
“ช่วงเวลาที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพ คือตอนที่เราเล็งปืนใส่ประชาชนตัวเอง”
จากซีรียส์เรื่อง Destination survivor
หลายคนคงทราบดีว่า ช่วงที่ผู้คนอยู่บ้านติดต่อกันนานหลายเดือน จากผลกระทบของโรคระบาดโควิด -19 ผู้คนจำนวนมากหันมาดูรายการผ่านทีวีหรือออนไลน์กันมากขึ้น
รายการที่ได้รับความนิยมสูง เห็นจะไม่พ้นซีรีส์เกาหลี
ต้องสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ผู้เขียนดูซีรีส์เกาหลีเพียงไม่กี่เรื่อง กระทั่งช่วงโควิด มีโอกาสได้ดูติดต่อกันหลายเดือน
เรียกได้ว่า ซีรีส์จากค่ายตะวันตกที่เคยดูเป็นประจำตกอันดับ กลายเป็นติ่งเกาหลีด้วยความสบายใจ
หากเข้าไปดูรายการยอดนิยมสิบอันดับใน Netflix จะเห็นได้ชัดเลยว่าซีรีส์จากเกาหลีติดหลายอันดับมาโดยตลอด
เมื่อไม่นานมานี้ เคยมีโพลมหาชน Thailand People’s Chart เจาะลึกเรื่องพฤติกรรมคนไทยกับซีรีส์ต่างประเทศว่า คนไทยชอบดูซีรีส์ประเทศใดมากที่สุด
ปรากฏว่าคนไทยร้อยละ 51 ชอบดูซีรีส์เกาหลีมากที่สุด โดยเฉพาะเพศหญิง
หากมีการสำรวจในช่วงนี้ ผู้เขียนคาดว่าความนิยมคงเพิ่มขึ้นอีกมาก
ทุกวันนี้ซีรียส์เกาหลีกลายเป็นสินค้าขาออกสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ไม่แพ้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี แบรนด์ดัง ๆ อาทิ ซัมซุง ฮุนได ฯลฯ เพราะมีผู้นิยมดูไปทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ไปจนถึงทวีปแอฟริกา
ผู้เขียนคิดว่า ซีรีส์เกาหลีมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการที่ทำให้คนติดกันทั่วโลก ไม่ว่าฝีมือผู้กำกับ นักแสดงที่เล่นแบบมืออาชีพ เพลงประกอบ และกระบวนการถ่ายทำคุณภาพสูง แต่จะขอยกกรณีศึกษามาสองเรื่อง
1 บทโทรทัศน์อันโดดเด่น
คนในวงการบันเทิงทราบดีว่า “หากบทดี มีชัยไปเกินครึ่ง” ซีรีส์ชุดนั้นจะโดนใจคนดูมากกว่า 70 %
ต้องยอมรับว่า ผู้ผลิตซีรีส์เกาหลีทุกค่าย สามารถเขียนบทได้สนุกแทบทุกเรื่อง มีการปูโครงเรื่องใหญ่ ๆ ไว้ อาทิเรื่องรักโรแมนติก เรื่องสืบสวน เรื่องสงคราม ฯลฯ แต่สอดแทรกพล็อตเรื่องรองในชีวิตประจำวันที่ผู้คนสนใจ ให้ชวนติดตามตลอด
ผู้ผลิตเกาหลีให้ความสำคัญต่อการเขียนบทมาก เกาหลีมีคนเขียนบทจำนวนมาก มาจากหลากหลายอาชีพเข้าสู่วงการนี้ จนทำให้บทเกาหลีพัฒนาขึ้นมาอย่างโดดเด่น
บทของตัวละครเอกในเรื่อง จะให้รายละเอียดอย่างมาก อาทิ หากตัวเอกเป็นหมอ คนดูจะเห็นรายละเอียดอาชีพหมอผ่าตัดอย่างชัดเจน หรือหากตัวเอกเป็นทนายความ จะเห็นบรรยากาศการพิจารณาคดีความในศาลอย่างละเอียด ซึ่งเป็นจุดเด่นของการเขียนบท ไม่ใช่แค่บอกว่า ตัวเอกเป็นหมอ แต่ไม่มีรายละเอียดพอที่จะทำให้คนดูเชื่อได้ว่า ตัวเอกเล่นเป็นหมอได้อย่างสมบทบาท
เพื่อนผู้เขียนหลายคนที่เป็นหมอ ชมว่า ซีรีส์เรื่อง Dr.Romantic ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตหมอผ่าตัด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหมอผ่าตัดได้อย่างดีเยี่ยมจนไม่อาจจับผิดได้เลย
โครงเรื่องซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง ดำเนินเรื่องผ่านอาชีพของตัวเอกอย่างเจาะลึก อาทิ ทนายความ หมอ ตำรวจ นักธุรกิจ จนเป็นเรื่องหลัก มีเส้นเรื่องความรัก ให้ชวนติดตามตลอด สอดแทรกบทสนทนาอันคมคาย
แต่เสน่ห์สำคัญคือ การนำเสนอเรื่องราวผ่านซีรีส์เกาหลีนั้นมักจะสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความอยุติธรรมในทุกวงการ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแบ่งชนชั้นในสังคม สิทธิสตรี ปัญหาระบบอาวุโส ปัญหาคอรัปชั่น หรือความฉ้อฉลทางการเมืองอันโหดร้าย ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมแทบทุกวงการ แต่ดูเหมือนบทสนทนาเหล่านี้ได้พูดแทนใจคนธรรมดาจำนวนมากในสังคมที่ไม่มีโอกาสหรือกล้าพูดได้ จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้มีคนติดตามชมมาก
แต่คนเขียนบทจะมีวิธีผูกเรื่องแบบแยบยล ทำให้เรื่องดำเนินได้อย่างสนุก ไม่ตึงเครียดเกินไป
อาทิ Crash Landing แม้จะเป็นเรื่องความรัก แต่สอดแทรกประเด็นเรื่องสิทธิสตรี เรื่องที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานในสังคมเกาหลีได้ แต่เรื่องนี้ ตัวเอกหญิงเป็นผู้บริหารมากความสามารถ
Dr.Romantic แม้จะเป็นเรื่องชีวิตหมอในโรงพยาบาลต่างจังหวัด แต่สอดแทรกความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์ คุณค่าจริยธรรมและ อุดมคติของอาชีพนี้
Itaewon class เรื่องการต่อสู้ทางธุรกิจ แต่สะท้อนความเอารัดเอาเปรียบ ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำของคน
Stranger เป็นเรื่องการสืบสวนของตำรวจ แต่สะท้อนปัญหาคอรัปชันในวงการ นักการเมือง ข้าราชการ รัฐบาลได้อย่างถึงแก่น
Destination survivor เล่าเรื่องสัจธรรมของการเมืองในเกาหลี ที่เหมือนกันทั่วโลก
Kingdom ไม่ใช่แค่เรื่องผีดิบ แต่เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้น
Signal สะท้อนความเน่าเฟะของกรมตำรวจ การรับใช้ผู้มีอำนาจได้อย่างน่าสะอิดสะเอียน
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของคนทั่วโลก หรือเป็นพล็อตสากลของคนทั่วโลกอยากดูซีรีส์ที่นักแสดงพูดแทนพวกเขา อยากดูตัวละคอนตะโกนก้อง ระบายความอึดอัดในใจแทนคนดู ไม่แปลกที่ซีรีส์เกาหลีจึงครองใจคนทั่วโลก
2 รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนจริงจัง
คนไทยคงจำได้ว่า เมื่อครั้งที่ แดจังกึม มาฉายเมืองไทยทางช่องสามตลอดปีพ.ศ. 2548 ได้ทำลายสถิติละคอนทีวีมีคนดูมากที่สุด มีคนติดตามร่วมยี่สิบล้านคนทั่วประเทศ เช่นเดียวกับเมื่อออกฉายในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ก็มีคนดูถล่มทลาย
แดจังกึม สร้างโดยสถานีโทรทัศน์ MBC ของเกาหลีใต้ แต่ก่อนสร้าง ละคอนซีรีย์นี้ไม่ได้อยู่ดี ๆ สร้างขึ้นมา แต่มีการวางแผนอย่างดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ในช่วงเวลานั้น
ในช่วงปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จนกิจการส่วนใหญ่ล้มละลายอย่างรุนแรง และลุกลามเป็นลูกโซ่ไปสู่ประเทศอื่น และเกาหลีใต้ก็ประสบปัญหาฟองสบู่แตกเช่นกัน เศรษฐกิจพังพินาศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักที่เป็นสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ การต่อเรือ สินค้าไอที แทบจะล้มละลาย
แต่คนเกาหลีทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้กลายเป็นสินค้าส่งออก และน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบันเทิงในฮอลลีวู้ด ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง แฟชั่น ฯลฯ
กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้เชิญศิลปิน คนเขียนบททั่วโลก ไปร่วมสัมมนา โดยมีจุดประสงค์คือ พล็อตเรื่องแบบใดจะเป็นสากลและโดนคนทั่วโลก เพื่อหาสูตรสำเร็จบางอย่าง ก่อนจะสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นสินค้าส่งออก
คล้ายกับว่า รัฐบาลทำวิจัย และให้เอกชนไปต่อยอด มีเป้าหมายเพื่อช่วยกันสร้างประเทศ เป็นสองประสานที่น่าสนใจมาก
ซีรีส์เกาหลีใต้ มีการวางแผนเพื่อส่งเป็นสินค้าขาออก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ
แดจังกึม ก็เป็นหนึ่งในละคอนที่มีการทำวิจัย และประกาศหาผู้เขียน จนสุดท้ายผู้คิดโครงเรื่องบทโทรทัศน์ชื่อดังนี้ กลายเป็นนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้
ในปี 2548 แดจังกึม ได้ออกอากาศทั้งในจีน, เวียดนาม, ไทย, มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ก่อนจะขยายเป็น 91 ประเทศทั่วโลก และทำรายได้มากถึง 111.9 พันล้านวอน หรือประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท
แดจังกึม สร้างมาจากเรื่องจริงของเด็กสาวยากจนผู้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารในพระราชสำนัก จนกลายเป็นสตรีคนแรกที่เป็นแพทย์คอยรักษาอาการเจ็บป่วยให้กับเชื้อพระวงศ์ ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของผู้คนในราชวัง
พล็อตสั้น ๆที่สอนให้คนทำงานหนักสู้ชีวิต ช่วยเหลือคนอื่น แต่มีครบทุกรสทั้งเรื่องราวความรักและการสอดแทรกปัญหาสังคมต่าง ๆ กลายเป็นพล็อตเรื่องที่ทำรายได้มหาศาล
ยี่สิบปีผ่านไป ผู้สร้างซีรีส์เกาหลีทุกค่าย จึงสามารถเขียนบทได้อย่างอิสระ และรู้ว่าพล็อตเรื่องสำคัญที่ขายได้ คือพล็อตเรื่องที่สามารถพูดแทนใจคนดูทั่วโลก นอกจากเรื่องความรักแล้ว คือเรื่องความไม่เป็นธรรม คอรัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางชนชั้น
ขณะที่รัฐบาลเกาหลีทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมบันเทิง เพราะรู้ว่าทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ จึงไม่เคยมาแทรกแซง หรือเซนเซอร์บทละคร หรือมีโทรศัพท์ลึกลับถึงผู้กำกับการแสดง เพราะทราบดีว่าพล็อตแบบใดที่ขายได้กับคนดูทั่วโลก ทำให้ผู้เขียนบทสามารถสร้างสรรค์บทได้อิสระเต็มที่
ไม่แปลกใจที่นับวันซีรีส์เกาหลีครองใจคนดูมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เป็นติ่งเกาหลีด้วยความสมัครใจ
ยิ่งดูมากก็ยิ่งสะท้อนปัญหาสังคมไทยมาก
ขณะที่พล็อตซีรีส์ไทย ๆ ส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่กับ เรื่องชิงรักหักสวาท ชู้สาว หรือไม่ก็เซนเซอร์ตัวเองด้วยการไม่กล้านำเสนอพล็อตที่พูดแทนคนดูทั้งประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ
ผู้ผลิตไทยรู้ดีว่า ผู้มีอำนาจและรัฐบาลไม่ใจกว้างพอกับความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนบท
เพราะแค่เรื่อง ศิลปินแห่งชาติ ยังคิดจะคุมเข้มทางความคิด

