ทำไมเด็กไทยขาดจินตนาการ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

อ่านข่าว แบบเรียนภาษาพาที ระดับชั้น ป.5 ถึงโภชนาการของเด็ก โดยมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกข้าวผัด ผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือ มีความสุข ถือเป็นความพอเพียง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปสนั่นเมือง ทำให้นึกถึงการปฏิรูปการศึกษาของไทย

ตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ สังคมไทยพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 50 ปี ตั้งแต่เปลี่ยนระบบการศึกษาจาก ป.1-7 ,มศ.1-5 เปลี่ยนมาเป็น ป1-6 ,ม.1-6  เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษามาหลายครั้ง  เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารมานับครั้งไม่ถ้วน

แต่คุณภาพเด็กไทยนับวันจะถอยหลังลงเรื่อย ๆ

…………

ครั้งหนึ่งแม่ยายของผู้เขียน คือ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัฒน์ (2475-2546) เคยเล่าประสบการณ์การศึกษาในวัยเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษมานานให้ฟังว่า

เมื่อแรกเข้าโรงเรียน ครูไม่ได้สอนให้อ่าน ออก เขียน ได้ แบบที่สอนในโรงเรียนไทย

“โรงเรียนที่ฉันเรียน ตั้งแต่อายุห้าขวบ เริ่มแรกเขาสอนสามวิชา แต่ไม่ใช่วิชาอ่าน เขียน หรือเลข  เขาสอนวิชาธรรมชาติ วาดเขียน และดนตรี แล้วจากสามอย่างนี้  เด็กก็มีความสนใจ อยากอ่าน อยากเขียนกันเอง  เพราะมันมีแรงจูงใจ”

ผมถามว่าทำไมไม่สอนอ่านตัวหนังสือแบบบ้านเรา

 ท่านบอกว่า ครูสอนวาดรูปเพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ วาดรูปได้ทุกแบบ ระบายสีเท่าที่ใจอยาก สร้างสรรค์อะไรก็ได้อย่างไร้รูปแบบ ไร้ขีดจำกัด เปิดโลกจินตนาการแบบไปให้สุด

 สอนเล่นดนตรีเพื่อให้เด็กรับรู้ว่า เสียงมีความละเอียด มีความไพเราะอย่างไร ทำให้เด็กค่อย ๆ ซึมซับผ่านเสียงดนตรี และค่อย ๆ กลายเป็นคนมีจิตใจอันละเอียดอ่อน หัวใจไม่หยาบด้าน

สอนธรรมชาติ ท่านเดินป่าเป็นประจำ ทุกครั้งที่เดินป่า ครูจะสอนให้เราเปิดโลกมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เห็นความงดงามของสรรพสิ่ง และที่สำคัญคือ หัดให้เราเป็นคนช่างสังเกต มีสายตาที่จะเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ตลอดเวลาว่าทุกอย่างล้วนน่าสนใจไปหมด ตั้งแต่ดิน ก้อนหิน ลำธาร ใบไม้ ดอกไม้ สัตว์แต่ละชนิด

“เด็ก ๆ บ้านอยู่ติดป่า เลยโตในป่า ชอบเข้าป่าดูนกทำรัง หรือไปเก็บเห็ดมาทำกิน”

ท่านบอกว่า “พอเรียนสามวิชานี้แล้ว เด็ก ๆ จะอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นโดยธรรมชาติ  เกิดความอยากเรียนหนังสือ อยากอ่านออกเขียนได้ อยากรู้เรื่องขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ดังนั้นพอครูสอนให้เราอ่านหนังสือ เราจะมีแรงจูงใจในการเรียนหนังสืออย่างรวดเร็ว”

แต่ระบบการศึกษาไทย ส่วนใหญ่จะสอนและบังคับให้เด็กต้องอ่านตัวหนังสือ เขียนตัวอักษรให้ได้ตั้งแต่แรก  เด็กจึงไม่เข้าใจว่า จะอ่านหนังสือไปทำไม เพราะไม่มีแรงจูงใจ เด็กไทยจึงขาดทั้งจินตนาการ ความละเอียดและความกระหายใคร่รู้ตั้งแต่แรกเข้าโรงเรียน

ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัฒน์  ได้กลับมาเมืองไทย เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปิดสตูดิโอสอนการทำผ้าลายบาติก เป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดราคนสำคัญ มีความสามารถในการวาดภาพ ร้องเพลงและเล่นเปียโนได้เก่งมาก และเมื่อเห็นการทำลายป่าทางภาคเหนือมากขึ้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิธรรมนาถ เพื่อร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูป่าต้นน้ำในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

พอผู้เขียนนำเรื่องนี้ลงในเฟสบุ๊ก  มีคนอ่านแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจหลากหลาย อาทิ

Piyapan Tantiwuttipong    “ จากประสบการณ์ตรงนะคะ ตอนลูกเรียนอนุบาล1-2 คุณครูพาดูดอกไม้ ให้เป่าสี และวาดรูป ถามลูกว่าเป่าสีแล้วเห็นเป็นอะไร คุณครูจดสิ่งที่ลูกบอก ส่งให้แม่ดู…  คุณครูมีปลามาเปิดเหงือกให้ดูว่าปลาหายใจทางเหงือก ลูกตื่นเต้นมาก   มีเอาผักไปร.ร ช่วยกันทำสลัด ทำให้ชอบกินผักและรู้จักผักชนิดต่างๆที่ต่างคนต่างเอามาจากบ้าน…….. 

ทั้งหมดนี้สอนที่ร.รอนุบาลประจำจังหวัด พอขึ้นชั้นป.1 ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก็เลยพาลูกออกจากระบบไป”

AorGilles in Canada  “ ที่แคนาดาก็สอนแบบนี้ค่ะ ลูกชาย5ขวบเพิ่งจะเข้าอนุบาลครูสอนให้ตัดกระดาษ ระบายสีล้วน ๆ มีเขียนตามรอยประนิดหน่อย เน้นอ่านนิทานให้ฟังทั้งที่รร.และบ้าน ตอนนี้ลูกอยากหัดอ่านเขียนเอง  เจอป้ายอะไรเค้าจะถามว่าอ่านว่าอะไรตลอด ทำให้เค้าช่างสังเกตมีจินตนาการ เชื่อมต่อความคิด มีตรรกะและเหตุผล เด็กๆที่นี่เท่าที่เจอจะพูดเก่ง กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเองมากๆ ค่ะ”

Kay Jutamanee Nilthamrong  “ขนาดวาดรูปยังต้องลากตามเส้นประเลยค่ะ .. ไม่ได้เริ่มจากจินตนาการ”

.

Supon Chatchaiyareak  “กระจายอำนาจ ให้ทุกจังหวัด จัดทำหลักสูตรของตัวเอง / มหาลัย และ วิทยาลัย .. กำหนดเรื่องที่ต้องเรียนรู้ .. ปล่อยให้ แต่ละจังหวัด หาทางสอนเด็กเอาเอง  …ชุมชนเลี้ยงไหม สอนเด็กแบบหนึ่ง  ชุมชนหมักสุรา สอนเด็กอีกแบบ  หมดเวลาหลักสูตรจากส่วนกลางแล้วครับ…โครงการจากส่วนกลาง เลือกแค่ 1-3 โครงการ  ไม่งั้นครูไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รับมือกับ ตัวชี้วัดบ้าบอ จากส่วนกลาง”

เลิกสนใจไข่ต้มครึ่งซีก และมาปฏิรูปการศึกษา ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดแบบง่าย ๆดีกว่าไหม

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s