บทเรียนจากการรายงานข่าวทีมหมูป่าติดถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงราย
อันเป็นข่าวดังระดับโลกแห่งปี มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เป็นการรายงานข่าวที่ครบทุกมิติของข่าว
คือข่าวชีวิตผู้คนที่เฝ้ารอ ข่าวการเมือง การกู้ภัย ข่าวไสยศาสตร์ความเชื่อ
และการรายงานข่าวที่ให้ความรู้กับประชาชน ทั้งด้านการแพทย์ ธรณีวิทยา อุทกศาสตร์ นิเวศวิทยา
ซึ่งขอพูดรวม ๆ ว่าเป็นข่าววิทยาศาสตร์
ทีมข่าวไทยสามารถทำได้ดีในทุก ๆมิติ แต่สำหรับข่าววิทยาศาสตร์
สำนักข่าวไทยหลายแห่งพยายามทำออกมาได้ดีระดับหนึ่ง
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักข่าวยักษ์ใหญ่จากเมืองนอกที่มีพื้นฐาน ทำมานาน
ความชำนาญและอุปกรณ์ครบเครื่อง จึงมีการเปรียบเทียบให้เห็นว่า
การรายงานข่าวด้านวิทยาศาสตร์ของเรายังห่างไกลจากสำนักข่าวยักษ์ใหญ่
ด้านคุณภาพในการทำ infographic อาจจะสูสี
แต่ด้านเนื้อหาและความเข้าใจเรื่องยาก ๆ ที่ทำให้ง่ายต่อการดูแล้ว
หากดู infographic จากสำนักข่าวเมืองนอก อาทิ เรื่องสภาพภูมิประเทศของถ้ำตลอดระยะทางจากปากถ้ำไปถึงทีมหมูป่า หรือ วิธีการดำน้ำช่วยชีวิตเด็กออกมา จะเห็นได้ว่า
ทำได้เข้าใจง่ายและชัดเจนกว่า จึงมีคนติดตามมหาศาล
Infographic เป็นคำตอบของการรายงานข่าวที่ต้องการย่อยข้อมูลยาก ๆ สลับซับซ้อน
ให้เข้าใจง่าย ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของคนทำเทคนิคและเนื้อหามาก
ต้องยอมรับความเป็นมืออาชีพของเมืองนอกที่ทำมานานแล้ว
ผู้เขียนพอสรุปสาเหตุว่า ทำไมการรายงานข่าววิทยาศาสตร์จึงเป็นจุดอ่อนของสำนักข่าวคนไทย
1. ที่ผ่านมานักข่าวไทยส่วนใหญ่มักมีความชำนาญมากในด้านข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ
ข่าวอาชญากรรม ข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง และทำได้ดีมาก
เรามีนักข่าวเก๋าๆที่รู้เรื่องเหล่านี้ดีมาก เพราะข่าวเหล่านี้ล้วนเป็นข่าวกระแสหลักมาโดยตลอด
เป็นความต้องการของคนเสพข่าวอย่างพวกเราด้วย
ไม่แปลกที่พื้นที่ข่าวจึงเต็มไปด้วยข่าวประเภทนี้มากกว่าข่าวเชิงวิทยาศาสตร์
ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจมาก
2. ที่ผ่านมาข่าวที่คนสนใจคือข่าวที่มีความขัดแย้งเป็นแกนของข่าว อาทิ
ข่าวการเมือง นายกฯทะเลาะกับนักการเมือง การแข่งขันในวงธุรกิจ
ข่าวดาราทะเลาะกัน ข่าวชาวบ้านทะเลาะกับเทศกิจ
ไปจนถึงข่าวฆาตกรรมก็เป็นคู่ขัดแย้ง ข่าวกีฬาก็เป็นคู่ขัดแย้งว่าใครจะชนะ
บก.ข่าวที่เก่งจึงมีความชำนาญในการดึงความขัดแย้งขึ้นมา
แต่ข่าวเด็กติดถ้ำ ธรรมชาติข่าวไม่ได้มีความขัดแย้ง เป็นเรื่องการกู้ภัย เรื่องมนุษยธรรม .
คนดูนอกจากอยากรู้การรายงานสถานการณ์แล้ว
ยังสนใจการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าอาทิ
ทำไมน้ำท่วม ทำไมเด็กออกมาไม่ได้ ลักษณะถ้ำเป็นอย่างไร
3. ที่ผ่านมาแม้นักข่าวจำนวนไม่น้อยมีความพยายามนำเสนอข่าวด้านวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งแวดล้อม
ที่ทำยากให้เข้าใจง่าย แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเจ้าของสื่อหรือผู้บริหารสื่อแต่ละสำนัก
เพราะเชื่อว่าข่าวแบบนี้ขายไม่ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ นโยบายของเจ้าของสำนักข่าวบ้านเรา
ไม่เคยให้ความสนใจกับข่าวด้านนี้อย่างจริงจัง
4. ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยมีนักข่าวสายนี้ในวงการข่าวมากนัก
เราแทบจะไม่เคยเห็นเด็กจบสายวิทยาศาสตร์หรือพวก เนิร์ด มาเป็นนักข่าวเลย
ขณะที่เกือบทั้งหมดเป็นนักข่าวสายสังคมศาสตร์
5. พอเกิดเหตุเด็กติดถ้ำข่าวมีแง่มุมข่าวมากมาย ตั้งแต่ชีวิตการทำงานของผู้คน
และการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอันหลังต้องใช้ความเข้าใจและค่อนข้างยาก
เพราะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ อาทิ ธรณี อุทกศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แพทย์ ฯลฯ
6. สำนักข่าวหลายแห่งพยายามเสนอข่าวอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแบบวิทยาศาสตร์
แต่อาจจะไม่ได้มีความชำนาญมาก่อน และต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมากในเวลาจำกัด
จึงทำข่าวได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ละเลยข่าวด้านนี้ไปเลย เพราะทำยากเกินไป
7. เมื่อสื่อระดับโลกที่มีความชำนาญในการทำข่าววิทยาศาสตร์มานาน มาทำข่าวนี้
เราจึงเห็นการอธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ในถ้ำมากมายบนสื่อต่างประเทศ
และได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก
8. เจ้าของสื่อและผู้บริหารสื่ออาจจะต้องพิจารณาให้ดีว่าในอนาคต
จะมีเป้าหมายในการลงทุนการทำข่าวประเภทนี้หรือไม่
เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้พิสูจน์ได้ว่า มีคนสนใจ เรทติ้งมี และสร้างความน่าเชื่อถือกับข่าวแบบนี้ได้ดี
9. เชื่อว่านักข่าวพร้อมอยากรายงานข่าววิทยาศาสตร์ให้ได้ดี. คนดูพร้อมดู
แต่ผู้บริหารสื่อมีวิสัยทัศน์พอหรือไม่ในการเสนอข่าวทำนองนี้
ซึ่งสร้างความแตกต่างได้มาก แต่ต้องลงทุน หาคนด้านนี้ คนทำกราฟิกเก่งๆ
มีฝ่ายวิจัยฝ่ายข้อมูลที่พร้อมจะป้อนให้นักข่าวและคนทำ
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนการรายงานข่าวครั้งนี้ ผู้บริหารสำนักข่าวหลายแห่งที่ตีโจทย์แตก
และทำมานานแล้ว มีการนำเสนอ infographic อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ของน้ำท่วม
ความลึกของถ้ำ สรีระร่างกายเด็ก ฯลฯ จึงได้เปรียบกว่าหลายสื่อที่ยังรายงานข่าวในบริบทเดิมๆ
ในอนาคต ข่าวการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆอย่างง่ายๆ หรือข่าววิทยาศาสตร์
จะมีความสำคัญไม่ต่างจากข่าวความขัดแย้งของผู้คนในสังคม