
“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี ‘โลกที่สอง’ ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุม COP26 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า
COP26 – COP เป็นคำย่อมาจาก Conference of the Parties หรือการประชุมสมัชชาประเทศ เป็นการประชุมต่อจาก COP21 ณ กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ที่ประชุมผู้นำประเทศ 197 ประเทศได้ตกลงใน “ข้อตกลงปารีส” ที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไว้ไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ข้อตกลงปารีส The Paris Agreement Against Climate Change หรือ“กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (UNFCCC) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการแก้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งลงนามโดยผู้นำโลกใน 197 ประเทศ ไม่ใช่การประชุมในอดีตที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างมาพูดแสดงความเห็น แต่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายแต่ประการใด
หมายความว่าทุกประเทศที่ลงนาม ต่างยอมรับถึงมหันตภัยของปัญหาโลกร้อน และพร้อมใจกันวางแผนต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจัง แม้จะสายเกินไป
การประชุม COP26 ครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า
รูปธรรมอันแรกที่ชัดเจนที่สุด สำหรับการประชุมครั้งนี้ คือผู้นำ 128 ชาติที่เป็นเจ้าของผืนป่าครอบคลุมเนื้อที่ราว 85% ของป่าไม้ทั่วโลก ได้ลงนามในคำประกาศให้คำมั่นสัญญายุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ทั่วโลกโดยจะสมทบเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 14,000 ล้านปอนด์ (ราว 644,000 ล้านบาท )ภายในปี 2030
ประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามทั้งสิ้น 128 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน อินโดนีเซีย รัสเซีย บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเวียดนาม เป็นต้น
แต่ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อประเทศไทย ร่วมลงนามในสัญญาฉบับประวัติศาสตร์นี้ ย้อนแย้งกับคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ไปประกาศกลางที่ประชุมว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง”
ในขณะเดียวกัน น้อยคนที่จะทราบว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังมีโครงการ ขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อการพัฒนา มากเกือบ 100 โครงการ จากรายงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ติดตามปัญหาการทำลายป่ามายาวนาน ได้นำเสนอข้อมูลออกมาว่า
“ปัจจุบันพบว่า ภาครัฐเองกำลังมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ มากมาย โดยโครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ตามเอกสารระบุว่ากำลังมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 77 โครงการ ด้วยกัน สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
.1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 29 โครงการ
.2. โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 โครงการ
3. โครงการสำคัญที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ
.4.โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม 26 โครงการ
.5. โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย 4 โครงการ
โครงการทั้งหมดนี้รวม 77 โครงการ ยังไม่รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการซึ่งกำลังมีประเด็นการคัดค้านอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวอีกสิบกว่าโครงการ อาทิเช่น อ่างเก็บน้ำ 7 แห่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น “
.ซึ่งขณะนี้ สามารถรวบรวมหาข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ป่าไม้ที่ต้องหายไปหากมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามที่ระบุไว้ในแผนงานได้เพียงแค่ 25 โครงการ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายกว่า 40,000 ไร่ “
ส่วนที่เหลืออีก 60 กว่าโครงการยังไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า จะมีป่าไม้ถูกทำลายไปอีกกี่หมื่นกี่แสนไร่.
ข้อมูลจากกรมป่าไม้ล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.64 หรือ 102,353,484.76 ไร่ และในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงถึงกว่า 130,000 ไร่ ห่างไกลจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาทำลายป่าในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ให้กับกลุ่มธุรกิจเกษตรรายใหญ่ที่รับซื้อสินค้าเกษตรเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์
ในขณะที่รัฐบาล 128 ประเทศที่ลงนามยุติการตัดไม้ทำลายป่าในปี 2030 ยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการสนับสนุนพืชเกษตรที่นำไปผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการทำลายป่า
นอกจากรัฐบาลไทยไม่ยอมลงนามเพื่อยุติการทำลายป่าแล้ว แถลงการณ์ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซมีเทนและลดการใช้พลังงานถ่านหิน ที่มีประเทศจำนวนมากร่วมแถลงการณ์ รวมถึง เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แต่รัฐบาลไทยก็ยังปฏิเสธที่จะร่วมแถลงการณ์เช่นเคย
ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยถูกจัดให้ติดอันดับท็อป 20 ของประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรหนึ่งคนของประเทศไทย มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยเฉพาะคนในกรุงเทพมหานคร ปล่อยก๊าซต่อคนสูงกว่าผู้คนในมหานครลอนดอนและกรุงมิลาน
คำพูดสวยหรูของผู้นำประเทศที่บอกว่า “ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี ‘แผนสอง’ ในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ” น่าจะเป็นความจริง
เพราะแค่ แผนหนึ่ง ประเทศของท่านผู้นำยังไม่มีเลย