วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

ทุกครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปต่างจังหวัด มักจะเห็นสิ่งก่อสร้างหลายแห่งของทางราชการที่ใช้เงินภาษีของประชาชน สร้างเสร็จได้ไม่นาน แล้วโดนทิ้งร้าง หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
คนในวงการราชการทราบดีว่า แต่ละปีงบประมาณสำหรับการก่อสร้างของหน่วยราชการ กรม กอง องค์การอิสระ ไปจนถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น อบต.อบจ.ฯลฯ จะเป็นที่จับจ้องของหลายฝ่ายในการใช้งบประมาณ เนื่องด้วยงบก่อสร้างมีค่าใช้จ่ายสูง โครงการส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความชำนาญในการก่อสร้าง บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายเล็ก ๆ ก็สามารถประมูลงานได้
หากเป็นโครงการขนาดเล็ก งบประมาณไม่สูง ก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment ) แค่เสนอโครงการขึ้นมา อ้างเหตุผลความจำเป็นความเดือดร้อนหรือความต้องการของชาวบ้าน และเสนองบประมาณไปตามขั้นตอน รอการอนุมัติ
แต่ละปี เราจึงเห็นการจัดสรรงบประมาณ ไปลงที่ถนน ทางเดินฟุตบาท อาคารเอนกประสงค์ การสร้างฝาย และล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวหนาหูคือ เสาไฟฟ้ากินรี
เพื่อนในวงการราชการต่างจังหวัดเล่าให้ฟังว่า เหตุที่ต้องเป็นเสาไฟรูปกินรี เพราะหากแค่ก่อสร้างเป็นเสาไฟฟ้าธรรมดา ราคาประมูลค่าก่อสร้างจะไม่แพง แต่หากเป็นเสาไฟฟ้ากินรี จะถูกจัดประเภทให้เป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง สามารถตั้งราคาประมูลงานสูงขึ้นได้
ไม่แปลกใจที่จะเห็นเสาไฟฟ้ากินรี งานศิลปะผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด แต่ไร้ประโยชน์
เสาไฟฟ้ากินรีจึงเปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่ง ของคนที่อยากใช้งบประมาณ หากคิดอะไรไม่ออก
ล่าสุดผู้เขียนสังเกตถึงโครงการหนึ่งของราชการที่เริ่มเป็นข่าวบ่อยมากขึ้นทางภาคใต้ คือ กำแพงกันคลื่น
ในอดีตที่ผ่านมา ชายหาดหลายแห่งอาจจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะในบางฤดูกาล และไม่นานทรายก็จะถูกคลื่นซัดกลับเข้ามาเป็นหาดทรายเหมือนเดิมตามธรรมชาติที่หมุนเวียนมาเป็นเวลาช้านาน
แต่ระยะหลัง ทางราชการได้มีแนวคิดที่จะสร้างกำแพงกันคลื่น (Sea Wall) ยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเล ทำหน้าที่รับแรงปะทะของคลื่นที่วิ่งเข้ามาสู่ชายหาด โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
แม้ว่าในปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนักวิชาการทางทะเลหลายคน ได้มีหลักฐานชัดเจนพิสูจน์ว่า หลังจากการสร้างกำแพงกันคลื่นแล้ว จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามมา โดยเฉพาะบริเวณด้านท้ายน้ำช่วงสิ้นสุดโครงสร้างกำแพงกันคลื่น กำแพงกันคลื่นไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของคลื่น เกิดการสะท้อนกลับของคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะหน้ากำแพงกันคลื่น ทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับหอบนำทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปในทะเล นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดอีกด้วย
งานอ้างอิงถึงงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลก ระบุตรงกันว่า กำแพงกันคลื่นเป็น Dead of the Beach คือตัวการทำให้ชายหาด ชายฝั่ง หายไปตลอดกาล

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นปัญหาทั่วโลก ยังมีวิธีจัดการที่ดีกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่านี้
หาดทรายหลายแห่งที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พอมีโครงการกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น ได้ทำให้หาดทรายหายไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากลดลงทันที
ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เคยเป็นหาดทรายกว้าง ลงเล่นน้ำทะเลได้ ปัจจุบัน กรมโยธาธิการได้ก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นระยะทาง 3 กิโลเมตร งบประมาณเฉลี่ยกิโลละ 100 ล้านบาท ผลคือ หาดทรายชะอำหายไป เนื่องจากคลื่นปะทะกำเเพงกวาดทรายออกไป ด้านท้ายของกำเเพงมีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายแห่ง เกิดขึ้นมาท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ แต่ทางการก็ยังเดินหน้าโครงการต่อไปเรื่อย ๆ และเพิ่มจำนวนโครงการมากขึ้นหลายเท่าตัว ภายหลังจากที่ในปีพ.ศ. 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการปลดล็อก โครงการก่อสร้างกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่งทุกขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 200 เมตร ไม่ต้องมีกระบวนการศึกษา และประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยให้เหตุผลว่า EIA ทำให้เกิดการก่อสร้างล่าช้าไม่ทันการ รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันเยียวยาความเสียหายผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนริมชายฝั่ง
การยกเลิก EIA เป็นจุดเริ่มต้นที่โครงการนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนแวะไปเที่ยวชายหาดปราณบุรี ก็เจอสภาพน่าเศร้าใจว่า หาดทรายอันงดงามแทบจะหายไป เหลือแต่กำแพงคอนกรีตขั้นบันไดตามแนวชายหาดแทน แต่ยังพอเหลือชายหาดบางช่วงที่ยังไม่มีการสร้างกำแพงกันคลื่น
บ่ายวันนั้น นักกีฬาทีมชาติไคท์ฟอยล์ เเละคนรักชายหาดกว่า 50 คน รวมตัวที่ชายหาดปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เเสดงพลังร่วมปกป้องชายหาดผืนสุดท้ายจากกำเเพงกันคลื่น ของกรมโยธาธิการ ที่จะดำเนินการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นบนหาดปราณบุรี ความยาว 240 เมตร
นอกจากนั้นหาดทรายทางภาคใต้หลายแห่งก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน
1)หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียง เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จากเดิมบริเวณดังกล่าวไม่เคยมีการกัดเซาะชายฝั่งมาก่อน
2)หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายหาด เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บ้านเรือนและสวนมะพร้าวของประชาชนพังเสียหายจำนวนมาก
3)หาดเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา เกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากกำแพงกันคลื่น โดยกรมเจ้าท่า
4)หาดสำเร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเสร็จสิ้นในปี 2563 โดยกรมเจ้าท่า ก็เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง
5)หาดสะกอม จังหวัดสงขลา หลังจากก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมเจ้าท่า ชายหาดที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้วกัดเซาะหนักกว่าเดิม ยาวตลอดแนวชายหาดกว่า 1 กิโลเมตร ตัดเป็นหน้าผาลึกกว่า 8 เมตร ในบางแห่ง
หลายพื้นที่ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหลายจุด เช่นเดียวกัน มีการซ่อมแซมระยะยาวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่ปี พื้นที่ด้านล่างเกิดการกดทับ คลื่นกระทบกำแพงกั้น ทำให้คลื่นสูง โอกาสกำแพงพังมีมาก
ล่าสุดกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชาวบ้านหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ออกมาชุมนุมคัดค้าน โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ระยะทางความยาวกว่า 966 เมตร และใช้งบประมาณสูงถึง 79 ล้านบาท ทั้ง ๆที่บริเวณนั้นไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง แต่โครงการนี้จะทำให้เกิดกำแพงวางทับปิดชายหาดแม่รำพึงตลอดแนวชายหาด ส่งผลให้หาดทรายหายไป ทัศนียภาพอันงดงามของชายหาดถูกทำลายหมด
ภายหลังการยกเลิก EIA โครงการกำแพงกันคลื่น ปรากฏว่า มีการเสนอโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นบนชายหาดหลายพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวมเเล้วไม่ต่ำกว่า 50 โครงการ มูลค่าหลายพันล้านบาท ภายใต้การดำเนินการโดยหน่วยงานหลักๆ อย่าง “กรมโยธาธิการเเละผังเมือง” เเละ “กรมเจ้าท่า”
แม้ว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่า กำแพงกันคลื่น ไม่ได้ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ทำให้ชายหาดทรายหดหายไป ส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจและระบบนิเวศมากกว่า แต่การก่อสร้างหลายแห่งก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยไม่ใส่ใจเสียงคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ที่ส่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ
จับตาดูกันต่อไปว่า กำแพงกันคลื่นจะลงเอยแบบเสาไฟฟ้ากินรีหรือไม่
