ไฟป่าที่เกิดขึ้นบนทวีปออสเตรเลียเร็ว ๆ นี้ กินอาณาเขตกว้างขวางหลายสิบล้านไร่
สร้างความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง
ทำให้เรารู้จักความรุนแรงของไฟป่ามากขึ้นว่าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใด
แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ไฟป่าในมหาสมุทร
และความรุนแรงของมันดูเหมือน ไฟป่าบนบกอาจจะเทียบไม่ติด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสาร Advances in Atmospheric Sciences ฉบับล่าสุด ได้รายงานว่า
ในปี 2019 ที่ผ่านมา มหาสมุทรทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนน่าวิตกสุดขีด
โดยพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.075 องศาเซลเซียส เกือบใกล้ 1 องศาเซลเซียสแล้ว
ต้องเข้าใจว่า โลกใบนี้ประกอบด้วยแผ่นดินแค่ 30% ที่เหลือ 70% คือท้องทะเลและมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ดังนั้น การจะทำให้อุณหภูมิผืนน้ำทั้งมวลที่ไหลเวียนติดต่อกันทั่วโลกเพิ่มขึ้น ต้องใช้พลังงานความร้อนมหาศาล
ดร. เจิ้ง ลี่จิง จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) หนึ่งในทีมผู้วิจัยค้นพบว่า
“ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา พลังงานความร้อนที่เราใส่ลงไปในมหาสมุทร เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3.6 พันล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 4 ลูก ในทุก 1 วินาที”
แต่ในปี 2019 เพียงปีเดียว อัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานความร้อนนี้กลับสูงขึ้นแบบผิดปกติ เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 5 ลูก ในทุก 1 วินาทีตลอดทั้งปี
“ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเปรียบเทียบกับประชากรบนโลก 7,300 ล้านคนบนโลกนี้ ทุกคนใช้ไดร์เป่าผมคนละ 100 ตัว เป่าลมร้อนจ่อไปยังมหาสมุทรพร้อมกัน” จอห์น อับราแฮม จากมหาวิทยาลัยเซนต์โทมัส ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในทีมผู้วิจัยให้คำอธิบาย
ถามว่าหากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 1 องศา จะเกิดอะไรขึ้น
ที่ผ่านมาท้องทะเลมหาสมุทรคือตัวกักเก็บความร้อนส่วนเกินจากดวงอาทิตย์ไว้ถึงร้อยละ 90 มีการคาดว่าหากเราไม่ทำอะไร เลยต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน น้ำทะเลบางส่วนอาจจะสูงขึ้น 0.78 องศาเซลเซียส ส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร จากการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
นึกสภาพผู้คนหลายร้อยล้านคนตามชายฝั่งจะปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้อย่างไร ก็นึกไม่ออก
และเมื่อความร้อนทำให้ไอน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดพายุ ฝนตกหนักรุนแรงมากขึ้น
ปรากฎการณ์มหาพายุไต้ฝุ่น เฮอริเคน ที่พัดถล่มชายฝั่ง เกิดอุทกภัยไปทั่วโลก มีคนตายจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา
อาจจะเป็นหนังตัวอย่างที่ดีว่า มหาพายุในทะเลจะเกิดขึ้นตลอดกาล
อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ล้มตายลงทั่วโลก เพราะน้ำร้อนเกินกว่าที่ปะการังจะรอดชีวิตได้
ปะการังคือบ้านอาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมหาศาล แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลที่มนุษย์กิน
สิ่งมีชีวิตในทะเล อาจลดลงได้กว่า 5% หรือมากกว่านั้น
อย่าลืมว่าอาหารโปรตีนของมนุษย์ทั่วโลกส่วนใหญ่นำมาจากสัตว์น้ำในท้องทะเล
สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เผยแพร่รายงาน ‘Ocean Shock: The planet’s hidden climate change’ ว่า
เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดปกติ เมื่อสัตว์ทะเลพากันเดินทางอพยพห่างจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรไปขั้วโลกที่มีอากาศหนาวเย็นกว่าอย่างต่อเนื่อง ราวกับว่ามันหนีอะไรบางอย่าง
ในขณะที่อุตสาหกรรมปลาทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า ขนาดของปลาก็เล็กลงเรื่อย ๆ
อาทิเช่น 30 ปีที่ผ่านมา โปรตุเกสเคยจับปลาซาร์ดีนได้มากถึง 110,000 ตันต่อปี ปัจจุบันลดเหลือเพียง 14,000 ตันต่อปี ขนาดก็เล็กลง
ชาวประมงไทยก็จับปลาทูลดลง จากที่เคยจับปลาทูสูงสุดปริมาณกว่า 147,852 ตันในปี 2554 ได้ลดลงมาเหลือเพียงกว่า 20,461 ตันในปี 2561 หรือกว่า 7 เท่า และมีขนาดเล็กลงด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาคืออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
เมื่อสิบปีก่อน ญี่ปุ่นเคยจับ ‘ปลาหมึกบิน’ ได้กว่า 200,000 ตัน แต่ลดเหลือเพียง 53,000 ตัน ในปีที่ผ่านมา
เวลาเกิดไฟป่าบนบก มนุษย์ยังเห็นและระดมผู้คนออกไปช่วยดับไฟป่า แก้ปัญหาหรือช่วยชีวิตสัตว์ แต่เมื่อน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น ไม่มีใครสังเกตเห็น ไม่มีหน่วยกู้ภัยใด ๆ ลงไปช่วยเหลือ หรือลงไปแล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้
ที่ผ่านมา ท้องทะเลและมหาสมุทรคือพื้นที่ขนาดมหาศาลที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโลกร้อน แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนจากชั้นบรรยากาศไว้เกือบเต็มความสามารถแล้ว และจะใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าอุณหภูมิในน้ำจะเย็นลง แม้มนุษย์จะสามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ทันทีก็ตาม
อะไรที่ไม่ได้เห็น ก็คงได้เห็นในชีวิต
มหาไฟป่า มหาพายุไต้ฝุ่น และไฟป่ามหาสมุทร