
ตลอดระยะเวลาร่วมสามสิบปี คุณเอื้อย พรรณประภา ตันติวิทยาพิทักษ์ ใช้ชีวิตอยู่บนท้องฟ้าและเดินทางไกลมากกว่าผู้คนจำนวนมาก ในฐานะพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือแอร์โฮสเตส
หากนับเป็นระยะทางของอาชีพนี้ คุณเอื้อยคงโบยบินไปทั่วโลกมาหลายล้านกิโลเมตร
จนกระทั่งเมื่อวัยห้าสิบเริ่มต้น เธอได้เลือกเส้นทางชีวิตแบบใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพเดิมเลย คือนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้
หากใครเป็นคนเมืองชลบุรี อาจจะเคยขับรถผ่านโรงไม้เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัด คือ ไต้ลิ้มค้าไม้ ริมถนนสายบางนา-ตราด
พิมล จิระณานนท์ บิดาของคุณเอื้อย เป็นผู้ก่อตั้งไต้ลิ้มค้าไม้เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ไต้ เป็นภาษาจีนแปลว่าใหญ่ ลิ้มแปลว่าป่า สองคำนี้จึงมีความหมายถึงป่าใหญ่ และต่อมา ไต้ลิ้ม ได้กลายเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ของคุณเอื้อย ผู้บุกเบิกแบรนด์นี้มาได้ไม่นาน
“สมัยเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน ป๋าพายเรือขายถ่านไม้โกงกางและไม้ไผ่ในคลองประเวศ และต่อมาไปทำงานอยู่โรงเลื่อยไม้ในจังหวัดอุดรธานี จึงรู้ช่องทางค้าไม้ จึงกลับมาเปิดโรงค้าไม้รับไม้ตามโรงเลื่อยต่างจังหวัดมาขายในกรุงเทพ และต่อมาเปิดร้านขายไม้แถวพระโขนง แล้วมีกิจการเรือประมงจับปลามาขายแถวปากน้ำด้วย” คุณเอื้อยลูกสาวคนโต ได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของคุณพ่อให้ฟัง
“ประมาณปีพ.ศ. 2510 ป๋าเป็นเจ้าของเรือประมงสองลำ แล้วทุกปีต้องขูดเพรียงที่มาเกาะลำตัวเรือ เพรียงทำให้ไม้ผุ ต้องมาที่อู่เรือแถวปากน้ำ ยกเรือขึ้นมาวางบนคานเรือ แล้วขูดเพรียงออกพร้อมกับทาสีเคลือบเนื้อไม้ใหม่ไม่ให้ผุ แต่ระยะหลังอู่เรือเต็มตลอด เพราะเรือเยอะ ต้องเสียเวลารอนานมาก ป๋าเลยคิดจะหาที่มาทำคานเรือเอง จึงมาหาซื้อที่ดินแถวตำบลคลองตำหรุ ชลบุรี ด้านหน้าติดถนนใหญ่ มีด้านหลังติดคลองไปออกแม่น้ำบางปะกงได้ พอได้ที่แปลงนี้ก็เอาเรือมาจากปากน้ำ อ่าวไทย เข้ามาที่นี่แทน มาซ่อมแซมประจำปีเช่นขูดเพรียง ทาสี “
จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่ทำคานเรือซ่อมเรือประมงของตัวเอง ก็มีคนแถวนี้เอาเรือมาจ้างขูดเพรียงด้วย ทำไปทำมา เลยกลายเป็นอู่ต่อเรือ และเปิดโรงไม้ ไต้ลิ้มค้าไม้ ทำธุรกิจโรงเลื่อย ขายไม้ปลูกบ้าน ไม้ต่อเรือ ไม้ต่อรถบรรทุก รับต่อเรือประมงและเรือยอร์ท

คุณเอื้อยพาผู้เขียนเดินสำรวจโรงไม้ไต้ลิ้ม บนพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยกองไม้กองอยู่เป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นไม้เก่าเก็บอายุหลายสิบปี ที่ปัจจุบันขายยากขึ้น จากความเปลี่ยนแปลง
“จำได้ว่าตอนที่ป๋ายังต่อเรืออยู่ ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะไม้ตะเคียน เป็นไม้แข็งมาก ทนน้ำทนผุ ส่วนข้างในเก๋งเรือ ก็เป็นไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้แดง มีลวดลายสวยมาก และไม่ได้ราคาแพงเหมือนปัจจุบัน”
แต่แล้วเมื่อเกิดพายุเกย์ถล่มอ่าวไทยในปีพ.ศ. 2532 มีเรือประมงจำนวนมากเสียหาย จนเจ้าของเรือต้องเลิกกิจการไป และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่อเรือของอู่ต่อเรือแห่งนี้ กิจการต่อเรือเริ่มซบเซาลง จนคุณพิมลต้องเลิกกิจการอู่ต่อเรือ
“ ตอนนั้นลูกค้าต่อเรือมาจากทางใต้ พอเรือล่มจากพายุเกย์ ก็เจ๊งหมดต้องเปลี่ยนอาชีพ ไม่มาซื้อเรือของป๋า เรือที่เราขึ้นโครง กระดูกงูบนคานเรือสามสี่ลำ ก็ไม่มีคนมาซื้อ ขณะเดียวกัน รายได้จากขายไม้แปรรูปไปต่อรถพ่วงก็ลดลงอีก”
ในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับไม้จะเริ่มซบเซาลงเรื่อย ๆ
“ สมัยนั้น รถพ่วงหรือรถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นตู้เหล็กแบบสมัยนี้ แต่ใช้ไม้มาประกอบเป็นโครงรถ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกซุง หรือรถพ่วงชนิดต่าง ๆ เรียกกันว่า รถสาลี่ ที่จังหวัดชลบุรี มีอู่ต่อรถพ่วงเยอะมาก เพราะรถบรรทุกสมัยก่อน เจ้าของรถจะซื้อมาเฉพาะหัวรถ และมาจ้างอู่ต่อรถประกอบโครงรถ และพื้นรถด้วยไม้เป็นหลัก แต่ระยะหลังพอเปลี่ยนเป็นตู้เหล็ก เราก็ขายไม้ลดลง “
โรงไม้ไต้ลิ้ม จึงเปลี่ยนมาเน้นการขายไม้แปรรูปสำหรับปลูกบ้านเช่นไม้พื้น บันได ไม้ฝา รับทำวงกบ บานประตู บานหน้าต่าง โดยใช้ไม้เนื้อแข็งเช่นไม้มะค่าโมง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ตะเคียนทอง และไม้เต็ง
แต่ช่วงหลัง มีวัสดุทดแทนไม้แปรรูปมากขึ้น บ้านต่าง ๆ ก็นิยมใช้จากราคาที่ถูกกว่า และเมื่อผู้คนนิยมอาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น ความต้องการใช้ไม้ในการสร้างบ้าน หรือแต่งบ้านก็ลดน้อยลงตามยุคสมัย
“สมัยก่อนหมู่บ้านจัดสรรไม่เยอะ คนนิยมมาซื้อไม้ไปสร้างบ้านทั้งหลัง แต่เมื่อมีหมู่บ้านจัดสรรมากขึ้น เจ้าของโครงการก็ใช้วัสดุทดแทนมากกว่าไม้จริง อย่างไม้เต็ง ตะเคียน ทำโครงสร้างพวกเสา คานไม้ได้ดี แต่เดี๋ยวนี้โครงสร้างบ้านกลายเป็นเหล็กไปเกือบหมด”
วันเวลาผ่านไป ลูก ๆโตขึ้น ต่างคนมีอาชีพการงานของตัวเอง แต่เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตลงในปีพ.ศ. 2538 แม่ผู้อายุมากขึ้นมารับช่วงกิจการแทนพ่อ จนลูก ๆเริ่มคิดว่า วันหนึ่งต้องกลับมาดูแลกิจการโรงไม้ที่ซบเซาลงเรื่อย ๆ
“ จำได้ว่าป๋าเคยจ้างให้ออกจากการบินไทย เพื่อมาช่วยป๋าทำงานที่โรงไม้ แต่ก็ไม่ยอมลาออก เพราะรู้สึกสบาย ได้เที่ยวด้วย แต่พอป๋าตาย ก็เริ่มคิดมากขึ้น ระหว่างเป็นแอร์ ลึกๆก็คิดถึงโรงไม้ของป๋าตลอดเวลา กลับมาบ้าน เดินรอบโรงไม้ ถามตัวเองบ่อย ๆว่าไม้เก่าเก็บเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง แต่คิดไม่ออกว่าจะทำอะไร จนกระทั่งน้องสาวก็มีไอเดียว่า จะออกแบบพวกโต๊ะ เก้าอี้ไม้มาออกบูทขายที่งานสวนหลวงร.9 ปีละครั้ง”
ปี 2549 ไต้ลิ้มค้าไม้ เริ่มทำโต๊ะ เก้าอี้สนาม และเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งด้วยเห็นว่าไม้เนื้อแข็งดีๆเป็นของมีค่าและนับวันจะหายากขึ้น การทำเฟอร์นิเจอร์นอกจากจะใช้ไม้เหล่านี้ให้คุ้มค่าแล้ว ยังเพิ่มคุณค่าให้กับงานไม้ได้อีกด้วย แบบของเฟอร์นิเจอร์ในปีแรกๆ จะพัฒนามาจากงาน DIY โดยจะพัฒนาและเสริมรายละเอียดให้งานแต่ละชิ้นแข็งแรงทนทานและใช้งานได้นาน
“ตอนนั้นลองทำดู โดยมีรุ่นพี่สถาปนิก คุณประกาสิต แย้มบุญชู ช่วยออกแบบเก้าอี้ โต๊ะทานอาหาร และม้านั่ง แนว contemporary ซึ่งมีรูปทรงร่วมสมัย มี form & function ที่ลงตัวโดยเน้นโครงสร้างที่แข็งแรง และนั่งสบาย ทำให้ไต้ลิ้มค้าไม้ ได้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็ง handmade คุณภาพดีส่งมอบให้กับลูกค้าที่รักงานไม้
แต่ทำได้สักพักน้องสาวก็ย้ายครอบครัวไปอยู่นิวซีแลนด์ เราเลยมาช่วยดูแลแทน ไปขายที่สวนหลวงร.9 ทุกปี มีลูกค้าชมว่า งานเฟอร์นิเจอร์ไม้สวย และรุ่นพี่คนหนึ่งที่อยู่วงการเฟอร์นิเจอร์ บอกว่า น่าจะทำจริงจัง ไปขายในงาน “บ้านและสวน” แต่เราคิดหนัก เพราะค่าที่แพงมาก สุดท้ายก็ตัดสินใจไปจองบูท น้องสาวสังเกตเห็นชื่อร้านค้าในงานส่วนใหญ่มีแต่ชื่อฝรั่ง เลยใช้ชื่อร้าน ไต้ลิ้ม TAILIM ให้ดูแตกต่างไปเลย”
พอเริ่มเป็นแบรนด์ “TAILIM”ชัดเจนขึ้นมา และการลงทุนสูงมากขึ้น เฉพาะค่าจองบูทในงานประมาณสองแสนบาท คุณเอื้อยจึงเริ่มคิดจริงจังว่า การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้คงต้องจริงจังแล้ว การลาออกจากอาชีพเก่าจึงเกิดขึ้น
ปี 2558 คุณเอื้อยก็ลาออก เออรี่ รีไทร์มาจากการบินไทย และบอกแม่ว่า จะขอเวลาห้าปี จะทำให้ร้านไม้แห่งนี้ เป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไม้มีคุณภาพให้ได้
“ตอนแรกก็ไม่รู้เรื่องการออกแบบเลย แต่ก็เป็นความหลอนมาตลอดว่า ถ้ามีคนในบ้านเรียนออกแบบมาสักคน ก็จะมีประโยชน์มากในการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ พอลาออก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อยากเรียนออกแบบให้ได้ ก็เลยไปเรียนที่ สถาบันออกแบบนานาชาติ ชนาพัฒน์ เรียนสองปีเต็ม “
โบราณบอกว่า ชีวิตคนเราเริ่มต้นเมื่ออายุ 50 ปี
คุณเอื้อยในวัยห้าสิบต้น ๆ กลับมาเป็นนักเรียนออกแบบ แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานอะไรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเลย ไม่ว่าการวาดรูป การใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมออกแบบต่าง ๆ
“ เราน่าจะเป็นนักเรียนที่อายุมากและด้อยประสบการณ์มากที่สุด ตอนเรียนซับเฟอร์มาก เพราะไม่เคยมีพื้นฐาน เคยวาดแต่การ์ตูน แต่นี่ต้องวาดภาพแบบ perspective วาดภาพสามมิติ ไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียนไปร้องไห้ไป เพราะเหมือนอยู่กันคนละโลก
“ โชคดีที่ครูผู้สอน Daniel Martinez เขาสอนเก่งมาก และรู้จุดอ่อนจุดแข็งของเราว่า เราจะออกแบบอะไรได้ดี”

สามีบอกว่า ถ้ามันปวดใจขนาดนี้ ก็เลิกเรียนเลย แต่ให้ถามตัวเองก่อนว่า ที่ผ่านมาพยายามถึงที่สุดหรือยัง สุดท้ายก็ฮึดสู้ “
“ตอนนั้น จำคำพูดป๋าได้แม่นเลย ป๋าชอบพูดว่า “คนเป็นไม่ใช่คนตาย” ตอนแรกไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร แต่มาตอนนี้เข้าใจชัดเจนว่า คนเป็นยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องคิดแก้ปัญหาไปสิ ไม่ใช่คนตายแล้วนอนในโลงนิ่ง ๆ”
สองปีต่อมา คุณเอื้อยก็ได้กลายมาเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ เธอได้กลับมาฟื้นฟูกิจการโรงไม้เก่าของคุณพ่อ จากโกดังเก็บไม้กลายเป็นร้านทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ และแบรนด์ของ ไต้ลิ้ม ที่คนรุ่นเก่ารู้จักในฐานะโรงไม้คุณภาพสูง กลายเป็นแบรนด์ของเฟอร์นิเจอร์ไม้คุณภาพสูง
“ สิ่งที่ได้จากการเรียน นอกจากพื้นฐานการออกแบบ product design แล้ว สิ่งที่ได้คือ วิธีคิด อาทิ ถ้าจะออกแบบเก้าอี้ตัวใหม่ จะได้วิธีคิดชัดเจน ออกแบบให้ใคร ใครคือผู้ใช้ มี function อะไร และใช้กับ space แบบไหน ฯลฯ เราต้องตอบคำถาม What Where When Why How ได้ให้หมด ก่อนจะออกแบบ”
วิชาสุดท้ายก่อนจบ คือการออกแบบเก้าอี้ตัวหนึ่ง โดยครู Daniel ได้ให้การบ้านไปหารูปเก้าอี้ที่ชอบมาสิบตัว และค่อย ๆ วิเคราะห์เก้าอี้แต่ละตัวว่าเป็นอย่างไร ทำด้วยวัสดุอะไร และทำไมเราชอบ จนกระทั่งให้ออกแบบเก้าอี้ที่เราชอบสิบตัวตามสไตล์ของเรา เริ่มจากการทำโมเดลด้วยกระดาษ จนพัฒนากลายมาเป็นเก้าอี้ต้นแบบของเราแค่ตัวเดียว
“ในบรรดา product design ทั้งหมด ออกแบบเก้าอี้ยากสุด อย่างออกแบบโต๊ะมีมาตรฐานเหมือนกัน สูง 75 เซนติเมตร แต่เก้าอี้ต้องออกแบบให้นั่งสบาย ถ้าฟอร์มสวยแต่นั่งไม่สบาย ก็ไม่ตอบโจทย์ เก้าอี้ต้องมีองศาในการเอียง ที่รับกับพนักพิง หากพนักพิงตรงก็นั่งไม่สบาย การออกแบบเก้าอี้ให้สบายจึงปราบเซียน”
จากแบบที่วาดในกระดาษ คุณเอื้อยเริ่มพัฒนาเป็นเก้าอี้ไม้จริง ๆ แต่ต้องผ่านการทำโมเดล 1:5 ด้วยกระดาษและไม้สักถึงแปดครั้งกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นเก้าอี้ต้นแบบ
“ตอนดูในแบบสามมิติ หมุนไปหมุนมา นึกว่าสวย แต่พอทำออกมาจริง ปรากฏว่านั่งไม่สบาย ก็ต้องไปทำใหม่อีกหลายครั้ง กว่าจะได้ของต้นแบบ”
เก้าอี้รุ่น “สบาย “ จึงเป็นผลงานการออกแบบชิ้นแรก และกลายเก้าอี้ขายดีอันดับต้น ๆ ของแบรนด์ ไต้ลิ้ม
จุดเด่นของเฟอร์นิเจอร์ไต้ลิ้มนอกจากการออกแบบแล้ว คือเป็นงานไม้เนื้อแข็ง solid wood ทำด้วยมือทุกอย่าง งานเซาะร่องเข้าเดือย เป็นงานที่เครื่องจักรทำไม่ได้ ต้องใช้มือเท่านั้น และใช้งานได้หลายสิบปี
กล่าวกันว่า เวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้ อยากรู้ว่างานแข็งแรงและละเอียดเพียงใด ให้ดูโครงสร้างและส่วนที่ไม่ถูกโชว์ คือพื้นส่วนใต้โต๊ะหรือเก้าอี้ ว่าทำงานเรียบร้อยไหม เซาะร่อง เข้าเดือยเรียบร้อยหรือไหม หรือสัมผัสแล้วยังมีเสี้ยนไหม
“มีเด็กรุ่นน้องคนหนึ่งเก็บเงินมาซื้อ โต๊ะ TAILIM ตัวละ 4 หมื่นบาท หลังจากเราอธิบายให้ฟัง ว่า เราทำโต๊ะตัวนี้อย่างไร ใช้ไม้อะไร เล่าเรื่องงานทำมือด้วยฝีมือช่างไม้ที่ประกอบโต๊ะด้วยการเซาะร่องเข้าเดือยอย่างละเอียดแบบที่เครื่องจักรทำไม่ได้ เราต้องขัดไม้อย่างละเอียดก่อนส่งไปให้ช่างทำสี งานสีต้องขัดเสี้ยนให้หมด ถ้าเป็นโรงงานก็อาจจะทาสีสองสามรอบ แต่ของที่นี่ ทำไม่รู้ว่ากี่รอบ ไม่เคยนับรอบ ช่างสีของเรารู้ว่าต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเนื้อไม้แต่ละแผ่นดูดสีไม่เท่ากัน เราต้องทำจนกว่าผิวสัมผัสจะดีที่สุด “
ทุกวันนี้ จากโรงไม้อายุเกินครึ่งร้อยปีที่เคยมีชีวิตชีวา และซบเซามานาน แต่คุณเอื้อยได้ปลุกให้กองไม้เหล่านี้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง กองไม้ที่ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้คุณภาพสูง
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาด้วยโชคช่วยแต่ประการใด แต่เป็นความมุ่งมั่นและอดทนที่จะสืบทอดและต่อยอดธุรกิจโรงไม้ไต้ลิ้ม แม้ไม่ได้เรียนหรือมีความรู้การออกแบบและประสบการณ์การทำเฟอร์นิเจอร์มาเลย อาศัยความอดทนต่อสู้กับปัญหาและพร้อมเรียนรู้และพัฒนา
“อยากทำ ก็ลองทำ ลองผิด ลองถูก อยากเรียน ก็ไปเรียน อยากร้องไห้ ก็ร้องไห้ ถ้ามัวแต่คิด ก็จะไม่ได้ทำ ถ้าจะทำ ก็ทำให้ดีที่สุด” ทั้งหมดจึงมาเป็น TAILIM ทุกวันนี้
แม้เศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี แต่เฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูงแบรนด์ TAILIM ยังมีลูกค้าสม่ำเสมอ อันเป็นผลพวงจากความรักและความประณีตในการสร้างงานทำมือจริง ๆ
หมายเหตุ สนใจรายละเอียดติดตามใน https://www.tailimfurniture.com/
