ป่าบุญเรือง ป่าชาวบ้านระดับโลก

เรื่อง :วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์

ภาพ :อนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง 

เชียงของ  เป็นอำเภอในจังหวัดเชียงราย อยู่ติดแม่น้ำโขง

 ผู้เขียนเคยเห็นปลาบึกตัวขนาดหลายร้อยกิโลกรัมเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อร่วมยี่สิบปี  ก่อนที่เขื่อนในประเทศจีนที่กั้นแม่น้ำโขงจะสร้างเสร็จ และตามมาด้วยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว จนเป็นอุปสรรคสำคัญในการแพร่พันธุ์ปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง  เพราะการไหลของแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จากเขื่อนปิดกั้นการเดินทางของปลาบึกที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่  

ผมจำได้ว่า ปีนั้นชาวบ้านจับปลาบึกยักษ์ที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ได้ยี่สิบกว่าตัว หลังจากนั้น ปริมาณการจับปลาบึกก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้คนสองฝั่งแม่น้ำแทบจะไม่เห็นปลาบึกในธรรมชาติอีกเลย

ทุกวันนี้เชียงของเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็ก ๆ ของผู้คนที่รักวิถีชีวิตพื้นบ้าน ธรรมชาติ วัดวาอาราม และโดยเฉพาะนักเดินทางที่อยากนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงนานเป็นวัน เพื่อมาขึ้นฝั่งที่เมืองหลวงพระบาง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนภายนอกไม่ค่อยได้รับรู้คือ ป่าบุญเรืองในเชียงของที่โด่งดังไประดับโลก

ในปีพ.ศ. 2563  ป่าบุญเรืองเป็นหนึ่งในป่าสิบแห่งทั่วโลก ที่ได้รับรางวัล Equator Prize ของ United Nations Development Programme (UNDP) รางวัลป่าระดับโลกที่เอาชนะป่าห้าร้อยกว่าแห่งจาก 120 ประเทศที่ส่งเข้าประกวด

Equator Prize เป็นรางวัลใหญ่ มอบให้ชุมชนที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการทรัพยากร เพื่อลดปัญหาความยากจน ขจัดความเหลื่อมล้ำ 

ปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสล่องเรือไปในป่าบุญเรือง บริเวณหมู่บ้านบุญเรือง หมู่2 ที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำอิง แม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือที่ไหลออกไปเติมปริมาณน้ำให้กับแม่น้ำโขง

ใช่ครับล่องเรือไปในป่า ไม่ใช่เดินป่า เพราะป่าบริเวณนี้ ในช่วงหน้าแล้งเดินได้ แต่ช่วงหน้าน้ำ น้ำจากแม่น้ำอิงจะไหลเอ่อท่วมเข้ามาในป่าแห่งนี้ จนกลายเป็นป่าชุ่มน้ำ (seasonal wetland)

ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง  พื้นที่สามพันกว่าไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสัมพันธ์กับการขึ้นลงของระดับน้ำอิงและน้ำโขง ในช่วงปกติมีสภาพพื้นที่คล้ายป่าทั่วไป พอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงจะไหลทะลักเข้ามาท่วมป่าใหญ่ ร่วมสามเดือน กลายเป็นพื้นที่ป่าชุ่มน้ำตามฤดูกาล เป็นแก้มลิงธรรมชาติ กักน้ำได้มากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย  มีการพบพันธุ์ปลา 282 ชนิด นก 90 ชนิด พบสัตว์ป่า 134 ชนิด รวมทั้งเสือปลา แมวดาว สัตว์ป่าหายาก

และต้นไม้พรรณพืชนับร้อยชนิดที่มีวิวัฒนาการน่าสนใจ

ชาวบ้านแห่งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง พาเราล่องเรือเข้าไปในป่า สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิดที่ถูกน้ำท่วม  บางแห่งน้ำท่วมลึกถึงสามสี่เมตร จะพบเห็นต้นไม้ชุมแสงและข่อยเป็นไม้เด่น  มีเถาวัลย์พันเกี่ยวขึ้นไปตามลำไม้ใหญ่ ต้นไม้หลายต้นมีรูปทรงแปลกตา นับเป็นการปรับตัวทางธรรมชาติของต้นไม้ เมื่อต้องเจอน้ำท่วมนานหลายเดือน แต่ยังมีชีวิตรอดได้อย่างน่าอัศจรรย์

ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาแบ่งลักษณะพื้นที่ของป่าชุ่มน้ำผืนนี้ ย่อยลงไปอีกอย่างน่าสนใจว่า ประกอบด้วย

หนองน้ำ  เป็นพื้นที่น้ำขังขนาดใหญ่ มีน้ำขังตลอดทั้งปี รับน้ำจากแม่น้ำอิง และ ลำห้วยสาขา ในช่วงฤดูน้ำหลาก และ รับน้ำจากน้ำฝน 

บวก     เป็นพื้นที่น้ำขังขนาดเล็ก มีน้ำขังไม่ตลอดทั้งปี แห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง 

 วังน้ำ เป็นพื้นที่น้ำนิ่ง ในช่วงฤดูน้ำหลากมีความลึกประมาณ 10 – 15 เมตร ความยาวประมาณ 200 – 300 เมตร 

ฮ่อง     เป็นทางน้ำที่ใหลเชื่อมระหว่างแม่น้ำอิงกับหนองน้ำต่างๆในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้น้ำไหลเข้า – ออกได้ 

ห้วย เป็นทางน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตันน้ำบนดอยสูงไหลลงสู่แม่น้ำอิง เป็นลำห้วยสาขาที่ไหลลงมาเติมน้ำให้แม่น้ำอิง และไหลตลอดทั้งปี 

ดอน    จะเริ่มโผล่พ้นน้ำให้เห็นในฤดูแล้งจะอยู่ฝั่งด้านใดด้านหนึ่ง หรือ อยู่กลางลำน้ำอิง ในช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมพื้นที่ดอนทั้งหมด

ในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาต่าง ๆจะว่ายน้ำจากแม่น้ำโขงสายหลักไปยังแม่น้ำอิงที่เชื่อมต่อ กัน ก่อนที่จะเข้ามาวางไข่บริเวณรอบ ๆ ป่าชุ่มน้ำแห่งนี้  เมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มวัย บางส่วนจะว่ายกลับไปแม่น้ำอิงและสู่แม่น้ำโขง ป่าแห่งนี้จึงเป็นต้นทางของแหล่งอาหารโปรตีนชั้นดีของคนแถวนี้ และรวมไปถึงผู้คนริมแม่น้ำโขงสองฟากฝั่งด้วย

ป่าชุมน้ำบุญเรืองแห่งนี้จึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และวัตถุดิบของคนหกร้อยกว่าคนในชุมชนแห่งนี้ ผู้ประกอบอาชีพทำนามานานกว่าสามร้อย ปี 

 “ป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ถึงแม้ไม่มีเงินก็สามารถหากินจากป่าได้ อยากกินผัก กินผึ้ง กินต่อ หรืออยากกินอะไร ก็สามารถหากินจากป่าได้ ใช้เพียงแค่แรงงานดินเข้าไปหาโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน…” นายทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง บอกกับเราขณะล่องเรือเข้าไปในป่า

ทุกคนสามารถเข้าไปหากินได้ตลอดทั้งปี เช่น หาผัก จับปลา ล่าสัตว์ ยกยอ หว่านแห เป็นต้น ว่างจากการทำนาก็หาของป่ามาขาย มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ในรอบหนึ่งปี ชาวบ้านจะเข้าไปหาอาหารในนั้น เพราะมีทั้งเห็ด พืชอาหารพื้นบ้าน ปลา และของป่าอื่นๆ เช่น ผึ้ง ต่อ จิ้งหรีดยักษ์

 คนที่มีกินคือคนที่ขยันเข้าไปหากิน บางคนไม่มีไร่นาแต่ก็อยู่ได้เพราะมีป่าเป็นแหล่งอาหารนานาชนิดและเป็นแหล่งรายได้ให้กับครอบครัว การใช้ประโยชน์ร่วมกันและความผูกพันกับป่ามาแต่อดีต ทำให้ทุกคนต่างมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน 

หลายคนบอกว่าพอเกิดมาก็เห็นป่าผืนใหญ่ผืนนี้แล้ว พ่อแม่พาเข้าไปหากินตั้งแต่เด็ก เรียนรู้การใช้ประโยชน์และพึ่งพาป่าจากรุ่นสู่รุ่นหลายช่วงอายุแล้ว 

“ป่าเป็นมากกว่าต้นไม้ แต่ป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนบุญเรือง”

นอกจากนั้นแล้ว ในสถานการณ์ปัญหาโลกร้อน ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน (RECOFTC) ได้ศึกษาศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าบุญเรืองแล้วพบว่า มีการเก็บกักคาร์บอนเหนือดินรวม 172,479 ตัน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ขนาดเล็กได้สูงกว่า 500,000 คันต่อปี  

แต่กว่าที่ชาวบุญเรืองจะรักษาผืนป่าแห่งนี้ได้ ในปี2557 รัฐบาลคสช. เคยพยายามจะยึดป่าสามพันกว่าไร่ไปทำโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  โดยทางการหาว่าป่าชุ่มน้ำเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้องให้ทางการไปทำประโยชน์ ด้วยการถมที่ดิน แต่ชาวบ้านร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างเด็ดขาด  ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของพวกเขา ร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง”   ทำการสื่อสาร จัดเสวนา เปิดเวทีอภิปราย 

พวกเขาร่วมมือกับนักวิชาการภายนอก ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางระบบนิเวศ การตีแปลงสำรวจ ให้ทางรัฐบาลเห็นว่าป่าแห่งนี้ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรม หากแต่เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ ทั้งพืชอาหาร พืชสมุนไพร นานาชนิด รวมไปถึงแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง  ท่ามกลางบรรยากาศของเผด็จการทหาร ที่มีคนในเครื่องแบบมาปรากฏตัวบ่อยครั้ง  แต่สุดท้ายรัฐบาลยอมถอย ยกเลิกการใช้พื้นที่ป่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ชาวบ้านป่าบุญเรือง รักษาป่าผืนนี้ให้ลูกหลานได้ ไม่ใช่การร้องขอแต่คือการรวมพลังต่อสู้อย่างเข้มแข็ง       

“บรรพบุรุษของเราตกลงที่จะกําหนดพื้นที่ชุ่มน้ำนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับชุมชน มากกว่าที่จะเป็นของส่วนตัว และเราได้ปฏิบัติ ตามจนมาถึงรุ่นปัจจุบัน เราต้องรักษามรดกสืบทอดของเราไว้เพื่อลูกหลานและธรรมชาติของเรา”

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค แห่งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง กล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นว่า การรักษาป่าผืนนี้สำคัญกับพวกเขาอย่างไร

ทุกวันนี้ป่าบุญเรืองคือสถานที่ดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้และทำวิจัยของหน่วยงาน สถาบันวิชาการ กลุ่มชาวบ้านต่าง ๆ  ในฐานะพื้นที่ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งอนุรักษ์ แหล่งเพาะพันธุ์ปลานานาชนิดให้กลับไปสู่แม่น้ำโขง

ขณะที่โครงการพัฒนาเขื่อนหลายสิบแห่งในแม่น้ำโขง ได้มีส่วนทำให้ปลาบึก ปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s