
หลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนกรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย อดีตเมืองหลวงเก่า และเป็นบ้านเกิดของวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีผู้ปกครองประเทศมายาวนานร่วมยี่สิบปี
นครแห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1713-1918 และภายหลังจากการปฎิวัติรัสเซียในปีค.ศ. 1917 พรรคบอลเชวิคได้ย้ายเมืองหลวงไปที่กรุงมอสโก และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เลนินกราด เพื่อรำลึกถึงนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ผู้สามารถโค่นล้มพระเจ้าซาร์ลงได้สำเร็จ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อเดิมเมื่อไม่นานมานี้
ช่วงเวลาที่ไปรัสเซีย ตรงกับครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติรัสเซีย 1917-2017 มีการเฉลิมฉลองกันทั่วกรุง และมีนิทรรศการใหญ่ใน แอร์มิทาช (Hermitage Musuem ) พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งที่มีงานศิลปะในความครอบครองเป็นจำนวนราวสามล้านชิ้น และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในพระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace)
พระราชวังฤดูหนาว ในอดีตคือพระราชวังหลวงของราชวงศ์โรมานอฟยาวนานร่วมสองร้อยปี ระหว่างปี ค.ศ. 1732 ถึง 1917 พระราชวังแห่งนี้ถูกสร้างให้มีขนาดใหญ่มาก มีห้องมากกว่า 1,500 ห้อง เพื่อแสดงถึงอำนาจและความรุ่งโรจน์ของซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซีย และสถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการการปฏิวัติรัสเซียครบรอบ 100 ปี เพราะสมัยที่เกิดการปฏิวัติ มวลชนจำนวนมากได้บุกมายึดวังแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบอบกษัตริย์
หลังจากเมืองหลวงแห่งนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น เลนินกราด ได้ไม่กี่สิบปี สงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้นและเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ฮิตเล่อร์สั่งกองทัพนาซีบุกรัสเซียอย่างสายฟ้าแลบ ด้วยกำลังทหารเกือบ 3 ล้านนาย เป็นกองกำลังผสมของกองทัพเยอรมันและพันธมิตรบางส่วนคือกองทหารจากฟินแลนด์ อิตาลีและสเปน (ฟินแลนด์ขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน เพราะในปีค.ศ. 1939 เกิดสงครามฟินแลนด์-รัสเซีย เมื่อฟินแลนด์ปฏิเสธไม่ยอมยกดินแดนบางส่วนให้รัสเซีย ผลของสงครามรัสเซียชนะ ยึดเอาหลายพื้นที่ของฟินแลนด์ไปครอง พอเยอรมันบุกรัสเซีย ฟินแลนด์จึงเข้าร่วมโจมตีรัสเซีย)

ถือเป็นการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยแบ่งกองทัพเป็นสามทาง คือ เส้นทางเหนือเป้าหมายคือเลนินกราด เส้นทางกลาง คือยึดมอสโก และเส้นทางใต้คือบุกยูเครน โดยยึดเมืองเคียฟ
แม้จะทราบดีว่า หลังจากการบุกถล่มรัสเซียหลายปี สุดท้ายเยอรมนีไม่สามารถเอาชนะได้ ต้องล่าถอยกลับไปพร้อมความสูญเสียทางทหารมหาศาล และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่เหตุการณ์การล้อมปราบและปิดล้อมกรุงเลนินกราดของกองทัพนาซี ได้กลายเป็นโศกนาฎกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม Siege of Leningrad เป็นพิพิธิภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นจากการบุกโจมตีกรุงเลนินกราด
เมื่อเดินเข้าไปในอาคารตึกแห่งนี้ เป็นที่จัดแสดงเรื่องราวการต่อสู้ของชาวเลนินกราดที่ต่อสู้กับกองทัพเยอรมันอย่างเด็ดเดี่ยว มีภาพถ่าย เหตุการณ์เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด เห็นชีวิตของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาสู้กับผู้รุกราน จำลองชีวิตผู้คนยามสงคราม และจัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ประจำวัน ไปจนถึงอุปกรณ์ อาวุธยุทโธปกรณ์และ เครื่องแบบของทหารที่ยังหลงเหลืออยู่
เวลานั้นเลนินกราดมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 3ล้านกว่าคน เป็นเมืองท่าและฐานทัพเรือสำคัญของรัสเซีย เป็นเขตอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และเป็นที่ตั้งของโรงงานอาวุธจำนวนมาก
มีรายงานว่า เป้าหมายอันสูงสุดของฮิตเลอร์คือการเผาทำลายเลนินกราดให้ราบ มีการส่งคำสั่งไปแนวหน้าว่า หลังจากกองทัพนาซีโอบล้อมเมือง และทำลายล้างด้วยแรงระเบิด ไม่ต้องมีการเจรจาสงบศึกใด ๆ หรือเปิดโอกาสให้พลเรือนอพยพออกมา ทำลายเมืองให้พินาศ และลบล้างเลนินกราดให้หายไปจากพื้นโลก
กองทัพเยอรมันหลายแสนนาย ได้พากันปิดล้อมกรุงเลนินกราด ท่ามกลางการต่อสู้อย่างทรหดของทหารรัสเซีย เยอรมันได้วางแผนปิดล้อมเมือง ตัดขาดชาวเมืองจากการสื่อสารและเสบียงอาหารจากโลกภายนอก เพื่อจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้คำนวณว่า ภายในไม่กี่สัปดาห์ ชาวเมืองนับล้านคนจะต้องเริ่มอดตาย
ดูเหมือนฮิตเล่อร์ตั้งใจจะกวาดล้างเผ่าพันธุ์ของชาวสลาฟให้หมดสิ้นไปจริง ๆ จากความเกลียดชังชาวสลาฟไม่ต่างจากชาวยิว
22 กันยายน 1941 ฮิตเลอร์ได้ประกาศว่า “….เราไม่ได้ประโยชน์ในการรักษาชีวิตของประชากรพลเรือน”,,,,, “เลนินกราดจะต้องตายด้วยความอดอยาก”
ช่วงเวลาที่เยอรมันปิดล้อม 8 กันยายน 1941 – 27 มกราคม 1944 รวม 872 วัน ด้วยการปิดถนน ทางรถไฟทุกเส้นทางที่มุ่งสู่เลนินกราด และยิงปืนถล่มเมือง เป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุ่ดของชาวเมือง
ภาพเก่าที่จัดแสดง แสดงให้เห็นถึงชาวเมืองเลนินกราด ต่างระดมกำลังออกมาปกป้องเมืองอย่างเต็มที่ ภาพชาวเมืองร่วมแรงร่วมใจกันสร้างป้อมปืนจากไม้และคอนกรีต สร้างรั้วลวดหนาม สนามเพลาะ คูน้ำป้องกันรถถัง ท่ามกลางการยิงถล่มจากฝ่ายเยอรมันด้วยปืนใหญ่และเครื่องบินที่บินมาทิ้งระเบิดแบบปูพรมแทบทุกวัน
สภาสามัญของฝ่ายปกครองเลนินกราดได้จัดตั้ง “กลุ่มตอบโต้แรก” ของพลเรือน และประชากรจำนวนกว่าล้านคนถูกระดมเพื่อสร้างป้อมปราการ แนวป้องกันหลายแนวถูกสร้างขึ้นตามปริมณฑลของเมืองเพื่อขับไล่กองทัพข้าศึกที่เข้ามาใกล้จากทางเหนือและทางใต้ด้วยวิธีต่อต้านของพลเรือน
ผู้เขียนสะดุดตากับเรื่องราวของเหล่านักแม่นปืนอาสาสมัคร ที่เป็นอาวุธลับในการทำลายขวัญของศัตรู โดยบรรดานักแม่นปืนพลเรือนนับพันคนได้เข้าสู่แนวหน้า พร้อมปืนไรเฟิลและกล้องเล็ง โดยเฉลี่ยนักแม่นปืนหนึ่งคนจะฆ่าทหารเยอรมัน 10-50 คน
นิทรรศการอีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงความอดอยากในเมืองเลนินกราด มีการบันทึกว่า ผลพวงของความอดอยาก ทำให้ชาวเมืองได้รับปันส่วนอาหารเป็นก้อนขนมปัง 125 กรัมต่อวัน โดยส่วนผสมครึ่งหนึ่งคือขี้เลื่อยและสิ่งที่กินไม่ได้ ชาวเมืองต้องเอากระเป๋า เข็มขัด รองเท้าหนังมาต้มกิน มีไดอารีของเด็กชายวัยสิบขวบบันทึกการกินเนื้อแมวด้วยความหิวโหย ในขณะที่แต่ละเดือนมีคนอดตายนับแสนคน ภาพรถบรรทุกนำศพหลายพันมาทิ้งลงหลุมขนาดใหญ่
เมื่อเข้าหน้าหนาว จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากความหนาวยะเยือก การขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ทุกแห่งหนประชาชนต้องเผาหนังสือ เฟอร์นิเจอร์ พื้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ผิงไฟป้องกันความหนาวตาย
และพอฤดูใบไม้ผลิมาถึง อากาศอบอุ่นขึ้น น้ำแข็งเริ่มละลาย ชาวเมืองต้องมีภาระช่วยกันฝังศพคนที่หนาวแข็งตาย ก่อนที่ศพจะเน่าเปื่อย จนเกิดโรคระบาด ประมาณว่าหน้าหนาวมีคนหนาวตายประมาณสองแสนคน
ภายในพิพิธภัณฑ์ มีรูปถ่ายแสดงชีวิตของเด็กระหว่างการปิดล้อม ประมาณว่ามีเด็กร่วมสี่แสนคนที่ติดอยู่ในกรุง ช่วงแรก ๆของสงคราม โรงเรียนยังเปิดทำการสอนอยู่ แต่เมื่อถูกทิ้งระเบิด โดยไม่สนใจว่าเป็นโรงเรียนหรือโรงพยาบาล การเรียนการสอนจึงยุติลง และโรงเรียนต้องเปลี่ยนเป็นสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายไป โดยทุกวันอาสาสมัครจากกาชาดจะไปสำรวจตามตึกที่โดนถล่มหรือถูกทิ้งร้างว่ามีเด็กมีชีวิตรอดหรือไม่ เพื่อนำกลับไปดูแล โดยมีตัวเลขเด็กกำพร้าสูงนับหมื่นคน
มีการจัดแสดงไดอารี่ของ Tanya Savicheva เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่เล่าเรื่องความอดอยากและคนใกล้ชิดที่ค่อย ๆตาย “พี่สาว คุณยาย พี่ชาย คุณลุง ลุงคนอื่น ๆ และแม่ตายแล้ว ทุกคนตายหมดแล้ว เหลือแต่ tanya ไว้เพียงคนเดียว” ต่อมาเธอเสียชีวิตด้วยโรคขาดอาหารอย่างรุนแรง
แต่อีกด้านหนึ่ง นิทรรศการยังถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของศิลปิน นักแสดง จิตรกร นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเขียนที่ยังทำงานตลอดเวลา เพื่อสร้างความบันเทิง ความหวังให้กับชาวเมืองมีชีวิตชีวา แม้ท่ามกลางสงคราม ในโรงละครยังมีการแสดงบัลเล่ต์ หรือการแสดงของวงออร์เคสตร้าเป็นประจำ เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป เสียงเพลงที่แว่วออกมาด้านนอก เพื่อปลุกใจให้ผู้คนได้ร่วมใจกันต่อสู้กับศัตรูต่อไป

ตลอดการปิดล้อมเกือบเก้าร้อยวัน มีเครื่องบินทิ้งระเบิดมากกว่า 100,000 เที่ยว การระดมยิงด้วยปืนใหญ่นับล้านลูก แต่สุดท้าย จากความทรหดของชาวเลนินกราดทั้งมวลที่ร่วมกันต่อสู้ยิบตาก กองทัพเยอรมันก็ไม่สามารถยึดครองกรุงเลนินกราดได้ จำต้องล่าถอยออกไปในที่สุด
มีผู้คนอดตายและเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดในช่วงปิดล้อมร่วม 900 วัน ประมาณ 1,500,000 คน การทำลายทางเศรษฐกิจและความสูญเสียมนุษย์ในเลนินกราด มีมากกว่าการบุกสตาลินกราด และมอสโก เพราะฮิตเล่อร์ตั้งใจจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวสลาฟให้หมดสิ้น
ขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินชมนิทรรศการ มีเด็กนักศึกษาหนุ่มสาวชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่ง มาดูนิทรรศการ และอาจารย์ท่านหนึ่งกำลังบรรยายเรื่องราวโศกนาฎกรรมและความโหดร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นกับชาวเลนินกราดในอดีต
แปดสิบปีผ่านไป ชะตากรรมเดียวกันกำลังเกิดขึ้นกับชาวยูเครน ที่ถูกปิดล้อมและถูกยิงถล่มอย่างหนักในหลายเมือง ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ด้วยน้ำมือกองทัพรัสเซีย ไม่ต่างจากชาวรัสเซียโดนทหารเยอรมันถล่มและปิดล้อมกรุงเลนินกราด
ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย
