ข่วงต้นปีหากคนในกรุงเทพมหานครขับรถหนีหมอกควันพิษจาก pm2.5 ออกไปนอกเมือง มุ่งหน้าสู่เมืองกาญจนบุรี
จะพบว่าตลอดเส้นทางปกคลุมไปด้วยหมอกเช่นกัน
ผู้เขียนเคยขับรถออกไปแต่เช้า ต้องเปิดไฟหน้ารถตลอดทางแม้จะเป็นเวลาแปดโมงเช้า
หากหมอกควันในกรุงเทพฯมาจากควันดำของเรถยนต์และฝุ่นการก่อสร้างเป็นสาเหตุหลัก
คนแถวภาคกลางและภาคอีสานก็ได้รับหมอกควันจากการเผาไร่อ้อย
ช่วงเวลานี้ของทุกปีเป็นเทศกาลเผาไร่อ้อยทั้งแผ่นดิน โรงงานน้ำตาลจะเปิดฤดูหีบอ้อยตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน อากาศแห้งและเย็น อ้อยกำลังหวานได้ที่พอดี หากเลยช่วงนี้ไป ฝนเริ่มตก อ้อยจะไม่ค่อยหวาน ตัดยาก พื้นดินเฉอะแฉะ รถบรรทุกทำงานลำบากในไร่อ้อย เผาก็ยาก
เราจึงเห็นรถบรรทุกอ้อยขนาดใหญ่แล่นกันเต็มถนนช่วงเวลานี้
ทั่วประเทศปลูกไร่อ้อยประมาณ 12 ล้านไร่ คาดกันว่ามีการเผาไร่อ้อยประมาณ 6 ล้านไร่
ฝุ่นที่เกิดจากการเผานี้มีทั้งฝุ่นขนาดเล็กแบบ pm2.5
และฝุ่นขี้เถ้าขนาดใหญ่สีดำปลิวลอยเป็นหมอกควัน
สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานานหลายสิบปี เรียกว่า หิมะดำ
ปีนี้และปีต่อๆไป การเผาไร่อ้อยจึงมีแต่จะเพิ่มขึ้น
หิมะดำที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแสนสาหัสคงไม่หายไปง่าย ๆ
แล้วทำไมต้องเผาไร่อ้อย
ผู้เขียนเคยพูดคุยกับคนงานเผาไร่อ้อยหลายคน เห็นตรงกันว่า
“ใบอ้อยมันคม บาดทีเดียวเลือดซิบ ๆ ใบเหนียวด้วย ตัดยาก และตัดช้า ตัดต้นอ้อยแล้วต้องเสียเวลาเอามีดมาริดเอาใบออกจากต้น เผาก่อนมันตัดง่ายดี”
เจ้าของไร่อ้อยหลายรายทราบดีว่า ในสถานการณ์ที่แรงงานขาดแคลน คนงานรับจ้างตัดไร่อ้อยทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขว่าต้องเผาไร่อ้อยก่อนถึงจะรับจ้างตัด
ทุกวันนี้แรงงานที่ทำงานกลางแดดจัด ๆ แบบนี้หาไม่ง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวไหลทะลักเข้ามา
แต่แม้เป็นแรงงานต่างด้าวก็เล่นตัวเหมือนกัน อยากให้เผาไร่อ้อยก่อน เพราะรายได้ต่างกันมาก
มีข้อมูลว่าหากเผาไร่อ้อยจนใบไหม้หมดเหลือแต่ลำต้นอ้อย ก่อนจะตัด
สามารถตัดได้ปริมาณอ้อยมากถึง 4-5 ตันต่อวัน ตัดได้ง่าย ไม่เจ็บ เสร็จเร็ว ได้เงินเร็ว
แต่หากตัดอ้อยโดยไม่เผา อาจบาดเจ็บเลือดไหล และทำงานช้าตัดได้แค่ 1.5 ตันต่อวัน
แม้ว่าโรงงานน้ำตาลบางรายชอบรับอ้อยสด ให้ราคาดีกว่า เพราะคุณภาพของน้ำตาลดีกว่าอ้อยที่โดนไฟไหม้
แต่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็นิยมเผาก่อนตัด เพราะทำงานได้เร็วกว่า
เจ้าของไร่หลายรายเลือกเผาไร่อ้อย แม้จะรู้ว่าต้องถูกหักงานจากโรงงานน้ำตาลเพียงตันละ 30 บาท เพื่อไปให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดตามระเบียบที่กำหนดไว้ แต่บวกลบคูณหารในใจแล้วคุ้มกว่าเยอะ
และแม้จะรู้ว่าฝุ่น ควัน หิมะดำจะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเพียงใด ก็ต้องทำ เพราะคุ้มค่ากว่า
ผู้เขียนไปที่เมืองกาญจน์ มีพื้นที่ปลูกอ้อย 7 แสนกว่าไร่ ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ
ชาวบ้านเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าจากการเผา จนหิมะดำปลิวฟุ้ง
แต่ที่บ้านท่ามะนาว อำเภอเมือง ชาวบ้านไม่เผาไร่อ้อยมานานแล้วหลายสิบปีแล้ว
เพราะทราบดีว่าชาวบ้านเดือดร้อนจากควันดำ จึงใช้แรงงานตัดอ้อยสด
“เถ้าแก่เจ้าของสองร้อยไร่ ไม่เคยเผาไร่อ้อยเลยตั้งแต่ทำไร่มายี่สิบกว่าปี
แกไม่ชอบเผา ชอบตัดอ้อยสด คงรู้ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน”ชาวบ้านรับจ้างตัดอ้อยคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
แถมคุณภาพน้ำตาลสูงกว่า และซากต้นอ้อยในไร่ยังมาทำปุ๋ยได้ แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้นเพราะแต่ละวันตัดได้ช้ากว่าการเผา
ผู้เขียนถามว่า แล้วไม่โดนใบอ้อยบาดเหรอ
“เวลาตัดก็ต้องระวัง ค่อย ๆตัด ใส่ถุงมือป้องกัน หากตัดเก่งแล้วก็ไม่ค่อยบาดเจ็บ”
การตัดอ้อยจึงเป็นการทำงานแบบประณีตและละเอียด แม้จะตัดได้ช้า แต่ดูเหมือนคนงานเหล่านี้ก็พอใจตัดกันจนชำนาญ เช่นเดียวกับเจ้าของที่แม้จะเสียเวลา ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ไม่ค่อยใส่ใจ
แต่คนแบบนี้ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ในวงการอ้อย การเผาจึงดำรงอยู่เหมือนหมอกควันพิษที่นับวันจะเพิ่มขึ้น
เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) อนุมัติเปิดโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้วอย่างน้อย 12 โรง รวมกำลังการผลิตเกือบ 30 ล้านตันต่อปี เป็นการไฟเขียวเพิ่มปริมาณผลิตน้ำตาลครั้งใหญ่ในรอบ 26 ปี
ทุกวันนี้ไทยผลิตน้ำตาลส่งออกมากเป็นอันดับสองรองจากบราซิล แต่ก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพราะความต้องการน้ำตาลของประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมากสองถึงสามเท่าตัว
รายได้มหาศาลจากการส่งออกที่ตกอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่รายแลกกับสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่
พอรู้แล้วว่ารัฐบาลเลือกอะไร