SLAPP การฟ้องปิดปากกรณีข่าวสิ่งแวดล้อม

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566  ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศทางทะเล ถูกบริษัทจำหน่ายอาหารสัตว์ยื่นฟ้องคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อออกมาแสดงความเห็นการทำลายชีวิตปลาฉลาม

ก่อนหน้านี้ มีบริษัทรายหนี่งได้มีการนำเอาปลาฉลาม มาแปรรูปทำเป็นอาหารสัตว์ให้แก่หมาและแมว มีการโฆษณาเป็นคลิปวิดีโอทางสื่อออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย โดยในคลิปวิดีโอดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นฉลามชนิดใด นำมาจากที่ใด  ดร.เพชร ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ในเพจ ReReef อันเป็นเพจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565  มีใจความว่า

 “กรณีการนำฉลามวัยอ่อนมาทำเป็นอาหารน้องหมาน้องแมว แล้วโฆษณากันกระหึ่มแบบนี้ ดูจะเป็นบทสรุปสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลบ้านเราจริงๆ เพราะมันสะท้อนถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญของปลาฉลาม

ทะเลที่ดีคือทะเลที่มีฉลาม และข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกต่างชี้ให้เห็นว่า เมื่อปลาฉลามหมดไปจากระบบนิเวศ ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อห่วงโซ่อาหาร จนเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรวม

ถ้าเรายังคิดว่าเราสามารถใช้ประโยชน์ปลาฉลามได้อย่างไม่มีการควบคุมเช่นนี้ ถ้าเราคิดแค่ว่าปลาฉลามเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ยังไงก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ ก็น่าเป็นห่วงจริงๆกับอนาคตของทะเลไทย และมหาสมุทรของโลก ”

ดร.เพชร ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ใน The Active สื่อออนไลน์ของ Thai PBS ซึ่งถูกบริษัทดังกล่าวยื่นฟ้องหมิ่นประมาทเช่นกัน 

“ที่ผ่านมา มีความพยายามรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ฉลามมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนอกจากเมนูหูฉลามที่ควรจะหมดไป กลับพบว่ามีความพยายามจะใช้ประโยชน์จากฉลามในแง่มุมอื่นด้วย เช่น กรณีนำฉลามวัยอ่อนมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง

ซึ่งการทำประมงที่สามารถจับสัตว์ตัวเล็กแบบนี้ได้ คือ อวนลาก และอวนลากแผ่นตะเฆ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่จับไม่เลือก และไม่เลือกจับ… นี่คือรากของปัญหาการทำประมงไม่ยั่งยืน การใช้เครื่องมือไม่เลือกทำให้ฉลามตัวเล็กติดอวนได้ การที่เรามีผลิตภัณฑ์จากฉลามแบบนี้เป็นหลักฐานชัดเจน เมื่อฉลามวัยอ่อน ถูกใช้ประโชน์ในทางธุรกิจแบบนี้ก็ทำให้เกิดมูลค่า และความต้องการ เป็นสัญญาณที่น่ากลัว…เมื่อทำคลิปวิดีโอมาแบบนี้อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารทางเลือก”

กรณีดังกล่าวฝ่ายกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ฉลามอบแห้งโดยมีตราผลิตภัณฑ์ปรากฏอยู่ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และเป็นวิสัยของประชาชน เพราะผลระทบจากการโฆษณาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นยอดวิว ยอดแชร์ อาจส่งผลกระทบต่อปลาฉลามอื่นๆ โดยเฉพาะชนิดที่ถูกกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 ที่กำหนดไว้ 5 กลุ่ม ห้ามครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่ก็ยังต้องรอการไต่สวนของศาลต่อไป

คดีความของคุณเพชร มโนปวิตร น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของลักษณะคดีที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participantion) การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “คดีปิดปาก” คือ การฟ้องคดีเพื่อมีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ “ปิดปาก” คนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ

เหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก และกลุ่มคนที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ต่อสู้หรือออกมารณรงค์ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น

ปี 2534 บริษัทแมคโดนัลด์ ฟ้องหมิ่นประมาทกลุ่ม Greenpeace ประเทศอังกฤษ เนื่องจากกรีนพีซตีพิมพ์แผ่นพับกล่าวหาว่า บริษัทสนับสนุนการทำลายป่า และขายอาหารขยะทำให้สุขภาพผู้บริโภคแย่ลง Greenpeace ใช้เวลาต่อสู้เจ็ดปีและเสียเงินไปเกือบห้าร้อยล้านบาท  เป็นค่าใช้จ่ายในชั้นศาล

ในประเทศอินโดนีเซีย มีนักข่าวสิ่งแวดล้อมหลายคนตกเป็นเป้าหมายถูกฟ้องหลายคดีจากบริษัทที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน และบริษัททำเหมืองถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

ในปี 2564 สถิติการฟ้องคดี SLAPP ทั่วโลกพบว่า ร้อยละ 39 เกิดในประเทศแถบลาตินอเมริกา และร้อยละ 25 ในประเทศเอชียและแปซิฟิก

ในประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540-2562 พบว่ามีคดีที่เข้าข่าย SLAPP จำนวน 212 กรณี  และพบว่า กลุ่มที่ตกเป็นจำเลยร้อยละ 80  ได้แก่ กลุ่มชุมชนหรือประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน  รองลงมาคือ กลุ่มนักพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน

ตัวอย่างคดี SLAPP ในประเทศที่น่าสนใจคือ

ในปี 2558 สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้รายงานข่าวผลกระทบการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  เป็นเหตุให้บริษัททุ่งคำ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ ฟ้อง เยาวชนในพื้นที่ นักข่าว และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฐานหมิ่นประมาท

ในปี 2560 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร  ได้ออกมาคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และต่อมาได้ถูกบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาลยื่นฟ้องสมาชิกกลุ่ม 21 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 

ในปี 2563 นายปรัชญ์ รุจิวนารมย์ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ถูกบริษัทเหมืองแร่เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด  ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากบทความเรื่อง “ ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง”

และล่าสุดคือ การแสดงความเห็นของดร.เพชร มโนปวิตร ต่อกรณีนำปลาฉลามมาทำอาหารสัตว์เลี้ยง

สัณหวรรณ ศรีสด แห่งคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลเคยกล่าวว่า

“SLAPP ที่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาท หากไปดูจนสุดท้าย ส่วนใหญ่คนฟ้องหรือบริษัทไม่ได้ชนะ เพราะมันจะเข้าเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เขาไม่ได้อยากชนะ เขาอยากให้เราที่ถูกฟ้องเข้าสู่กระบวนการนี้ สู้ไปเหนื่อยไป สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร”

สิ่งที่ผู้ฟ้องคดีต้องการมากที่สุดคือ ทำให้ประชาชน นักกิจกรรม สื่อมวลชนไม่กล้าแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะ “กลัวถูกฟ้อง”

SLAPP ทำให้เกิดภาวะชะงักงันของการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและเสรีภาพ เพราะไม่มีใครไม่เกิดความกลัว เมื่อถูกฟ้องปิดปาก

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในสังคมที่นับวันต้องการผู้กล้า ขึ้นมาพูดเรื่องความถูกต้อง กล้าออกมาเปิดโปงความไม่ยุติธรรม  จะมีวิธีรับมือกับ SLAPP อย่างไร และกระบวนการยุติธรรมควรมีมาตรการปกป้องผู้ถูกฟ้องอย่างไม่เป็นธรรมมากกว่านี้หรือไม่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s