
สำหรับนักท่องเที่ยวขาลุยที่ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติมากกว่าการเที่ยวในมหานครใหญ่แล้ว ไอซ์แลนด์ กำลังเป็นประเทศจุดหมายปลายทาง ตัวเลือกที่น่าสนใจและกำลังมาแรง แม้ค่าครองชีพ ค่าเดินทางจะค่อนข้างสูง
ไอซ์แลนด์เป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรปรองจาก เกาะอังกฤษ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างอังกฤษ นอร์เวย์และเกาะกรีนแลนด์ มีเมืองหลวงชื่อภาษาพื้นเมืองว่า Reykjavík
ในทางภูมิศาสตร์ ไอซ์แลนด์เป็นเกาะเกิดใหม่ จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ดันหินหลอมเหลวใต้เปลือกโลกขึ้นมาตามรอยแยกเมื่อ 70 ล้านปีก่อน เกาะตั้งอยู่บนสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก(Mid Atlantic Ridge) ซึ่งเป็นแนวแผ่นเปลือกแยกตัวระหว่างแผ่นทวีปอเมริกาเหนือและแผ่นทวีปยูเรเชีย
แผ่นทวีปยูเรเซียคือแผ่นเปลือกโลกรองรับทั้งทวีปและมหาสมุทร ขนาดประมาณ 67,800,000 ตารางกิโลเมตร รวมทวีปยุโรปและทวีปเอเชียส่วนใหญ่เข้าด้วยกันยกเว้น อินเดีย ตะวันออกกลาง และพื้นที่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขา Chersky ของไซบีเรีย และประชากรร้อยละ 75 บนโลกนี้ อาศัยอยู่บนแผ่นทวีปนี้
ส่วนแผ่นทวีปอเมริกาเหนือ คือแผ่นเปลือกโลกรองรับทั้งทวีปและมหาสมุทร ขนาดประมาณ 75,900,000 กม. รองรับทวีปอเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ คิวบา บาฮามาส และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
คำว่าสันเขากลางมหาสมุทร(mid-oceanic ridge) เป็นศัพท์ทางธรณีวิทยาเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน เพราะเพิ่งมีการค้นพบเทือกเขากลางสมุทรจมอยู่ใต้ทะเลลึกเมื่อราวเจ็ดสิบกว่าปีก่อน จากการสำรวจพื้นท้องมหาสมุทรโดยเรือสำรวจ และพบแนวสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก และส่วนหนึ่งพาดผ่านเกาะไอซ์แลนด์
ไม่แปลกใจเลยที่ไอซ์แลนด์ได้รับฉายาว่า เป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟ มีภูเขาไฟมากกว่าร้อยแห่ง น้ำพุร้อน แหล่งพลังงานความร้อนใต้โลก ภูเขาไฟหลายแห่งยังคงคุกรุ่นอยู่ เช่น ภูเขาไฟเฮกลา (Hekla) ซึ่งปะทุครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543
ตลอดสิบกว่าวันที่เราขับรถตระเวนไปทั่วเกาะที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยประมาณห้าเท่า จะเห็นภูมิประเทศรูปทรงแปลก ๆ งดงามไม่ซ้ำ อันเนื่องจากมีอายุทางธรณีวิทยาไม่นาน แผ่นดินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด
เมื่อปีที่แล้วในเดือนมีนาคม 2564 แค่สามสัปดาห์ได้ เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 50,000 ครั้ง บนคาบสมุทร Reykjanes ในประเทศไอซ์แลนด์ อันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่นิ่งของแผ่นดินที่กำลังเกิดใหม่บนเกาะไอซ์แลนด์
แต่ไอซ์แลนด์น่าจะเป็นประเทศไม่กี่แห่งในโลก ที่เราขับรถไปไม่กี่สิบกิโลเมตร จะเห็นภูมิประเทศไม่ซ้ำเดิม มีความหลากหลายจากความแตกต่างของชั้นหิน การสึกกร่อนของแผ่นดิน การกัดเซาะของน้ำ ได้ภาพน้ำตกอันตระการตา จนถึงเดินย่ำไปบนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และ มุดเข้าไปในถ้ำน้ำแข็งแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
วันแรกเมื่อเราเดินทางมาถึงเกาะน้ำแข็งแห่งนี้ ก่อนที่เราจะไปผจญภัยตามที่ต่าง ๆ สถานที่แห่งแรกที่เพื่อนสนิทดั้นด้นไปเป็นแห่งแรก และไม่ค่อยอยู่ในโปรแกรมเที่ยวของทัวร์ส่วนใหญ่เลย คือบริเวณอุทยานธรณี คาบสมุทร Reykjanes ที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงประมาณ 50 กิโลเมตร
เพื่อนสนิทบอกว่า
“ หากมาไอซ์แลนด์ ตรงนี้พลาดไม่ได้เด็ดขาด เป็นที่เดียวในโลก ที่จะมีโอกาสได้เห็นทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปยุโรปเกือบแนบชิดติดกัน ตรงบริเวณ Reykjanes”
เรายังสงสัยอยู่ตั้งนานว่าคืออะไร
พอรถขับไปตามกูเกิล ดั้นด้นมาถึงเนินเขาแห่งหนึ่ง พอปีนขึ้นไปเล็กน้อย ภาพที่เห็นคือร่องหินสองฟากลึกไม่กี่เมตร มีสะพานเล็ก ๆให้เดินข้าม
ฝั่งหนึ่งคือทวีปอเมริกาเหนือ อีกฝั่งคือทวีปยุโรป เราสามารถเดินข้ามทวีปได้ โดยผ่านสะพานสีขาวที่ทอดข้ามรอยแยกระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและอเมริกาเหนือ ในคาบสมุทร Reykjanes


บริเวณนี้ เป็นสถานที่เดียวในโลกที่พื้นที่ส่วนเล็กๆ ของสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก โผล่ขึ้นมาไม่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล โดยสันเขานี้เป็นที่ที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นคือ ยูเรเซียและอเมริกาเหนือ มาบรรจบกันแต่ไม่ติดกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ สันเขากลางสมุทรเป็นแนวขอบเขตรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกสองแผ่น เราจึงสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้งสองบนสะพานได้
สองทวีปที่มีมหาสมุทรแอตแลนติกคั่นกลางระยะทางนับพันกิโลเมตร แต่เราเดินข้ามทวีปได้ไม่ถึงนาที
พวกเราพากันเดินข้ามสะพานข้ามทวีป มีชื่อเรียกว่า “Leif the Lucky” ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่นาย Leif Erikson นักสำรวจชาวไอซ์แลนด์ และเป็นชาวยุโรปคนแรกที่พิชิตทวีปอเมริกาเหนือได้สำเร็จเมื่อพันปีก่อน ตามตำนานของชาวไอซ์แลนด์
ก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะค้นพบทวีปแห่งนี้ ชื่อนี้จึงเปรียบเสมือนการเชื่อมสองทวีปเข้าด้วยกัน
พอเราเดินถึงกลางสะพานจะมีแผ่นโลหะจารึกว่า “Midlina In the footsteps of the gods” เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแผ่นทวีปยูเรเซียกับแผ่นทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งสองฟากจะมีป้าย ″Welcome to America″ and ″Welcome to Europe.″
พอเดินข้ามสะพานผ่านสองทวีป และพากันเดินลงมาใต้สะพาน เพื่อสัมผัสสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทอดยาวจากอาร์กติกถึงแอนตาร์กติกา เดินสำรวจลักษณะหิน ส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ อันเป็นหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดหรือลาวาอย่างรวดเร็วบนพื้นผิวโลก ที่เห็นส่วนใหญ่มีสีเทาถึงสีดำ มีเนื้อละเอียด เป็นการยืนยันว่าเกาะแห่งนี้เกิดจากหืนหนืดหรือลาวาค่อยๆ ทับถมจนกลายเป็นเกาะ
ไม่น่าเชื่อว่า สันเขาที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลลึก จะโผล่ขึ้นมาให้มนุษย์ได้เห็นเพียงที่เดียวในโลก
เดินไปสักพักบริเวณแห่งนี้มีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวไว้ว่า
“ลองจินตนาการว่าคุณกำลังยืนอยู่บนแผ่นเพลทยูเรเซียน แผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่สุดในโลก แผ่นเพลทนี้ประกอบด้วยก้อนหินเก่าแก่ที่สุดในโลก ขณะที่แผ่นเพลทอเมริกาเหนือจะเคลื่อนตัวห่างออกไปทางตะวันตกของเพลทยูเรเซียน ทำให้เปลือกโลกสองแห่งค่อย ๆ แยกตัวออกจากกัน…”
“สะพานแห่งนี้มีความยาว 18 เมตร ข้ามหุบผาที่มีความลึกประมาณ 6 เมตร เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า เปลือกโลกทั้งสองกำลังเคลื่อนตัวแยกห่างจากกันสองเซนติเมตรต่อปี หรือสองเมตรทุกร้อยปี”
ร่องรอยจากลาวาของแนวสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก อธิบายว่าแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและอเมริกาเหนือมีการเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างต่อเนื่องด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ภายใต้รอยแยกที่แตกออก ซึ่งทำให้มหาสมุทรแอตแลนติกกว้างขึ้นทีละน้อย
ที่น่าสนใจคือ สันเขากลางมหาสมุทรไม่ได้มีเฉพาะมหาสมุทรแอตแลนติก แต่มีอยู่ทุกมหาสมุทรทั่วโลก และมีการเชื่อมต่อกันเป็นแนวเทือกเขากลางมหาสมุทรยาวที่สุดของโลก ถึง 80,000 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังค่อย ๆ ไขปริศนาของพื้นธรณีบริเวณนี้ที่ยังเป็นโลกใต้ทะเลอันลึกลับ ยากต่อการสำรวจ เพราะต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูงในการเก็บข้อมูลต่อไป
สำหรับผู้หลงใหลธรณีวิทยา คาบสมุทร Reykjanes แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแดนสวรรค์ ที่จะย้อนเวลาให้ได้เข้าใจการกำเนิดโลก เรื่องราวเกี่ยวกับภูเขาไฟ ทุ่งลาวา แผ่นดินไหว รอยแยก ชั้นหินต่าง ๆ น้ำพุร้อน และระบบความร้อนใต้พิภพได้เป็นอย่างดี
“จดจำภูมิประเทศแถวนี้ไว้ให้ดี หากอนาคตไม่กี่ปีคุณมาอีก ภูมิประเทศแถวนี้อาจไม่เหมือนเดิม” เพื่อนชาวไอซ์แลนด์คนหนึ่งบอกเรา ถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์บนภูมิภาคแห่งนี้
