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาทิเช่น “ถ้าเราเชื่อผู้หญิงคนนี้ พวกเราทุกคนก็จะอดอาหารตาย”  “ใครสำคัญกว่ากันระหว่างลูกหลานของเรากับแมลง”

แน่นอนว่า คนในยุคเมื่อหกสิบปีก่อน ยังไม่ได้เข้าใจปัญหาการทำลายระบบนิเวศ ไม่เข้าใจมหันตภัยของสารเคมี ยาฆ่าแมลงชนิดต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์และมนุษย์เพียงใด  ไม่เข้าใจว่า ผีเสื้อ นก แมลง ผึ้งหายไปจะเกี่ยวอะไรกับพวกเขา บางคนอาจจะเป็นห่วงว่า พืชผลทางการเกษตรจะลดลงหากไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ฯลฯ

ปรากฏว่าทาง The New Yorker ได้รับจดหมายแสดงความเห็นจากผู้อ่านมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ กระตุ้นให้สาธารณชนเกิดการตื่นตัวอย่างกว้างขวาง รวมถึงบรรดานักการเมืองที่สนใจ และทำให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบของยาฆ่าแมลงเหล่านี้ และปรากฏว่า เป็นจริงตามข้อเขียนในหนังสือ

ทำให้ยอดขายหนังสือ Silent Spring สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 250,000 เล่ม กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับหลายเดือน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาบริษัทผู้ผลิตสารเคมีเหล่านี้ ได้รวมตัวกันโจมตีคาร์สันอย่างรุนแรง ถึงขนาดลงขันกว้านซื้อสื่อทั่วประเทศเพื่อตอบโต้ข้อเขียนของคาร์สัน และยังขู่จะถอนโฆษณาบรรดาหนังสือพิมพ์ที่จะแนะนำหนังสือเล่มนี้

ประธานบริษัทผู้ผลิตดีดีทีได้กล่าวโจมตีอย่างเผ็ดร้อนว่า

“คาร์สันไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นคนที่หลงงมงายในการรักษาธรรมชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา”

ยิ่งหนังสือถูกตีพิมพ์มาก คาร์สันก็ถูกโจมตีมาก จนกระทั่งถูกกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีว่า “เป็นคอมมิวนิสต์ แอบแฝงมาทำลายเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของอเมริกา”

ในช่วงเวลานั้นคาร์สันล้มป่วยเป็นมะเร็ง แต่หญิงเล็กคนนี้ก็ยังใช้เวลาที่เหลืออยู่ต่อสู้เพื่อให้โลกพ้นจากหายนะอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และก่อนเสียชีวิตไม่นาน เธอได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทว่า

“ฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าไม่อย่างนั้นฉันก็จะไม่มีความสุขได้อีก ตอนนี้ฉันก็ได้ลงมือทำอะไรเล็ก ๆน้อย ๆ แล้ว  เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้หรอกที่หนังสือเพียงเล่มเดียวจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างได้…”

ในปี ค.ศ. 1963 คาร์สันได้รับเชิญจากรัฐสภาให้ไปกล่าวคำปราศรัย  มีการถ่ายทอดออกอากาศ เธอย้ำว่า  “คนทุกคนควรได้รับความปลอดภัยในบ้านของตนเอง และไม่ควรได้รับสารพิษใดๆ จากการกระทำของบุคคลอื่น”  

คาร์สันจากโลกไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1964 ด้วยวัย 57 ปี มลรัฐเพนซิลวาเนีย ได้ประกาศให้วันที่ 27 พฤษภาคม (วันเกิดของเธอ) ของทุกปี เป็นวัน Rachel Carson

หลังจากนั้นไม่นาน ในปีค.ศ. 1972 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สั่งห้ามการจำหน่าย ดีดีทีที่มียอดขายปีละเกือบ 2 ล้านตันอย่างเด็ดขาด มีการออกกฎหมายควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลง และออกกฎหมายกำหนดให้มีการติดฉลากบอกส่วนผสมของยาฉีดบนขวดยาฆ่าแมลงทุกขวด  และส่งผลให้มีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางไปทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก นำไปสู่การจัดตั้ง หน่วยงานใหม่ขึ้นมาเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ (The Environmental Protection Agency – EPA) ที่ปลุกให้ผู้คนได้หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และเกิดขบวนการสิ่งแวดล้อมหลากหลายขึ้น มีการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบและส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน   

ในปี 1980 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ได้มอบเหรียญ Presidential Medal of Freedom ถือเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุดของสหรัฐอเมริกาซึ่งประธานาธิบดีมอบเพื่อเป็นเกียรติคุณแก่ประชาชน  ในฐานะผู้จุดประกายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการออกจำหน่ายแสตมป์เป็นภาพของเธอ เพื่อรำลึกถึงนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้

ตลอดชีวิตของ ราเชล คาร์สัน เขียนหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม แต่มีเล่มหนึ่งสั่นสะเทือนไปทั้งโลก และยังดังกึกก้องจนถึงบัดนี้

Leave a comment