
พลันที่จดหมายลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 จากกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ส่งไปถึงสภากาชาดไทย เรื่อง ขอรับการสนับสนุนวัคซีน “โมเดอร์นา” (Moderna) ให้กับกำลังพลและครอบครัว ถูกเปิดเผยออกมาในโลกออนไลน์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังกระหึ่มภายในเวลาไม่นาน
ตอนแรก หลายคนคิดว่าเป็น fake news แต่สุดท้ายเมื่อมีการตรวจสอบ ทางการก็ยอมรับว่า “ ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่เอกสารทางการ “ เพราะผู้ส่งไม่มีอำนาจหน้าที่ส่งหนังสือไปส่วนราชการภายนอก
“ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่เอกสารทางการ” กลายเป็นไวรัล ไม่ต่างจากคำว่า “ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นน้ำรอระบาย”
ไม่มีใครทราบว่า หากจดหมายฉบับนี้ไม่ถูกเปิดเผยออกมาในที่สาธารณะ จะเกิดอะไรขึ้นกับวัคซีนโมเดอร์นา ที่มีจำนวนจำกัดและคนจำนวนมากต้องการ ยอมเสียเงินซื้อ มากกว่าวัคซีนที่ทางการจัดหาให้
แต่สิ่งที่ตามมาคือ ภาพลักษณ์ของทหารที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อเจ็ดปีก่อน พลอยตกต่ำลงอีก เพราะนี่คือการเล่นกับความเป็นความตายของประชาชนทั้งประเทศ
ตอกย้ำถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชนของทหาร ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการทำรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 และความตกต่ำของภาพลักษณ์ทหาร
การนั่งเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจ
สามปี ภายหลังการรัฐประหาร และคสช.เข้าบริหารประเทศ ปรากฏว่า รัฐวิสาหกิจจำนวน 40 แห่งมีนายทหารได้เข้าไปมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบอร์ดถึง 80 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 100% ก่อนปี2557 และในจำนวนนี้ มีนายทหารเป็นประธานบอร์ด ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว ถึง 16 แห่ง จากเดิม 3 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว
นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง บางคนยังเป็นสมาชิกวุฒิสมาชิกหนึ่งใน 250 คน
ในปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการในรัฐวิสาหกิจจำนวนหลายราย โดยนายทหารบางคน รับเงินค่าตอบแทนจากการเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจและบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่หลายแห่ง มีรายได้รวมกันมากกว่า สิบล้านบาทต่อปี
เรียกได้ว่า นายพลหลายคนที่เคยรับราชการมีเงินเดือนร่วมแสนบาท รวยอู้ฟู้ขึ้นทันตาเห็นในช่วงที่ทหารเรืองอำนาจ
งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น
ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 งบกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปี 58 ได้งบ 1.92 แสนล้านบาท งบกระทรวงกลาโหม ปี 61 ได้ 2.22 แสนล้านบาท
มีการจัดซื้ออาวุธสงครามอย่างต่อเนื่อง อาทิเรือดำน้ำ ปืนใหญ่ รถถัง รถหุ้มเกราะ เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำสามลำของกองทัพเรือจากประเทศจีน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความจำเป็นและความเหมาะสม แต่สุดท้ายรัฐบาลทหารก็ไม่สนใจ เดินหน้าจัดซื้อจนสำเร็จ ท่ามกลางข่าวลือเรื่องเงินทอนใต้โต๊ะ
สำหรับปีงบประมาณ 2565 งบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และการจัดเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ทำให้เหลือ 203,282 ล้านบาท ยังมากกว่างบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข 50,000ล้านบาท
แต่ที่เป็นข่าวสร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนจำนวนมากในสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เมื่อกองทัพเรือเดินหน้าเสนอ จัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน ในงบประมาณปี 2565 จนเมื่อได้รับการวิจารณ์หนัก ทางรัฐบาลจึงยอมถอนเรื่องทันที
หน่วยงานปฎิบัติการจิตวิทยา หรือ IO
ภายหลังการรัฐประหาร เครื่องมือสำคัญของฝ่ายรัฐบาลในการสู้กับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คือหน่วยงานหลายแห่งที่ทำงานเผยแพร่ข่าวสาร หรือ IO หรือ ‘Information Operation’ คือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และใส่ร้ายป้ายสี ปลุกปั่นยุยง ฝ่ายตรงกันข้าม ที่มีมาตั้งแต่อดีตในสมัยสงครามเย็น
ที่ผ่านมา มีข่าวออกมาเรื่อย ๆ ว่า บรรดา IO ที่แฝงเข้ามาในสื่อโซเชียลต่าง ๆ ไม่ว่า facebook หรือ twitter โดยมีบทบาทในการตอบโต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงสส.พรรคฝ่ายค้าน น่าจะเป็นหน่วยทหารบางแห่งที่มาทำภารกิจนี้โดยตรง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากกองทัพมาตลอด
จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทาง Twitter ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ขณะนี้ได้ระงับบัญชีผู้ใช้งานที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation: IO) ในประเทศไทย โดยละเมิดนโยบายการใช้งานของทวิตเตอร์ และได้ระงับการใช้งานบัญชีไอโอทุกบัญชีเรียบร้อยแล้ว จากการตรวจสอบทางเครือข่าย พบเป็นบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพบก จำนวน 926 บัญชี
แม้กองทัพบกจะออกมาปฏิเสธและแก้ตัวว่าเป็นบัญชี เพื่องานเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์ การช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชน การใช้เป็นช่องทางชี้แจงข่าวบิดเบือน เพื่อสร้างความเข้าใจ กับประชาชนโดยตรง แต่ก็ดูจะฟังไม่ขึ้น ว่า ทำไมกองทัพถึงเอาเงินภาษีมาทำงานต่อสู้กับประชาชนด้วยกันเอง
ความตกต่ำของภาพลักษณ์ของทหาร ยังไม่รวมข่าวการเสียชีวิตของพลทหารหลายคนอย่างลึกลับในค่ายทหาร ที่ดูเหมือนมีบาดแผลจากการถูกซ้อมทำร้ายอย่างหนักจนเสียชีวิต
โดยเฉพาะ กรณี”จ่าคลั่ง”สาดปืนเข้าใส่ชาวบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และคำพูดของผบ.ทบ.ที่เป็นการปัดความรับผิดชอบของกองทัพ ว่า “วินาทีที่ลั่นไกสังหารประชาชน เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว”
เมื่อมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดในปีพ.ศ. 2563 และรัฐบาลห้ามจัดงานที่มีการรวมตัวกัน แต่กองทัพบกได้เปิด“ไฟเขียว”ให้มีการจัดมวยนัดสำคัญที่สนามมวยลุมพินี กระทั่งกลายเป็นคลัสเตอร์ แหล่งแพร่เชื้อไวรัสอย่างมโหฬาร สะท้อนความเป็นอภิสิทธิ์ชนของกลุ่มทหารอีกครั้ง
และเมื่อมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด มีนายทหารและตำรวจรวมกัน 104 คน ในจำนวนนี้มีน้องชายพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือพล.ร.อ. ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ท่ามกลางกระแสกดดันว่า สว.เหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากคอยค้ำบัลลังก์ของพรรคพวกทหารด้วยกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำพูดที่ว่า “ #ทหารมีไว้ทำไม” “#เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด” จึงระบาดหนักในหมู่คนทั่วไป
ไม่นานมานี้ ผู้เขียนเคยคุยกับเพื่อนนายทหาร เขาเล่าว่า ทหารอาชีพในกองทัพหลายคนเริ่มรู้สึกว่า การที่นายทหารรุ่นพี่นำกองทัพไปทำรัฐประหารและยุ่งเกี่ยวการเมืองมาหลายปี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า
บ้านเมืองไม่ได้สงบอย่างที่คิด และทหารก็ไม่มีความสามารถในการปกครองประเทศให้สงบได้จริง ๆ
กองทัพที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง
ก็พบว่าความมั่นคงในประเทศมีปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายกันหนักขึ้น
การที่ทหารมายุ่งการเมือง
เอาเข้าจริง ผลประโยชน์ได้กับนายทหารที่เข้ามายุ่งการเมืองไม่กี่กลุ่ม
ขณะที่ภาพลักษณ์ในสายตาประชาชนตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนัก
ทางที่ดีกองทัพควรถอยห่างจากการเมืองให้มากที่สุด
เพราะยิ่งเข้าสู่วงจรอำนาจการเมือง ความมั่นคงของชาติยิ่งไม่ปลอดภัย
กลับเข้ากรมกอง เป็นทหารอาชีพจริง ๆ
เพราะนี่คือการสร้างภาพลักษณ์ของทหารได้ดีที่สุด