อสม. อาวุธลับในการยับยั้ง Covid-19

 

DSC_0064
ภาพ https://www.siameagle.com/

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วยโรค Covid-19 ในประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญคือแพทย์และพยาบาลผู้ทำงานหนักในทุกโรงพยาบาล

แต่มีตัวละคอนสำคัญอีกกลุ่มที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก

เมื่อเร็ว ๆ นี้  ทางองค์การอนามัยโลก WHO ได้ออกมายกย่องประเทศไทยว่า “สามารถควบคุมโรค Covid-19 ได้ดีกว่าหลาย ๆประเทศ เพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังสำคัญประจำอยู่ทุกจังหวัด

อสม. ถือเป็นด่านหน้าทำงานหนัก ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยา และการเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19  หาข่าวผู้มีความเสี่ยง เฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคล และให้ความรู้ประชาชน ว่าจะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19”

ต้องยอมรับว่า  การควบคุมโรคในจังหวัดต่างๆ เป็นไปด้วยดี มีการแพร่ระบาดน้อย ตัวเลขลดลง อย่างมีนัยสำคัญ  เพราะรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐานของไทย โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ระบบสาธารณสุขของไทยมีความแข็งแกร่งมาหลายสิบปี ไม่ใช่เพียงความก้าวหน้าทางการแพทย์ หรือจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ แต่เป็นเพราะเครือข่ายของระบบสาธารณสุขมูลฐานฝังตัวอยู่ในชนบทไทยมานานร่วมสี่สิบกว่าปีแล้ว

คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเมืองอาจจะไม่รู้จักคำว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรืออสม.ว่าคืออะไร แต่คนเหล่านี้คือตัวเชื่อมโยงให้การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บสามารถครอบคลุมผู้ทั้งประเทศได้

อย่าแปลกใจว่าคนเหล่านี้คือชาวบ้านธรรมดา ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร

หากระบบการสื่อสารมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงได้ทั่วประเทศ  อสม.ก็เปรียบเสมือนโครงข่ายที่เชื่อมโยงการป้องกันโรคของคนทั้งประเทศ

นานมาแล้วที่เราทราบดีว่า การรักษาพยาบาลทั่วโลกมักกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ผู้คนในชนบทหรือต่างจังหวัดมักขาดแคลนโรงพยาบาลหรือการรักษาพยาบาล อัตราการเสียชีวิตของชาวบ้านจึงสูงมาก

ต่อมาในเดือนกันยายน 2521 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ที่เมืองอัลมา อตา สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อร่วมกันพิจารณาหาวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้ และประกาศว่า “การสาธารณสุขมูลฐาน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยุติธรรมในสังคม และเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า”

สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพที่อยู่บนพื้นฐานของการปฎิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามหลักการและเป็นที่ยอมรับ ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ครอบครัว และชุมชน การจัดการสาธารณสุขมูลฐาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนและในทุกขั้นตอนต้องเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน

สาธารณสุขมูลฐาน เป็นระบบบริการสาธารณสุขที่เพิ่มเติมหรือเสริมจากระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ซึ่งจัดบริการในระดับตำบล หมู่บ้าน โดยประชาชนและความร่วมมือของชุมชนเอง

อาจจะเรียกได้ว่า “สาธารณสุขมูลฐาน คือการดูแลสุขภาพอนามัยโดยประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ด้วยการสนับสนุนของรัฐ”

ต้องขอบคุณคุณหมอแห่งกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น ผู้ได้วางรากฐานให้กับสาธารณสุขมูลฐานไทยตั้งแต่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน โดยให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ไม่ใช่มีเฉพาะหมอหรือพยาบาลเท่านั้น และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)เป็นกำลังสำคัญ

อสม. คืออาสาสมัครที่ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายๆ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน

การคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ

อสม. ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวทางในการใช้การสาธารณสุขมูลฐาน นับเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสาธารณสุขของพี่น้องประชาชนทั้งในการ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้น และติดตามปัญหาสุขภาพ

ผลงานสำคัญในช่วงแรกคือ เมื่อเกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย ได้มีการอบรมอสม.ให้เข้าใจโรคร้ายนี้ เพื่อกระจายไปบอกต่อให้กับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะป้องกันโรคได้อย่างไร จนสามารถควบคุมการระบาดของโรคร้ายนี้ได้

หลักการสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดโรค ก่อนที่จะเป็นโรคแล้วต้องมารักษาพยาบาล

หลังจากนั้นมีการอบรมชาวบ้านในหมู่บ้านให้เป็น อสม.เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปทั่วประเทศ  อสม. ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะคอยส่งข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐลงไปในพื้นที่ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน อสม. ทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 หมื่นคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดย อสม. 1 คน จะดูแลประชากรในละแวกใกล้เคียงจำนวน 20 หลังคาเรือนอสม. จนกลายเป็นกำลังหลักของกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีภารกิจสำคัญ อาทิ กระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาโภชนาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็ก 0-5 ชวบ หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำ  อนามัยแม่และเด็ก การจัดหาน้ำสะอาด ระบบสุขาภิบาล การคุ้มครองผู้บริโภค  อบรมให้ความรู้การวางแผนครอบครัว การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุอุบัติภัย ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาหรือส่งต่อ การป้องกันโรคสำคัญ อาทิโรคไข้เลือดออก โรคพยาธิ โรคเอดส์ และล่าสุดคือ โรค Covid-19

นางจรวย ล่องหลง วัย 58 ปี อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนบ้านหน้าคราม ต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร เล่าให้ฟังว่า

ลูกชายป่วยเป็นไข้เลือดออก แต่โชคดีที่รักษาหาย จึงสนใจการดูแลสุขภาพ มาสมัครเป็นอสม. พอเกิดโรค Covid-19 มีวิธีทำงานคือ

“ภายในหมู่บ้าน 180 หลังคาเรือน มีอสม. 22 แบ่งกันเฝ้าระวังคนละ 9 หลังคาเรือน คอยสอดส่องดูแล ให้ข้อมูลความรู้กับลูกบ้านในการป้องกันโรค ใครมาจากต่างจังหวัด ต้องเก็บข้อมูล คอยดูการกักตัว และมีการประชุมกันตลอดว่าจะรับมือกับผู้ป่วยอย่างไรหากเกิดขึ้น”

ทุกวันนี้มีอสม.ล้านกว่าคนทั่วประเทศคอยดูแลให้ความรู้กับชาวบ้าน  และ Super Spread ที่หลายคนตื่นตระหนก จากเวทีสนามมวยลุมพินี และจากการปิดกทม. ทำให้คนทำงานแห่กันกลับบ้านต่างจังหวัดกัน รวมทั้งแรงงานจากเกาหลีใต้ที่กลับเมืองไทย โรคร้ายไม่ได้ลุกลามขยายตัวออกไปทั่วประเทศ แต่สามารถควบคุมได้ เพราะเบื้องหลังการทำงานหนัก อสม.เหล่านี้

มดงานทำงานกันเงียบ ๆ แต่สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าและโด่งดังไปทั่วโลก

 

One thought on “อสม. อาวุธลับในการยับยั้ง Covid-19

  1. ผมว่าคนต้นคิดและ เริ่มลงมือน่าจะเป็น นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยุคปี 2523 และกลุ่มที่ ทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับ อสม. สาธารณสุขมูลฐาน คือกลุ่มแพทย์ชนบท ยุคปี 2529 และทีมกระทรวงสมัยนั้น ผลงาน ที่ทำยั่งยืน และสานต่อมาถึง ปัจจุบัน เด่นชัดมากถึงความเข้มแข็งก็ในคราว โควิด 19 ปีนี้ กล่าวได้เต็ปากว่า เราเป็นหนี้ บุญคุณ อสม. ผู้ซึ่งทำงานหนักแต่ไม่มีเงินเดือนให้ ครับ.

    Like

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s