ภาพที่เห็น อาจจะไม่ใช่ความจริง

ภาพที่เห็นนี้ คือภาพของทหารนาวิกโยธินสหรัฐกับเชลยทหารอิรัก ทางตอนใต้ของประเทศอิรักในสงครามอิรัก

สงครามอิรัก หรือสงครามอ่าวครั้งที่สอง(2003-2011)  เกิดขึ้นจากข้อกล่าวหาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่า อิรักภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ได้ครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง คืออาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี ชีวภาพ คุกคามความมั่นคงในภูมิภาค จนได้เกิดสงครามขึ้น นำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และสุดท้ายกองทัพอิรักแพ้สงคราม  ประธานาธิบดีซัดดัด ฮุสเซนถูกประหารชีวิต  สงครามครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและเด็กกำพร้าหลายล้านคน

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2003   เป็นวันเดียวกับที่กรมทหารนาวิกโยธินที่ 15 ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ยกพลข้ามพรมแดนประเทศคูเวตเข้ามาในดินแดนประเทศอิรักเปิดฉากสงครามกับกองทหารอิรัก การสู้รบดำเนินไปไม่ถึงชั่วโมง ทหารอิรักสองร้อยกว่าคนได้ยอมจำนน ถูกจับเป็นเชลย และเป็นที่มาของภาพนี้

ช่างภาพได้เข้าไปบันทึกภาพนี้ เป็นภาพเชลยทหารอิรักผู้หนึ่ง  และทหารอเมริกันสองคน คนหนึ่งดูเหมือนกำลังเอาปืนจ่อไปที่หัวของเชลยทหารอิรัก ขณะที่ทหารอเมริกันอีกคนหนึ่งกำลังให้เชลยดื่มน้ำจากกระติก

อันที่จริงทหารนาวิกโยธินทางซ้าย ไม่ได้จ่อปืนไปหัวของเชลยศึก แต่เป็นปืนของทหารอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในภาพกำลังถือปืนเฉย ๆ แต่มุมกล้องทำให้ดูเหมือนว่าเอาปืนจ่อไปที่หัวของเชลยอิรัก

เป็นภาพข่าวสงครามอันทรงพลังมากภาพหนึ่ง หรือเรียกว่า เป็นภาพที่ ดราม่าสุด ๆ เพราะมีความรู้สึกสองอารมณ์แตกต่างกันในภาพเดียวกัน

เพียงภาพเดียวสามารถบอกอารมณ์ด้านบวกและด้านลบของทหารสหรัฐอเมริกันที่มีต่อเชลยศึกชาวอิรักได้สมบูรณ์แบบ

ภาพนี้ได้รับการเผยแพร่ในสื่อตะวันตกและสื่ออาหรับ แต่เป้าหมายแตกต่างกันมาก

สำนักข่าวตะวันออกกลาง ได้ทำการ crop ภาพ หรือตัดเอาเฉพาะด้านซ้ายออกไปตีพิมพ์ หรือเผยแพร่ทางสื่อ ทำให้คนดูจะเห็นความโหดร้ายของทหารอเมริกันในสงครามอ่าว ที่เอาปืนจ่อหัวเชลยศึกผู้อ่อนล้า

หากมีการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์แบบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ หรือเฟสบุ๊ก ปฏิกิริยาในทางลบ หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้รับสารก็อาจจะรุนแรง แสดงความไม่พอใจมาก

หรือที่เรียกเป็นสำนวนว่า “ทัวร์ลง”

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวอเมริกันชื่อดังอีกแห่ง ได้ตัดต่อเฉพาะภาพด้านขวาออกไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่  เพื่อทำให้ผู้รับสารเห็นความมีมนุษยธรรมของทหารอเมริกัน

ภาพลักษณ์ของทหารสหรัฐอาจจะดีขึ้นทันตาเห็น ในฐานะผู้เปิดฉากทำสงครามรุกรานประเทศเล็ก ๆ อย่างอิรัก  เพราะในเวลาต่อมา กองทัพสหรัฐอเมริกันก็ไม่สามารถค้นหาอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพได้ตามที่กล่าวอ้าง  จนสุดท้าย เรื่องนี้กลายเป็นแค่ข้ออ้างของสหรัฐเพื่อหาความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอิรัก โดยมีเป้าหมายคือการโค่นล้ม อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ผู้ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง

ภาพนี้ก็จะกลายเป็นภาพโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพสหรัฐได้ยอดเยี่ยม

แต่ในความเป็นจริงภาพเต็ม ๆ เราอาจจะเห็นทั้งสองด้านของทหารสหรัฐอเมริกัน

การที่สำนักข่าวต่าง ๆ เลือกนำเสนอส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพออกเผยแพร่ ถือว่าเป็น fake news ไหม หรือจะเป็นภาพไม่จริงไหม ก็ไม่ใช่ เพราะเป็นภาพจริง ๆ

ถามว่าเป็นภาพตัดต่อไหม ก็ไม่เชิง เพราะเป็นภาพจริง ๆ

เพียงแต่ว่า นำเสนอภาพไม่หมด เพราะมีการตัดทอนภาพบางส่วนออกไป เพื่อเป้าประสงค์บางประการหรือเพื่อชี้นำบางอย่างให้กับคนรับสาร

อยู่ที่ว่าสำนักข่าวที่เป็นผู้ถ่ายทอดสารเหล่านี้จะเลือกมองมุมใดของภาพ แต่ไม่มองภาพจริงทั้งหมด

ภาพข่าวสงครามภาพนี้จึงเป็นภาพที่ถูกนำมาเป็นบทเรียนให้กับคนทำข่าวทั่วโลกที่โด่งดังมาก

เพื่อสอนคนในวงการสื่อว่า

ภาพที่เราเห็น อาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หากมันถูกตัดทอนความจริงบางส่วนออก เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ความรู้สึก ความรับรู้ที่มีต่อภาพของคนรับสาร ก็เปลี่ยนไปทันที

ชี้ให้เห็นว่า พลังของภาพ ๆเดียว มีอิทธิพลต่อผู้รับสารเพียงใด

และเป็นการเตือนสติคนรับสารว่า ทั้งสื่อใหญ่หรือสื่อเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์  ทีวี หรือสื่อออนไลน์ อาจมีส่วนในการชี้นำคนอ่านให้รับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนมืออาชีพ ที่ทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือให้กับคนอ่านได้

เช่นเดียวกับข่าวสารทั้งเนื้อหาทุกวันนี้ที่แพร่หลายในโลกออกไลน์ ก็เช่นกัน บางทีเรายังรับข้อมูลไม่ครบถ้วน  บางทีเรายังไม่ตรวจสอบข้อมูล บางทีเรายังไม่ทันอ่านให้ครบ เราก็แชร์กระจายกันออกไป  หรือไม่เราก็เขียนคำวิจารณ์อย่างรุนแรง  เราก็ด่า เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเป็นส่วนหนึ่งของการรุมถล่มแบบทัวร์ลง

โดยไม่สนใจแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน

ภาพเพียงภาพเดียวยังบิดเบือนข้อเท็จจริงได้

ประสาอะไรกับข้อมูลมากมายที่ผลิตกันทุกวินาทีในโลกออนไลน์ ว่าจะน่าเชื่อถือเพียงใด

ใจเย็น ๆ ครับ ก่อนจะตัดสินอะไรในโลกออนไลน์  ก่อนจะพิพากษาใครในโลกเสมือน ด้วยการแชร์หรือการวิจารณ์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s