จากสนามทิ้งลูกระเบิดกลายเป็นป่าสมบูรณ์

เมื่อประมาณ ห้าสิบปีก่อน สมัยสงครามเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารห้าแสนคนเข้าช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้สู้รบกับกองทัพเวียดนามเหนือ  รัฐบาลไทยในเวลานั้นได้อนุญาตให้ทางกองทัพสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนไทย เพื่อเป็นฐานใหญ่ในการส่งกำลังสนับสนุนการทำสงครามเวียดนาม และลาว

สนามบินที่ทหารอเมริกันมาใช้เป็นฐานปฏิบัติการ ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา สนามบิน อุบลฯ สนามบินตาคลี นครสวรรค์ สนามบินโคราช สนามบินนครพนม และสนามบินอุดร

ประมาณการว่าเครื่องบินราว 600 เครื่องที่กระจายอยู่ตามฐานทัพเหล่านี้ มีภารกิจเกือบทั้งหมดคือทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือและลาว นับเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่กว่าฐานสหรัฐในเวียดนามใต้เสียอีก จนมีการเปรียบเปรยว่าในเวลานั้น ไทยกลายเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจมของกองทัพสหรัฐ”

ที่จังหวัดอุดรธานี ทหารสหรัฐยังมาสร้างค่ายรามสูร สถานีข่าวกรองลับสุดยอดในการตรวจจับสัญญาณทุกชนิดที่ใหญ่โตและทันสมัยที่สุดในโลก กล่าวกันว่า ถ้าใครส่งสัญญาณวิทยุทุกคลื่นในไทยเวียดนาม ลาว จีน กัมพูชา ค่ายรามสูรดักฟังได้หมด

ในสมัยนั้น เครื่องบินจากฐานทัพอากาศอุดรธานีที่บินไปปฏิบัติภารกิจทิ้งระเบิดและต่อสู้กลางอากาศในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่คือเครื่องบินเอฟ-4 แฟนท่อม 2 (F-4 Phantom II) เป็นเครื่องบินสกัดกั้นโจมตีพิสัยไกลทุกสภาพอากาศสองที่นั่ง สองเครื่องยนต์ ความเร็วเหนือเสียง ที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าประมาณปีพ.ศ. 2510-2515  ภายหลังจากเครื่องบินเอฟ-4 บินขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศเพื่อนบ้าน พอขากลับหากเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่หมด ก่อนจะร่อนลงจอดที่สนามบิน เพื่อความปลอดภัย เครื่องบินจะบินโฉบมาปลดระเบิดทิ้งลงในป่าแถวตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ

ตำบลกุดหมากไฟในอดีตมีลำห้วยหรือภาษาอีสานเรียกว่า กุด ไหลผ่านหลายสาย และมีต้นมะไฟขึ้นอยู่มากริมลำห้วย ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กุดหมากไฟ”

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสมาเดินป่าแห่งนี้ สำรวจบริเวณที่เคยเป็นสนามทิ้งระเบิดในอดีต

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นยังเป็นเด็กเล็กอยู่ จำได้ว่า แต่ละวันช่วงบ่ายๆ จะเห็นเครื่องบินหลายลำมาทิ้งระเบิด และปลอกกระสุนปืนในป่าแถวนี้ ได้ยินเสียงดังสนั่นทุกวัน บางครั้งสะเก็ดระเบิดปลิวตกหมู่บ้านที่ห่างไปหลายกิโลเมตร

ป่าอุดมสมบูรณ์แถวนั้นหลายพันไร่จึงถูกระเบิดถล่มทำลายยับ ต้นไม้ใหญ่เหลือแต่ซาก สัตว์ป่า ช้าง เสือโคร่ง กระทิง หมี ที่เคยมีมากมาย หากไม่โดนระเบิดตาย ก็หนีตายดิ้นรนไปอยู่ป่าแห่งอื่น

“แต่ชาวบ้านแถวนี้ไม่กลัวตาย พอระเบิดลง ชาวบ้านนับร้อยคนพากันไปเก็บซากเหล็ก เศษทองเหลืองจากระเบิดมาขาย ระเบิดบางลูกที่เกิดด้านไม่ทำงาน ไม่ระเบิด  ตกลงจมดิน ชาวบ้านก็ไปขุดขึ้นมา เอาเลื่อยตัดหัวระเบิด แยกดินระเบิด เศษเหล็กมาขาย” ผู้อาวุโสแห่งหมู่บ้านคนหนึ่งรำลึกความหลังเมื่อครั้งเป็นเด็กเสี่ยงตายไปขุดหาเศษทองเหลืองมาขาย

ตลาดรับซื้อสินค้าเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ลานตลาดนกกระทา ชาวบ้านที่เสี่ยงตาย ได้เงินคนละหลายสิบบาท แต่บางครั้งเกิดอุบัติเหตุ โดนระเบิดตายไปหลายสิบราย แต่ไม่มีใครเข็ด เพราะความยากจน ยอมเสี่ยงตาย

“ถือว่า ลูกระเบิดคือของขวัญจากฟากฟ้า ทำให้ชาวบ้านยากจนแถวนี้มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แม้จะเสี่ยงกับอันตรายถึงชีวิต”

หลายปีต่อมาป่าได้ถูกทิ้งรกร้าง บางแห่งก็ถูกชาวบ้านบุกรุกเพื่อเพาะปลูก จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2556 ได้เกิดไฟไหม้ป่าลุกลามใหญ่โต  ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านได้ช่วยกันดับไฟป่า เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามเข้ามาในวัดป่าแถวตำบลกุดหมากไฟและตำบลใกล้เคียงจนสำเร็จ

หลังจากนั้น ชาวบ้านได้ช่วยกันมาฟื้นฟูป่านับหมื่นไร่ ที่ถูกทำลายจากระเบิด และถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอย ให้กลับมาเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้ง จนกลายเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของลำห้วยหลวง ที่หล่อเลี้ยงคนในตำบลกุดหมากไฟได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี และบริหารจัดการให้เกิดป่าชุมชน 11 แห่งในหมู่บ้านของตำบล แต่ละป่ามีการบริหารจัดการโดยกรรมการป่าชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และขอการสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อขุดอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กขนาดไม่กี่สิบไร่หลายแห่ง

สร้างความมั่นคงว่าจะมีน้ำจากป่าไหลมาเติมเรื่อยๆ แม้ในช่วงหน้าแล้ง น้ำก็ไม่ขาด

ชาวบ้านพาผู้เขียนไปดูอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลายแห่งกระจายอยู่รอบป่า แต่ละแห่งมีประตูน้ำ ขุดคลองระบายน้ำเล็ก ๆ ต่อท่อไปยังพื้นที่เกษตรที่ห่างไกลออกไป แต่น้ำสามารถเดินทางไปถึง โดยใช้หลักแรงดึงดูดที่จากสูงไปสู่ที่ต่ำ ไม่ต้องเปลืองค่าน้ำมันจากเครื่องสูบน้ำเลย

เมื่อมีป่า มีน้ำ พวกเขาศึกษาการจัดการน้ำให้กระจายไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมอย่างทั่วถึง ทั้ง 11 หมู่บ้านรอบๆป่า

เมื่อมีน้ำ ชาวบ้านสามารถปลูกข้าว ปลูกพืชนานาชนิดได้ตลอดปี และกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด ด้วยการปลูกหลากหลายชนิด  ข้าว ข้าวโพด ผักสวนครัวปลอดสารกล้วยหอม ฝรั่ง อ้อย แก้วมังกร มะม่วง โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ปลอดสารเคมีจนกลายเป็นแหล่งใหญ่ของจังหวัดในการส่งออกนอกประเทศได้

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมกลุ่มอนุรักษ์ควายไทย  มีการคัดสายพันธุ์ที่สมบูรณ์ ตัวใหญ่ แข็งแกร่ง และนำมาให้สมาชิกในกลุ่มเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน

อีกด้านหนึ่งตำบลแห่งนี้ยังจัดตั้งโรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการทำนา สอนการทำนาอินทรีย์ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวไรท์เบอรี่ ข้าวหอมนิล ข้าวประดู่แดง จนมีชาวบ้านหลายร้อยคนในตำบลหันมาสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพื้นที่เกษตรที่ค่อย ๆ เปลี่ยนการใช้สารเคมีมาเป็นอินทรีย์ ที่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านสักระยะ

ทุกวันนี้ชาวตำบลกุดหมากไฟเจ็ดพันกว่าคนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ลำพังการเก็บหาของป่าตามฤดูกาล อาทิ เห็ด ไข่มดแดง น้ำผึ้ง ก็สร้างรายได้มีเงินหมุนเวียนทั้งตำบลปีละ 30 กว่าล้านบาท   ไม่นับรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ

 เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) บอกผู้เขียนว่า คนในชุมชนแถวนี้เป็นหนี้ธนาคารอยู่บ้าง เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อต้องกู้เงินไปซื้อรถหรือเครื่องจักร แต่เป็นหนี้นอกระบบน้อยมาก อันเป็นตัวชี้วัดถึงความมั่นคงทางรายได้ของคนในตำบล ขณะที่คนหนุ่มสาวที่เคยออกไปทำงานในเมืองกรุง กลับมาบ้านเกิดมากขึ้น เพราะคิดว่ามีลู่ทางทำมาหากินได้ดีกว่าดิ้นรนเพื่อทำงานรับเงินเดือนในเมืองใหญ่ เริ่มทำการเกษตรแบบ smart farm และขายสินค้าเกษตรแปรรูปทางออนไลน์ ค่อย ๆ มีbrand เป็นของตัวเอง

ป่าชุมชนแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่าง การกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นให้พึ่งตัวเอง มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้จากการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำ และการจัดการน้ำอย่างถูกวิธี เพียงระยะเวลาไม่ถึงสิบปี ชุมชนแห่งนี้ก็มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างน่าศึกษา

แต่ล่าสุด เมื่อป่าชุมชนนับหมื่นไร่ ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลและฟื้นฟูจนสำเร็จ ปรากฎว่าทางการจะมาขอผนวกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐบาล แต่ชาวบ้านไม่ยอมเด็ดขาด เพราะชาวบ้านจะไม่มีส่วนร่วมในการจัดการดูแลป่าอีกต่อไป

ดูกันต่อไปว่า เอาป่าไปให้รัฐบาลจัดการ กับเอาป่ามาให้ชุมชนดูแล สิ่งใดจะยั่งยืนกว่า

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s