เป็นเวลาร่วมสิบปีแล้วที่ช่วงฤดูหนาวมาจนถึงฤดูร้อน ประชาชนจะต้องผจญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เรียกว่า PM2.5 อย่างรุนแรง รัฐบาลดูจะไม่ให้ความสนใจกับปัญหาสุขภาพ ปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเอง จนเมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สองปีที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ประกาศ pm2.5 เป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

โดยเน้น 3 มาตรการหลัก คือ
มาตราการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด พื้นที่เสี่ยง สามารถพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจนสามารถสั่งการได้ทันทีในช่วงเกิดสถานการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคเหนือ 17 จังหวัด
มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง หรือแหล่งกำเนิด ลดและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังมือง และภาคครัวเรือน เช่น การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และการส่งเสริมการทำการเกษตร ปลอดการเผา เป็นต้น
มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในพื้นที่พัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศ ฐานข้อมูลสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง พัฒนาระบบเตือนภัย ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอพลิเคชันและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
ลองมาเปรียบเทียบกับประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา pm2.5 อย่างรุนแรงมานานหลายสิบปี จนทางการจีนได้เริ่มเห็นความสำคัญของปัญหานี้ ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรียกว่า “2013-2017 Clean air action plan”
สังเกตดูนโยบายนี้มีรูปธรรมชัดเจน
1. รัฐบาลจีนทุ่มเงินมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ประกาศลดการใช้ถ่านหิน ต้นเหตุของมลพิษทางอากาศ เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน ปิดเหมืองถ่านหินที่ไม่ได้คุณภาพจำนวนมาก และเปลี่ยนเตาเผาถ่านหินสองล้านกว่าเครื่องที่ปล่อยควันก่อปัญหามลพิษให้เป็นเตาเผาไร้ควัน
2. จัดตั้งหน่วยงานตำรวจสิ่งแวดล้อม มีอำนาจเต็มที่ในการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสามารถสั่งปิดหรือปรับโรงงานที่ทำผิดกฎหมาย มีการสั่งปิดโรงงานไปจำนวนมาก โดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใด ๆ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างเด็ดขาด
3 วันใดหากมลพิษทางอากาศสูงมาก รัฐบาลจะสั่งปิดโรงงานและการก่อสร้างทันที โดยไม่ล่าช้า หลายพื้นที่ในประเทศที่ประสบปัญหามลพิษสูงมาก ช่วงหน้าหนาวสี่เดือน อาจจะไม่สามารถก่อสร้างใด ๆ ได้เลย
4 รัฐบาลจีนประกาศผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพื่อทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 5 ล้านคัน และติดตั้งเสาชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ ไปแล้วสองแสนกว่าต้น
5. ในขณะเดียวกันก็คุมกำเนิดรถยนต์ดีเซลและรถยนต์เก่าที่วิ่งบนท้องถนน ด้วยการจำกัดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน
โดยใช้มาตรการจำกัดหมายเลขทะเบียนรถที่ออกมาวิ่งแต่ละวัน
ทุกวันนี้ เมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองในประเทศจีนเริ่มมีคุณภาพอากาศดีขึ้น แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน ที่เมืองใหญ่ส่วนใหญ่เป็นเมืองในหมอกควันพิษ
ลองหันมาดูที่เมืองไทยหลังจากออกวาระแห่งชาติ pm 2.5 มีการตั้งเป้าหมาย แล้วเกิดอะไรขึ้น
- ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานอากาศดี ฝุ่นละออง ควันพิษในอากาศไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่กรมควบคุมมลพิษยังยืนยันว่า สำหรับประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานบรรยากาศทั่วไปอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แสดงว่าคนไทยมีปอดเหล็กกว่าคนชาติอื่นหรือไม่
- กำหนดให้รัฐบาลต้องแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนล่วงหน้าสามวัน หากเกิดคุณภาพอากาศแย่มาก ในความเป็นจริงประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เคยรับทราบการแจ้งเตือนภัย นอกจากคนที่เข้าไปใน แอปพลิเคชัน Air4Thai และยังเป็นข้อมูลที่อัพเดทในรอบ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่นาทีต่อนาทีหรือ เรียลไทม์ ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด เพราะประชาชนอยากรู้ว่าขณะนี้อากาศเป็นอย่างไร
- หน่วยราชการต้องดำเนินการใช้รถร่วมกัน หรือ car pool ในการเดินทางทันที แต่ในความเป็นจริง มีหน่วยงานรัฐใดที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะระดับรัฐมนตรี ที่มีขบวนรถติดตามจำนวนมาก
- ให้เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศเก่าของ ขสมก.ทั้งหมด 2,700 คนเปลี่ยนให้ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงธรรมชาติ NGV แต่ปัจจุบันเปลี่ยนได้เพียง 489 คัน ที่เหลือยังปล่อยควันดำ มีค่ามาตรฐานไอเสียเกินกำหนด
- เป็นที่ทราบกันดีว่า แหล่งที่มามลพิษฝุ่น PM 2.5 ครึ่งหนึ่งมาจากไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ วาระแห่งชาติจึงได้กำหนดให้ภายในปี 2564 รถยนต์ใหม่ทุกคันในประเทศต้องได้มาตรฐาน “ยูโร 5” และบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565
ยูโร 5 คือมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลภาวะของรถยนต์ใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้นมาในประเทศกลุ่มยุโรป ถือเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและใช้กันทั่วโลก ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตบ้านเราส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐานแค่ ยูโร 4
แต่สุดท้ายด้วยกำลังภายในของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านสภาอุตสาหกรรม ได้เสนอให้รัฐบาลขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน โดยอ้างความไม่พร้อม (ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่ผลิตมาตรฐานยูโร 5 ได้ ตามมาตรฐานของลูกค้า)
จนเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานมีความเห็นชอบให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ออกไปเป็น ปี 2567 (เดิม พ.ศ. 2564) และเลื่อน ยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ. 2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี
- สนับสนุน นโยบายเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ทุกวันนี้บ้านเรามีรถยนต์จดทะเบียนประมาณ 41ล้านคัน และเป็นรถอายุเกินสิบปีถึง 24 ล้านคัน ขณะที่มีรถไฟฟ้าทุกชนิดรวมกันประมาณ 160,000 คันเท่านั้น แต่ล่าสุดนโยบายรถเก่าที่อายุเกินสิบปีมาแลกรถไฟฟ้า ที่รัฐบาลกำลังจะคลอดออกมาเมื่อปลายปีก่อน ก็ได้ถูกทางการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด สาเหตุน่าจะมาจากอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่หวั่นเกรงว่ายอดขายรถยนต์น้ำมันจะลดลง
ขณะที่ต่างประเทศกำลังตื่นตัวเรื่องรถไฟฟ้าอย่างจริงจัง อาทิ ประเทศที่จะยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมัน ได้แก่ ฝรั่งเศสภายในปี 2040 เนเธอร์แลนด์ภายในปี 2025 อังกฤษภายในปี 2040 เยอรมนี ภายในปี 2030 อินเดียภายในปี 2030 และนอร์เวย์ประกาศว่าจะให้คนทั้งประเทศใช้รถไฟฟ้าภายในปี 2025 และขณะนี้ได้สร้างแรงจูงใจคือ คนใช้รถไฟฟ้าต่อทะเบียนรถยนต์ฟรี ขึ้นทางด่วนครึ่งราคา จอดรถในที่จอดสาธารณะฟรี ฯลฯ
ขณะที่ประเทศจีน ได้พลิกวิกฤติมลพิษทางอากาศเป็นโอกาสอันดีในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้น ๆของโลก
หลายประเทศประกาศวาระแห่งชาติ เพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว ต้องทำให้ได้ เพื่อต้องการอากาศกลับคืนมาให้ประชาชนโดยเร็ว ยกเว้นบางประเทศที่ประกาศเป้าหมายออกไปชัดเจน แล้วเลื่อนกำหนดไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการของกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม