
“หัวใจอยากเดินต่อ แต่ขาเตือนสติว่าพอแล้ว”
ไม่แปลกใจนัก หากคำพูดนี้มาจากคนทั่วไปที่กำลังเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล
แต่บนความสูงในระดับพันกว่าเมตร กลางดงป่าสน ระหว่างทางสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว อาจารย์รตยา จันทรเทียรในวัย 91 บอกกับผู้เขียนและคณะที่ร่วมเดินทางมาให้กำลังใจ
ใครจะคิดว่า จะมีผู้ใหญ่วัยเกือบร้อย หัวใจแกร่งมาเดินขึ้นภูเขาสูงอันดับสามของประเทศ
……………..
สองปีก่อนหน้านี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว มีโครงการปล่อยกวางผา สัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์กลับคืนสู่ธรรมชาติบริเวณดอยเชียงดาว และมีแนวคิดอยากจะสร้างอาคารจุดสกัด บริเวณแยกปางวัว เพื่อเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการติดตามดูแลกวางผาระหว่างการปรับตัวในระยะแรกที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ
จุดสกัดปางวัวมีความสำคัญ อยู่กึ่งกลางป่าก่อนขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว จึงเหมาะในการมีหน่วยย่อยของเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ ป้องปรามผู้ที่จะมาลักลอบล่าสัตว์ป่า ตลอดจนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหากได้รับอุบัติเหตุได้ทันท่วงที
อ.รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เป็นตัวหลักในการประสานความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อระดมทุนมาสร้างอาคารหลังเล็ก ๆ
ไม่นานนัก อาคารก็ค่อย ๆ ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะอุปกรณ์การก่อสร้างทั้งหมด ต้องเดินเท้าแบกขึ้นเขาเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ด้วยความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจากภายนอก ที่ระดมกำลังผลัดเวรกันขึ้นมาช่วยกันก่อสร้างจนสำเร็จ
ระหว่างนั้นเอง อ.รตยา ได้เปรยกับผู้ใกล้ชิดว่า เมื่ออาคารสร้างเสร็จแล้ว จะขอเดินขึ้นเขาไปดูด้วยตัวเอง
ผู้ใกล้ชิดต่างทราบดีว่า ตลอดชีวิตของ อ.รตยา “หญิงเหล็กแห่งวงการนักอนุรักษ์” มีความมุ่งมั่นอะไรแล้ว ไม่เคยยอมแพ้ง่าย ๆ
ท่านบอกคนรอบข้างว่า จะฝึกร่างกายออกกำลังเตรียมตัวขึ้นดอย เป็นความฝันสำคัญในบั้นปลายของชีวิต
………
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนเคยเดินป่ากับอ.รตยา
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบสามสิบปี หลังการตายของคุณสืบ นาคะเสถียร ในปีพ.ศ. 2533 บรรดาผู้คนในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และลงความเห็นว่า จะเชิญรตยา จันทรเทียร ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติในเวลานั้น มาดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบ ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ที่ท่านยินดีรับตำแหน่ง
“คุณสืบยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต แล้วเราเป็นใคร แค่ต้องรับหน้าที่เป็นประธาน ทำไมจะเสียสละไม่ได้”
อ.รตยา เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่มีคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นแกนนำเพื่อคัดค้านและยับยั้ง การสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจนเป็นผลสำเร็จ

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อ.รตยา ในวัย 60 ขับรถด้วยตัวเอง มานั่งทำงานที่มูลนิธิสืบทุกวันเป็นเวลายี่สิบกว่าปี เพื่อหวังจะให้อุดมการณ์ของคุณสืบปรากฏเป็นจริง ในการรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศให้อยู่รอดได้สำเร็จ
โดยยึดมั่นแนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” และพยายามทำให้สังคมตระหนักร่วมกันว่า
“ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต”
ท่านเดินทางเข้าป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าหลายแห่งในประเทศ เมื่อเห็นปัญหาการทำลายป่าด้วยตัวเอง และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ชาวบ้านในชุมชนป่าลึก อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย แม้ต้องเดินป่าเป็นระยะทางหลายชั่วโมง ค้างแรมในป่าเป็นประจำ จนได้รับฉายาว่า “นางสิงห์เฝ้าป่า”
“งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ เพราะว่ามนุษย์ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการอยากได้ แล้วคนที่คิดว่าอยากได้มันมากกว่าคนที่คิดจะรักษา งานอนุรักษ์จึงต้องดำเนินไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น”
ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภายใต้การนำของอ.รตยา กลายเป็นองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติอันดับต้น ๆ ของประเทศ ผู้คนจำนวนมากต่างฝากความหวังในการดูแลปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า
หลายครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสร่วมเดินป่ากับท่านเป็นระยะทางนาน ๆ และค้างแรมในป่า ตั้งแต่ท่านอายุ 60 กว่า 70 กว่า และอายุ 80 กว่า การเดินป่าของท่านก็ไม่ได้ลดถอยลงอย่างมีนัยะสำคัญ
นั่นคือความสุขอันแท้จริงของท่าน ผู้หน้าตาอิ่มเบิกบานทุกครั้ง เมื่อต้องเดินทางเข้าป่าสัมผัสกับธรรมชาติ นอนในป่า หากโชคดีได้เจอเพื่อนร่วมโลกหลายชนิด ช้าง เสือดาว เสือโคร่ง เก้ง กวาง กระทิง วัวแดง ฯลฯ ฟังเสียงนกร้อง อาบน้ำในลำธาร แทบไม่ต่างจากชีวิตในวัยเด็กต่างจังหวัดเลย
อ.รตยา จันทรเทียร เกิดเมื่อวันที่ 11ธันวาคม พ.ศ. 2474 เติบโตในสวนผลไม้ เมืองจันทบุรี ในวัยเด็ก เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย และคุณพ่อต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งนายอำเภอพรหมโยธี จังหวัดพระตะบอง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในช่วงสงคราม จึงต้องเดินทางผ่านป่าใหญ่จนไปถึงเมืองพระตะบอง ในสมัยที่แผ่นดินเขมรตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของไทย และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ท่านได้สัมผัสป่าจริง ๆ และประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน
“ ทางเดินที่ไปเป็นป่าโปร่งทอดยาวไปจนเป็นป่าดิบ พอไปถึงลำธาร เราเห็นน้ำใส มีผีเสื้อสารพัดสีบินมาเป็นฝูงนับร้อยๆ ตัว เรียกว่าประทับใจมากเลยที่ได้เห็นป่า ได้เห็นลำธาร เห็นสิ่งมีชีวิต”
ความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติ มีส่วนทำให้อาจารย์ตัดสินใจเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบได้ทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมเขตร้อน ที่สถาบัน Pratt Institute รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมารับราชการ จนเกษียณอายุในปีพ.ศ. 2535 แต่ไม่เคยละทิ้งการทำงานเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติมานานกว่า 40 ปี ตราบจนถึงปัจจุบัน
แม้จะมีตำแหน่งสูงในวงราชการหรือภาคเอกชน แต่อาจารย์บอกตัวเองเสมอว่า เป็นมดงาน ไม่ใช่ มดนางพญา จากนิสัยที่เรียบง่าย เป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง และชอบทำงานลงพื้นที่ศึกษาเห็นปัญหาด้วยตัวเองจริง ๆ มากกว่านั่งทำงาน อ่านเอกสารประชุมในห้องแอร์ มาตลอดชีวิต
เป็นมดงานที่ชอบเห็นการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเกิดจากคนตัวเล็ก ๆ ไม่กี่คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่ต่างจากอาคารหลังเล็ก ๆ ในป่าแห่งนี้ ที่อาศัยมดงานตัวเล็ก ๆ หลายคนมาช่วยกันสร้างจนสำเร็จ
ปลายเดือนมกราคม 2565 ในคืนอันหนาวเหน็บ อ.รตยา จันทรเทียร ได้เดินทางด้วยรถยนต์ขึ้นมาพักแรมที่หน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว เพื่อเตรียมตัวเดินป่า
เช้าวันรุ่งขึ้น อ.รตยา พร้อมไม้เท้าเริ่มต้นเดินขึ้นเขา ผ่านทิวป่าสน และทางเดินแคบ ๆที่ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน เป้าหมายคืออาคารจุดสกัดปางวัวที่ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร

จังหวะก้าวของอาจารย์ไม่ได้ช้าไปกว่าจังหวะก้าวของผู้ติดตามที่มาให้กำลังใจเลย นอกจากบางช่วงที่เดินขึ้นสู่ทางชัน ต้องช่วยกันประคอง ช่วยกันพยุงเพื่อความปลอดภัย
ผ่านมาได้ครึ่งทาง อาจารย์บอกว่า พอแล้ว ก่อนจะนั่งพักลงด้วยความสบายใจ และพูดว่า
“หัวใจอยากเดินต่อ แต่ขาเตือนสติว่าพอแล้ว”
ราวกับรู้ว่า หนทางข้างหน้าค่อนข้างเดินลำบาก เริ่มไต่ระดับสูงชัน พื้นลื่นเกินไปจากฝนที่ตกเมื่อวาน
อาจารย์หยุดพัก ไม่ฝืนสังขารตัวเอง ปล่อยให้คณะเดินไปถึงจุดหมาย ส่วนตัวเองเดินทางกลับที่พัก นั่งดื่มกาแฟรอทีมงานกลับมาอย่างสบายใจ
ความสุขเล็กๆของคนวัย 91
“ทุกวันนี้ไม่ซีเรียสกับเรื่องอยู่หรือตาย พูดได้ว่าอายุเกินมามากแล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ แต่อาจารย์โชคดี ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมาตลอดตั้งแต่สาวจนแก่ (หัวเราะ)”
