
ชื่อเสียงของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ในอดีต ผู้คนอาจจะรู้จักว่า เป็นดงนักเลง ไม่มีใครกล้าตอแยด้วย
คนหลังสวนเป็นคนพูดจริง ทำจริง ไม่กลัวเกรงอิทธิพลใด ๆ จึงได้ชื่อว่าเป็นนักเลงจริง
แต่ปัจจุบัน อาจจะได้ชื่อว่าเป็นดินแดนปลูกทุเรียนอันดับต้น ๆของประเทศ
ทุกวันนี้จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ มีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 164,099 ไร่ เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
รองจากจังหวัดจันทบุรี แต่ละปีให้ผลผลิตประมาณ 120,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับคนจังหวัดชุมพรปีละไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี
เช่นเดียวกับชาวบ้านหลังสวนก็นิยมปลูกทุเรียนกันถ้วนหน้า เรือกสวนไร่นาจากการปลูกปาล์มก็เปลี่ยนเป็นสวนทุเรียน
ปลูกมากจนกระทั่งมีล้งทุเรียน จากพ่อค้าคนจีนไปรับซื้อทุเรียนถึงท้องถิ่น
ล้ง เป็นคำเรียก โรงรับซื้อผลไม้ ซึ่งตอนนี้พ่อค้าจีนมาตั้งล้งถึงอำเภอหลังสวนเพื่อรับซื้อทุเรียนจากชาวสวน
นำไปขายต่อที่ประเทศจีน โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนไทย
และบางล้งยังรับซื้อทุเรียนแบบเหมาสวนไปเลย
ล้งจีนฉลาดตรงที่ว่า รับซื้อเฉพาะเนื้อทุเรียน ไม่ได้ส่งทุเรียนทั้งลูกไปขายเมืองจีน ที่ผ่านมาจึงมีเปลือกทุเรียนจำนวนหลายพันตันที่เหลือจากการแกะเอาเนื้อทุเรียนออก ทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นขยะมหาศาลตามพื้นดิน ริมถนน เพราะเป็นขยะทุเรียนมากจนกระทั่งกำจัดขยะไม่ไหว
แต่ที่อำเภอหลังสวน มีกำนันแห่งตำบลวังตะกอ ชื่อกำนันเคว็ด หรือประวิทย์ ภูมิระวิ เป็นผู้นำชุมชนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นมาช้านาน
ในอดีตชุมชนวังตะกอเจอสารพัดปัญหา การบุกรุกทำลายป่า ภัยจากยาเสพติด มือปืนรับจ้าง การกว้านซื้อที่ดินของนายทุน การใช้สารเคมีอย่างแรงเพื่อทำเกษตร
กำนันเคว็ด เป็นผู้รวบรวมให้เกิดความร่วมมือของคนในตำบล ด้วยวางแผนจัดการชุมชนที่มีเป้าหมายให้ชุมชนเป็นเจ้าของ พวกเขาค่อย ๆช่วยกันแก้ปัญหาหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้น ขยายมาสู่การปลูกต้นไม้ทั่วทุกพื้นที่ว่างของตำบลวังตะกอ ปลูกป่าผสมหลายชนิดเพื่อความยั่งยืน รณรงค์เลิกล่าสัตว์ป่า แก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินของชาวบ้าน รื้อฟื้นการทำนาอินทรีย์ ลดเลิกการใช้สารเคมี
หลายปีผ่านไป ชุมชนวังตะกอกลายเป็นแบบอย่างที่เรียนรู้ของผู้สนใจทั่วประเทศ ว่าจะสร้างความเข้มแข็งในชุมชนได้อย่างไร
และเมื่อมีปัญหาใหม่เข้ามา คือขยะทุเรียน ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวอำเภอหลังสวน เพราะเปลือกทุเรียนมหาศาลกลายสภาพเป็นขยะเกลื่อนกลาดตามถนน พื้นที่สาธารณะ และนานเข้ามีหนอนมาเจาะไช ส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่ว จนเทศบาลไม่มีปัญญาจะจัดการได้หมด
กำนันเคว็ด และผู้คนในชุมชนต่างเห็นปัญหาความเดือดร้อนของขยะ แต่พวกเขามีประสบการณ์ในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมาตลอด อาทิ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่จากวาตภัยเมื่อหลายปีก่อน และแก้ปัญหาได้สำเร็จ
พวกเขาระดมความเห็น ช่วยกันหาทางออกกับการแก้ไขปัญหาขยะเต็มเมือง
กำนันเคว็ดเริ่มต้นด้วยการประกาศเชิญชวนบอกผู้คนว่าหากไม่มีที่ทิ้งเปลือกทุเรียน ให้ขนใส่รถมาทิ้งที่สวนของเขาได้เลย
แต่แน่นอนว่าต้องผ่านการคัดแยกเอาเฉพาะเปลือกทุเรียนมาเท่านั้น ห้ามมีขยะไม่ย่อยสลายมาเด็ดขาด หากพบเจอ ให้นำกลับไปเลย
พอข่าวกระจายออกไป แต่ละวันมีชาวบ้านที่ขายทุเรียนให้ล้งจีนได้แล้ว นำเปลือกทุเรียนมาทิ้งที่สวนกำนัน เวลาผ่านไปนับจำนวนขยะเปลือกทุกเรียนถูกกองไว้ในสวนได้นับพันตัน
กำนันกับทีมงานช่วยกันเอาน้ำหมักจุลชีพ น้ำส้มควันไม้ที่เตรียมไว้ ราดใส่กองเปลือกทุเรียน เพื่อป้องกันการส่งกลิ่นเหม็น และช่วยให้เปลือกทุเรียนย่อยสลายไปตามธรรมชาติเอง
เวลาผ่านไปสามสี่เดือน กองขยะเปลือกทุเรียนค่อย ๆ ยุบตัวลง ใช้น้ำหมักชีวภาพรดเปลือกทุเรียนบ่อยขึ้น จนกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีมีแร่ธาตุและจุลินทรีย์จำนวนมหาศาลให้กับสวนแห่งนี้ และมีเหลือบรรจุใส่ถุงขายให้กับผู้คนที่สนใจได้ กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญอีกทางหนึ่ง
และทำให้สวนอื่น ๆ ของคนในชุมชนเกิดการเลียนแบบ สวนหลายแห่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะเปลือกทุเรียนของคนในตลาด
ปัญหาขยะทุเรียนเต็มถนน ส่งกลิ่นเหม็นเน่าก็ค่อย ๆ จางหายไปในอำเภอหลังสวน และยังเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี
ปัญหาขยะ จัดการได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเลย ไม่ต้องเปลืองเงินภาษีไปสร้างโรงกำจัดขยะ
แถมมีรายได้เข้ากระเป๋าอีก จากการทำขยะให้เป็นปุ๋ย
ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
แต่เกิดจากการสังเกต และความตั้งใจในการหาทางออกร่วมกันของผู้คนในชุมชน