17 พค.เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535

ต้นปี 2535 ประชาชนเริ่มไม่พอใจรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร รสช. จนเมื่อพลเอก สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความไม่พอใจก็กระจายไปทั่ว
มีการประท้วงแทบทุกวัน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่สนามหลวง รัฐสภา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปูเสื่อกินนอนกันบนพื้นถนนอันระอุด้วยไอร้อน จำได้ว่า ทุกค่ำคืนจะมีการอบรมการสู้กับแก๊สน้ำตา หรือหากทหารบุกเข้ามาให้นอนเฉย ๆ
ก่อนหน้านี้ ผมกับชาวนิตยสารสารคดี มาร่วมประท้วง กินนอนบนถนนราชดำเนินนานนับเดือน
เรียกว่าทำงานเสร็จ (ที่ทำงานอยู่แถวสะพานผ่านฟ้า) ก็มานั่งกลางถนนหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และนอนกลางพื้นคอนกรีตอันร้อนระอุ โฆษกเวทีที่แจ้งเกิด คือ ตู่ จตุพร จากม.ราม ผู้นำนักศึกษาคือปริญญา จากมธ. และ กรุณา บัวคำศรี จากจุฬา จำลอง ศรีเมือง ครูประทีป พิภพ ธงไชย กับหมอเหวง ล้วนเป็นพันธมิตรกันเหนียวแน่น ขึ้นเวทีทุกค่ำคืน
คืนวันที่ 17 ขบวนผู้ประท้วงนับแสนคน เดินจากสนามหลวงจะไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกรั้วลวดหนามและทหารจำนวนมาก ขวางทางที่สะพานผ่านฟ้า ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกกันว่า “กำแพงเบอร์ลิน” ผู้ชุมนุมบางพยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ให้เปิดทางแต่ได้รับการปฏิเสธ บางส่วนจึงเริ่มรื้อรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่จนหมด แล้วสูบน้ำจากคลองรอบกรุงซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นฉีดใส่ฝูงชน จากนั้นก็ได้เกิดความโกลาหล ผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของใส่ เจ้าหน้าที่จึงตอบโต้ด้วยการทุบตีทำร้าย
โรงพักสถานีตำรวจนางเลิ้ง ที่อยู่แถวนั้นก็ถูกมือลึกลับจุดไฟเผา รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน
ผมเห็นเปลวไฟลุกไหม้ขึ้นที่สถานีตำรวจนางเลิ้งอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการปะทะกันจนเมื่อเสียงปืนกลดังรัวขึ้นจากแถวทหารหน้ากระทรวงเกษตรฯ ห่างจากผมไม่ถึงร้อยเมตร ผมเห็นประกายไฟยิงขึ้นฟ้าเป็นสายมากมายดังสนั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้ว่ายิงขึ้นฟ้าและยิงประทับบ่าด้วยหรือไม่ แต่ประชาชนหนีกันจ้าละหวั่น ส่วนใหญ่ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ยินเสียงปืนกลดังสนั่นเป็นระยะเกือบทั้งคืน
คืนนั้นเสียงปืนดังก้องอยู่ในหัวทั้งคืนและติดต่อกันไปอีกหลายวัน
ตอนนั้นออฟฟิสของสารคดี กลายเป็นศูนย์กลางการส่งข่าวของนักข่าวทั้งในและนอกประเทศมาใช้บริการแฟกซ์ โทรศัพท์ เพราะน่าจะอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุด พรรคพวกนักข่าวเลยขอมาใช้เป็นที่ส่งข่าว คืนนั้นมีนักข่าวหลายสิบคนเข้า ๆออก ๆ อยู่ที่สารคดีกันทั้งวันทั้งคืน

วันที่ 18 คราวนี้ทหารมีรถหุ้มเกราะมาเสริมกำลังกันหลายคัน พอบ่ายแก่ ๆ การสลายม็อบก็เริ่มขึ้น เสียงปืนดังเป็นระยะ ซอยวัดปรินายกที่สารคดีตั้งอยู่ จำได้ว่า มีทหารกราดปืนเข้ามาสองสามครั้ง พวกเราหนีตายกัน ตามมาด้วยการจับจำลอง ศรีเมือง
หลังจากนั้น กองทหารและตำรวจ 6,000 คน มีรถถังจอดอยู่หลายคัน ก็เริ่มเดินเข้าหาประชาชน เพื่อสลายการชุมนุมโดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ พร้อมทั้งเสียงปืนดังกันทั้งคืน เสียงรถหวอพยาบาลดังตลอด และคืนนั้นทหารสลายม็อบอย่างจริงจัง ยืนเรียงหน้ากระดานดาหน้ากันเข้ามาเรื่อย ๆ พร้อมเสียงปืนดังไปทั่ว ผู้ประท้วงหนีกระจัดกระจาย ตามถนนมีแต่รอยเลือด และเสียงรถพยาบาล ผู้คนจำนวนมากถูกจับกุม แต่อีกนับร้อยคนบาดเจ็บและโดนยิงตายคาที่
คืนนั้นผมเห็นชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบซ้อนมอเตอร์ไซค์ ชูปืนกล เอ็ม 16 นับสิบคันรวมตัวกัน คอยออกไล่ล่าผู้คนตามท้องถนน 23 ปีผ่านไป หลายครั้งที่เสียงปืนกลยังดังก้องอยู่ในหัว
19 พค. ประชาชนนับแสนไปรวมตัวกันใหม่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ 24 พค. พลเอกสุจินดา ยอมลาออก
พวกเราเดินไปตามท้องถนนราชดำเนิน เห็นรอยกระสุนและคราบเลือดจำนวนมาก ที่ยังลบไม่ออก คาดว่าคนตายมากกว่า 40 คน บาดเจ็บนับร้อยคน และทุกวันนี้ยังหายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง
เคยคิดว่า เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดเป็นครั้งสุดท้าย แต่คิดผิดไปแล้ว
ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย
