90 ปี ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ เจ้าผู้ไม่ธรรมดา

คนที่มีอายุยืนยาวมาจนถึง 90 ปี  ยังมีสุขภาพกายแข็งแรงและจิตใจแจ่มใสนับว่าหาได้ยากยิ่ง  โบราณถือว่าคนเหล่านี้มีบุญ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ลูกหลานและญาติสนิทมิตรสหายทุกรุ่น ได้ร่วมจัดงานฉลองครบรอบอายุ 90 ปีให้กับ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์  หรือป้าหน่อย ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา

หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเป็นอดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานประเทศไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในเวลานั้นเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ และต่อมาท่านชิ้นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทำให้ไทยไม่ต้องกลายเป็นประเทศแพ้สงครามหลังสงคราม

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์  จบการศึกษาระดับชั้นประถมที่โรงเรียนราชินี เมื่ออายุ 14 ขวบไปเรียนต่อระดับมัธยมที่ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับปริญญาด้าน Food Science  ต่อมาได้แต่งงานกับคุณแกรี่ ทอมสัน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ เด็กนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อในประเทศนี้ หลายคนรู้จักท่านเป็นอย่างดี เพราะบ้านของท่านเป็นบ้านขนาดใหญ่เพื่อให้นักเรียนได้มาพักอาศัย  จนเรียกได้ว่า ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนไทยจำนวนมากตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีที่ท่านอยู่อังกฤษ

ในปีพ.ศ. 2519 ป้าหน่อยในวัยสี่สิบกว่า ได้ดำรงตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคม เป็นสมาคมนักเรียนไทยและคนไทยในอังกฤษ  ก่อตั้งขึ้นมาในปีพ.ศ. 2444  โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมัยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในสมัยนั้น) กำลังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ   โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสมาคมที่ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แก่บรรดาประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตในประเทศที่ห่างจากบ้านเกิดและสามารถศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่

หลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  ป้าหน่อยได้เขียนบันทึกเล่าให้ลูกหลานฟังว่า

“ขณะนั้นข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคม เมื่อได้ยินข่าวและเห็นภาพ 6 ตุลา ใน BBC TV  เห็นนักศึกษาถูกถอดเสื้อมามัดแขนไว้ข้างหลัง  นอนราบอยู่กับพื้นสนามในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ข้าพเจ้าไปสำนักงานสามัคคีสมาคมในลอนดอนทันที  พบกับปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการ ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกันดี  อยากจะส่งข่าวถึงนักศึกษาเพื่อแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจ จากนักเรียนไทยในอังกฤษ”

และเมื่อดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาถึงลอนดอนอย่างปลอดภัย ความจริงว่าอะไรเกิดขึ้นจากการประท้วงของนักศึกษาซึ่งจบลงอย่างน่าเศร้าสลดจึงถูกเปิดเผย มีนักเรียนไทยในอังกฤษหลายสิบคน ใส่หน้ากากออกมายืนประท้วงหน้าสถานทูตไทย ขณะที่รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมากกว่า 5 คน  แต่คณะกรรมการสามัคคีสมาคมตกลงขัดขืนคำสั่งรัฐบาล  ในเมื่อเราไม่สามารถประชุมกันในห้องสมุดของสมาคมเพราะอยู่ในตึกสถานที่ราชการ เราจึงต้องไปจัดการประชุมใน Imperial College มหาวิทยาลัยลอนดอน เพื่อแถลงและอภิปรายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา”

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีดอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ได้พยายามเดินสายชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นให้สาธารณชนได้รับทราบในหลายประเทศ ท่านต้องทุกข์และเหนื่อยเพียงใด แต่ท่านไม่ยอมหยุดพักเดินทางตลอดเวลา ต่อมาท่านเริ่มตั้งมูลนิธิมิตรไทย เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ท่านเป็นประธานมูลนิธิ  โดยมีม.ร.ว.สายสวัสดีเป็นรองประธาน

“  เพราะข้าพเจ้ามีเชื้อสายเจ้า ฉะนั้นการมีชื่อข้าพเจ้าในคณะคงจะช่วยไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมูลนิธิคอมมิวนิสต์ และประชุมกันที่แฟลตของข้าพเจ้าเอง”

ต่อจากนั้นอีกสองสามเดือน  รัฐบาลส่งคุณสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีมหาดไทยมาที่ลอนดอน ให้มาแถลงข้อเท็จจริงของรัฐบาลที่ห้องประชุมสามัคคีสมาคม ท่านบันทึกว่า

“  มีคนมาฟังแน่นห้อง ข้าพเจ้านั่งข้าง ๆคุณสมัคร ไม่ว่าคุณสมัครจะพูดอะไร ผู้คนจะโห่ฮาว่าไม่เชื่อ พอคุณสมัครพูดว่า “ไม่ได้จับกุมใคร ไม่มีนักโทษการเมือง” เท่านั้นมีผู้หญิงอังกฤษชื่อ Peggy เดินพรวดเข้าไปที่คุณสมัคร โยนแฟ้มใส่คุณสมัครร้องว่า  “โกหก นี่ไงรายชื่อของคนในคุก “ และเห็นคุณสมัครเดินออกจากห้องอย่างรวดเร็ว

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าถูกสถานทูตไทยเรียกตัวไปติเตียนต่อว่า ทำให้สถานทูตเสื่อมเสียอับอายเป็นอย่างยิ่ง”

คุณนิวัติ กองเพียร นักเขียนชื่อดังได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงประสบการณ์กับป้าหน่อยครั้งหนึ่งว่า

“ผมเป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวง เพราะพี่หน่อยคือคนที่ช่วยเหลือเจือจานผมเมื่อตอนหนีภัยการเมือง 6 ตุลา 2519

ไปอยู่ลอนดอน ผมได้ไปอาศัยที่บ้าน Squire hill ไม่ไกลจากลอนดอน

พี่หน่อยเป็นผู้หญิงแกร่งและเก่ง พูดภาษาอังกฤษ สำเนียงเพราะมาก มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อทุกคน ทำงานรับใช้ส่วนรวมอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะสามัคคีสมาคม พี่หน่อยเป็นกรรมการคนสำคัญที่จัดการให้ปราชญ์ผู้นำมาพบกันและได้เชิญชวนให้คนไทยมาพบปะเสวนาคือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ที่ Imperial Collage”

22 กรกฎาคม 1977  เป็นวันสุดท้ายในตำแหน่งสภานายกสามัคคีสมาคมของม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์    ท่านจัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปี  และเชิญแขกผู้มีเกียรติเป็นองค์ปาฐกในวันนั้นคือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์  มาพูดเรื่อง “เราจะต่อสู้เผด็จการได้อย่างไร” และ ดร.ป๋วย เรื่อง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา “  ก่อนเริ่มประชุมท่านทั้งสองนั่งเคียงข้างให้ถ่ายรูปบนเก้าอี้หน้าตึก และได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ไปแล้ว”

ป้าหน่อยจำได้ดีว่า

“วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ดร.ป๋วยปรากฎตัวในที่สาธารณะ หลังจากนั้นท่านได้ล้มป่วยเกี่ยวกับเส้นเลือดในสมองจากความเครียด และไม่สามารถพูดอะไรให้เราฟังได้อีกเลยไปตลอดชีวิต”

ทุกครั้งที่มีการจัดงานรำลึกถึงเสรีไทย หรือการจัดงานรำลึกถึงท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์  ป้าหน่อยก็จะไปร่วมงานเกือบทุกปี ในฐานะลูกหลานเสรีไทย และรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์ และความผูกพันที่มีต่อพ่อ

ป้าหน่อยเล่าให้ฟังว่า

“ แม้ว่าครั้งหนึ่งทั้งสองจะมีจุดยืนตรงข้ามกัน เพราะอาจารย์ปรีดีเป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสละราชสมบัติและสวรรคตในต่างแดน แต่เมื่อคราวบ้านเมืองคับขัน ทั้งคู่ก็ลืมความขัดแย้งมาจับมือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไว้วางใจกัน อาจารย์ปรีดีก็เห็นใจพ่อที่ถูกกล่าวหาโดยไม่ยุติธรรม ทำงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อประชาธิปไตย ต่อมาพ่อก็ให้ loyal support ต่ออาจารย์ปรีดีเต็มที่เช่นเดียวกัน เมื่ออาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8

พ่อเป็นเจ้านายองค์เดียวที่ประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ไม่เชื่อว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตแม้แต่น้อย และเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างเดียว เจ้านายองค์อื่นๆ ออกจะหมั่นไส้พ่อว่าหลงเสน่ห์อาจารย์ปรีดี ไม่ร่วมกับเจ้านายองค์อื่นๆ สมน้ำหน้าอาจารย์ปรีดีที่โดนรับกรรมที่ตนทำเอาไว้กับราชวงศ์จักรีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อออกจะเป็น “หมาหัวเน่า” ไม่มีใครอยากคบสมาคม”

พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลเป็นร้อยหน้าเมื่อมิถุนายน 2490 พยายามอธิบายกรณีที่ว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ว่าเป็นแผนทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และพวกเผด็จการ ที่จะทำลายอาจารย์ปรีดี ในความเห็นของพ่อนั้น พ่อเชื่อแน่ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามลำพังพระองค์เอง   พ่ออธิบายโดยละเอียดว่าอุบัติเหตุนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร “

ตลอดชีวิตของป้าหน่อย ท่านเป็นคนมีมิตรสหายมากมาย คบผู้คนทุกรุ่น ตั้งแต่ราชวงศ์ชั้นสูง มาถึงคนธรรมดา ชอบออกงานสังคมพอ ๆ กับการไปฟังงานสัมมนา วิชาการต่าง ๆ อย่างใฝ่รู้  ท่านเป็นคนเรียนรู้ตลอดเวลา เชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพของผู้คนตามระบอบประชาธิปไตย  รักความยุติธรรม ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง ชอบแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนหลากหลาย หลายรุ่น 

ท่านมีนิสัย ชอบเป็นคนตั้งคำถามกับเรื่องที่สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ และต้องไปหาคำตอบให้ได้

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มิตรผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งเล่าว่า

“เมื่อปี 2527 คุณหน่อยได้ชักชวนมารดา พี่น้องยกที่ดิน  34 ไร่กว่า ให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป สร้างเป็นอาศรมวงศ์สนิท โดยตั้งชื่อตามผู้บริจาคที่ดิน  อาศรมแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับนักกิจกรรมทางสังคมให้ไปพักฟื้นทางร่างกายและจิตใจ สมตามความหมายของ อาศรม อันหมายถึง สถานที่หรือชุมชนของบุคคลที่รักความสงบ เคารพคุณค่าของธรรมชาติ บนพื้นฐานของการ ภาวนาและสันติ

 คุณหน่อยเป็นสตรีที่งดงามทั้งรูปร่างและจิตใจ เธออุดหนุนจุนเจือกิจการต่าง ๆ ทางด้านสังคมสังเกคราะห์ และการให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เธอยังทำกิจกรรมมากมายปิดทองหลังพระ เพื่อคนยากไร้ ยืนหยัดตามรอยพระบิดา อุดหนุนประชาธิปไตย อุทิศตนเพื่อท่านอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

ทุกวันนี้ในวัย 90 ป้าหน่อยยังเดินหลังตรงด้วยตนเอง ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำและเดินทุกวัน เหมือนกับที่ท่านปฏิบัติตลอดห้าสิบกว่าปี ท่านยังสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมตลอด สนใจความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่ ลงไปสัมผัสกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองด้วยตนเอง และชอบแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนทุกวัย ด้วยความสุภาพ เรียบร้อยและอ่อนน้อมถ่อมตน

คงมีบุคคลในราชวงศ์ชั้นสูงไม่กี่คน ผู้ใช้ชีวิตได้คุ้มค่า กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สนใจความยุติธรรม สิทธิ เสรีภาพของประชาชนและลงมาสัมผัสกับชีวิตผู้คนอันหลากหลายด้วยความสนใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s