ความแตกต่างระหว่าง leader กับ commander

วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์

ในรอบแปดปีที่ผ่านมา ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ดูเหมือนโอกาสที่จะมีผู้นำทางการเมืองคนอื่นขึ้นมาเปรียบเทียบการทำงานกับพลเอกประยุทธ์ แทบเป็นไปไม่ได้เลย

จนกระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เมื่อคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้มีภาพลักษณ์เป็น อินเทอร์เน็ตมีม ในฐานะ “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงแบบถล่มทลายมาเป็นอันดับ 1 คือ 1,386,215 คะแนน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่ากทม.

คนหนึ่งเดินหาเสียงทุกวัน ให้ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาอย่างสง่างามในตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร  ขณะที่อีกคนหนึ่งมาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ และสุดท้ายก็เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องเดินตามท้องถนน ลงสมัครรับเลือกตั้งให้ชาวบ้านเลือก แต่มาด้วยคะแนนเสียงจากสว. 250 เสียงที่พรรคพวกตัวเองเป็นคนแต่งตั้งกันเข้ามาในสภา

เพียงแค่ระยะเวลาไม่ถึงเดือน คุณชัชชาติมาพร้อมกับภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำแบบใหม่ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากผู้นำอีกคนหนึ่งที่อยู่มายาวนานถึงแปดปี

อะไรคือความแตกต่างในบทบาทของผู้นำทั้งสองคน

1 คนหนึ่งเห็นประชาชนเป็นลูกน้อง  เพราะเคยชินกับการเป็นนายพลมาตลอด เชื่อมั่นตนเอง ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง

อีกคนยึดถือความคิดกลุ่มเหนือความคิดตนเอง  เห็นประชาชนเป็นนาย เดินเข้าหา ข้าราชการ ชาวบ้านทุกฝ่ายเพื่อขอความคิดและความร่วมมือ

2 คนหนึ่งชี้นิ้วออกคำสั่งอย่างเดียว  มักพูดเสมอว่า “สั่งการไปแล้ว” แต่ไม่สามารถอธิบายแนวทางการแก้ไขปัญหาอะไรได้ชัดเจน เพราะไม่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ

อีกคนสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน  ลงไปทำงานกับผู้ปฏิบัติงาน รับฟังปัญหาจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาแก้ไข สามารถอธิบายแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจนว่า จะเดินทางไหน

3 คนหนึ่งลงพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นงานอีเว้นท์ เปิดตัว เปิดโครงการ เปิดการประชุม  กล่าวปาฐกถา  ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงยาก โดยมีชายหัวเกรียนห้อมล้อมคอยอารักขาเป็นขบวน  แม้แต่ปากกายังไม่ให้เข้าใกล้ ส่วนด้านนอก จะมีเสียงร้องของมวลชนจัดตั้งว่า “นายกฯสู้ ๆ”

อีกคนลงพื้นที่ตามลำพัง มีผู้ติดตามสองสามคน เพื่อจะได้เรียนรู้ รับฟัง และเข้าใกล้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด เพื่อจะแก้ไขได้ถูกทาง แต่ไปที่ไหนมีประชาชนห้อมล้อมคอยเป็นกำลังใจ

4 คนหนึ่งเวลาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มักจะเป็นคน เจ้าอารมณ์ ชอบสั่งสอน ขี้บ่น และพูดจาฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

อีกคนเวลาให้สัมภาษณ์ มักจะอารมณ์ดี รับฟังเสียงของคนอื่น ฉลาดในการตอบคำถาม และมีท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน

5 คนหนึ่งเวลาเกิดวิกฤติมักจะชอบพูดแก้ตัวว่า สั่งการลูกน้องไปแล้ว แต่มักมีข้ออ้างต่าง ๆว่า ทำไมถึงแก้ปัญหาไม่ได้

อีกคนลงไปคลุกหน้างาน รวมพลังทุกฝ่าย มีความมุ่งมั่นที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลทุกอย่างเป็นหลักสำคัญในการแก้ไข

6 คนหนึ่งมักชอบโบ้ย จะเอาแต่ตำหนิ โยนความรับผิดชอบไปให้กับลูกน้อง ทั้ง ๆที่ตัวเองเป็นคนรับผิดชอบสูงสุด

อีกคนทำงานเป็นทีม ร่วมกันรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น  จะปล่อยให้ผู้ร่วมงานตัดสินใจดำเนินการได้เอง ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากผู้บังคับบัญชา

7 คนหนึ่งพูดกับสาธารณชนทีไร ชอบบ่นว่าตัวเองทำงานหนักมาก ๆ แต่ไม่ยอมลาออก

อีกคนทำงานแต่เช้ามืด ไม่เคยบ่น บอกว่า เพราะอาสาเต็มใจเข้ามาทำงานเอง

8 คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทีไร ชอบแขวะคนอื่น โทษทุกคน โทษรัฐบาลสมัยก่อน ยกเว้นตัวเอง ทั้ง ๆที่อยู่มาแปดปี

อีกคนฉลาดในการตอบ พูดจาไม่ดูถูกใคร พูดจาเชิงบวก ให้กำลังใจทุกฝ่าย เพื่อขอความร่วมมือกับทุกคน

9    คนหนึ่งอยู่ในโลกเก่า ไม่ยอมปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ใช้แต่อำนาจ พูดบ่นแต่เรื่องเดิม ๆ

อีกคนอยู่ในโลกใหม่ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และพร้อมจะก้าวไปกับคนทุกยุค เพื่อนำพาสังคมให้อยู่รอด

10  คนหนึ่งอยู่มาแปดปีแล้ว ผลงานแทบไม่ปรากฎ ชาวบ้านเบื่อหน่ายมานาน  มองไม่เห็นอนาคตของประเทศ

แต่ตัวเองยังอยากอยู่ไปเรื่อยๆ

อีกคน ทำงาน ทำงาน ทำงาน  พูดอะไรออกมา เห็นแนวทาง หนทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

คนหนึ่ง เป็น Commander ออกคำสั่งอย่างเดียวแบบทหาร จากบนลงล่าง  หลงตัวเอง เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง

อีกคน เป็น Leader รับฟังคนอื่นทุกฝ่าย และชักจูงให้ผู้คนมาทำงานร่วมกันแบบเป็นทีม เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

ในการบริหารบ้านเมืองในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ  เราอยากได้ผู้นำแบบใด

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s