ภาพซ้ายคือ น้องเมย์ อดีตบัณฑิตคอมพิวเตอร์
ภาพขวาคือ น้องไฟท์ อดีตบัณฑิตวิศวกร
ทั้งคู่เป็นนักศึกษารุ่นใหม่ ไปเล่าเรียนในเมืองใหญ่ เมื่อสำเร็จการศึกษา ทำงานในเมืองได้สักพัก ก็ตัดสินใจกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิดในตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ตำบลวังตะกอมีแม่น้ำหลังสวนเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยง แม่น้ำหลังสวนกำเนิดจากป่าต้นน้ำบนสันเขาคาบมหาสมุทรมลายูบริเวณอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ลำน้ำจากสันปันน้ำบนเขาสูงเทือกเขาภูเก็ตที่มีปริมาณฝนตกชุกกว่า 4,000 มม.ต่อปี
สายน้ำที่ลดเลี้ยวผ่านหุบเขา ผืนป่า ที่ลุ่มก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย กลายเป็นแหล่งก่อเกิดอารยธรรมเนิ่นนานกว่าพันปี ชื่อบ้านนามเมืองของชุมชนบริเวณนี้จึงนำหน้าด้วยวัง ดังเช่น วังตะกอ
ในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่ราบกว่าหมื่นไร่ ของตำบลวังตะกอ ถูกบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน อีกส่วนมาจากภัยธรรมชาติพายุใต้ฝุ่นซีต้าทำให้ตำบลวังตะกอจมอยู่ใต้น้ำนานหลายวันในปี 2540
แต่ชาวตำบลวังตะกอ ได้รวมตัวกันต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ โดยมีผู้นำเข้มแข็งคือ นายประวิทย์ ภูมิระวิ หรือ “กำนันเคว็ด” จนสามารถยุติความขัดแย้งเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า การจัดกิจกรรมที่สร้างพื้นที่สีเขียวในตำบลอย่างต่อเนื่อง จนก่อเกิดกลไกความร่วมมือของชาวบ้านในการสร้างป่าชุมชนที่เป็นแหล่งพืชอาหารท้องถิ่นและสร้างรายได้
หนุ่มสาวทั้งสองคนซึมซับแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารพิษจากคนรุ่นพ่อแม่ที่ถากถางทางเอาไว้นานหลายสิบปี
เมื่อจบการศึกษา น้องไฟท์มาทำงานเป็นพนักงานบริษัท ต้องตื่นแต่เช้า ฝ่าการจราจรอันแสนสาหัสในเมืองหลวง เพื่อรีบมาตอกบัตรให้ทันเวลา มานั่งทำงานในอาคารใหญ่ พอตกเที่ยงรีบออกไปกินอาหาร ทำงาน และฝ่าการจราจรกลับบ้านพัก เป็นวงจรชีวิตวนเวียนอยู่ได้ไม่นาน
ชีวิตในเมืองใหญ่คงไม่ใช่คำตอบ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ กลับบ้านเกิดกันดีกว่า สวนทางกับหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้ามาเล่าเรียนในเมืองใหญ่และต้องทำงานในเมืองต่อไป
น้องทั้งสองใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรปลอดสารเคมีตามความฝันเต็มที่
การกลับบ้านคือการเดินทางอันไม่สิ้นสุดของเด็กทั้งสองเพื่อทำเกษตรอินทรีย์และสร้างอาหารปลอดภัยบนโลกใบนี้
น้องเมย์ลูกกำนันเคว็ด ซึมซับการทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ๆ แม้จะเรียนจบมาทางคอมพิวเตอร์ แต่กลับไปอยู่บ้าน ช่วยพ่อทำเกษตรเต็มตัว ตั้งแต่การทำสวน ทำนา ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ช่วยพ่อสร้างระบบน้ำในสวนให้ผ่านการบำบัดน้ำสี่ห้าครั้งด้วยพืชริมน้ำ เพื่อลดสารเคมีที่มากับน้ำ ก่อนจะปล่อยน้ำเข้าแปลงสวนแปลงนา
ไม่นาน น้องเมย์กลายเป็นวิทยากรแทนพ่อ มีคนมาศึกษาดูงาน และอบรมการทำเกษตรปลอดสารอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก อาหารปลอดภัย เคล็ดลับการปลูกพืช ปลูกผัก ทำสวนหลายชนิด ฯลฯ ทุกวันนี้บ้านน้องเมย์ มีคนมาศึกษาดูงานที่บ้านปีละ2-3หมื่นคนจากทั่วประเทศ
น้องยังใช้วิชาที่เรียนมา สร้าง page “บ้านน้อยกลางป่าใหญ่” เป็น page ให้ความรู้ด้านการเกษตรกับคนสนใจทั่วไป
มีคนติดตามจำนวนมาก
น้องเมย์เคยบันทึกไว้ว่า
“ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่กลับบ้านมาหลังเรียนจบ เมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่าน …ได้อะไรตั้งมากมาย ที่หลายคนไม่ได้สัมผัส ทั้งความสุข สุขภาพกาย สุขภาพใจ ของเราและคนรอบข้าง”
ขณะที่น้องไฟท์ เพื่อนรุ่นน้องกลับบ้านมาทำการเกษตรด้วยความรู้แทบเป็นศูนย์ เพราะวัยเด็กไม่ได้สนใจมากนัก
แต่เขาใช้สองมือและสองแขนเรียนรู้ทุกวัน
น้องไฟท์สนใจการปลูกผักสลัดจริงจัง ด้วยการเริ่มสร้างโรงเรือนปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ ลองผิดลองถูก ผักสลัดรุ่นแรก ๆมีปัญหาแมลงวางไข่ เขาพยายามสังเกตจนหาทางออกของปัญหาได้ จนผักสลัดรุ่นต่อมามีคุณภาพพอจะส่งขายร้านค้าในเมือง เขาปลูกแบบค่อยๆทำ ศึกษาหาความรู้ตลอด ไม่รีบขยายกิจการ แม้ออเดอร์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
น้องไฟท์ตัดสินใจมาสร้างบ้านหลังเล็กๆกลางสวนป่า สันโดษห่างไกลตัวเมือง เพราะต้องการดูแลผักอย่างจริงจัง
ผู้เขียนถามว่ารายได้หายไปเยอะไหม เมื่อเทียบกับตอนที่ได้เงินเดือนจากพนักงานประจำ
คำตอบคือ
“มากเลยพี่ แต่รายจ่ายของผมที่บ้านแทบไม่มี ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และมีเงินเหลือเก็บมากกว่าตอนทำงานบริษัทเสียอีก”
“ไม่ค่อยถูกแรงกดดันจากที่ทำงาน สบายใจมากกว่า เป็นเจ้าของกิจการเอง และเห็นอนาคตที่ค่อย ๆเติบโต ไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นอะไรที่มากกว่านั้น”
สิ่งที่ดีที่สุดของพวกเขาคือ นอกจากได้ทำงานที่ตัวเองรักแล้ว ได้กลับมาดูแลพ่อแม่ ได้อากาศบริสุทธิ์ หนีโรคร้าย และชีวิตไม่เร่งรีบอย่างไร้จุดหมายเหมือนในเมืองใหญ่
เกษตรกรคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปลูกผักปลูกข้าวปลอดสาร ไม่ได้โลกสวย หรือทำแบบเล่นๆตามแฟชั่น
แต่กลับบ้านเกิดด้วยใจเบิกบาน
ปาดเหงื่อลงมือทำจริงจัง
เพราะมันคือโลกจริงในวันนี้และวันหน้า