ภูเขาหินปูนที่เห็นในภาพ อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเอราวัณ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
เชื่อไหมว่า ภูเขาหินปูนลูกนี้อาจจะค่อย ๆ หายไปจากการระเบิดหิน
หากเมื่อสิบกว่าปีก่อนชาวบ้านแถวนี้ไม่รวมตัวกันต่อสู้และปกป้องภูเขาและป่าแห่งนี้
ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมรมรักษ์เขาเอราวัณ แห่งตำบลช่องสาริกาในจังหวัดลพบุรี
ชมรมฯแห่งนี้เป็นแหล่งรวมตัวของชาวบ้านผู้สนใจการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมานานสิบกว่าปี
หลังจากเมื่อปีพ.ศ. 2546 มีข่าวว่า
โรงงานโม่หินแห่งหนึ่งยื่นเรื่องขอสัมปทานระเบิดหินในเขาเอราวัณ แ
ละทางการกำลังจะอนุญาตให้สัมปทาน
เวลานั้นความรู้ ความสำคัญของเรื่องระบบนิเวศเขาหินปูนในเมืองไทยยังศึกษากันน้อยมาก
จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ภูเขาหินปูนไม่มีคุณค่าในระบบนิเวศเลย
แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นั่นมาช้านาน กลับเล็งเห็นคุณค่าของภูเขาหินปูน
พวกเขาจึงยื่นหนังสือคัดค้านการให้สัมปทานระเบิดภูเขาหินปูนกับทางอบต.เพื่อขอให้ยุติโครงการ
แต่ทางผู้ประกอบการได้ยื่นเรื่องให้ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีพิจารณา
และได้รับอนุญาตให้ได้สัมปทาน ด้วยเหตุผลว่า
พื้นที่ไม่มีความสำคัญด้านการอนุรักษ์ และเวลานั้นไม่มีข้อมูลที่จะอธิบายคุณค่าของเขาหินปูนได้เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงพากันออกเดินสำรวจเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ
ของภูเขาหินปูนเอราวัณ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่
ชาวบ้านยังประสานไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ
อาทิกรมอุทยานสัตว์ป่าและพรรณพืช ขอคำปรึกษาเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในระบบนิเวศเขาหินปูน
กรมทรัพยากรธรณี ด้านฟอสซิล กรมศิลปากรด้านโบราณวัตถุ
ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้มาก่อน
แต่สามารถประสานงานเพื่อหาองค์ความรู้มาคัดค้านกับฝ่ายที่จะให้สัมปทานที่บอกว่า
พื้นที่แห่งนี้ไม่มีคุณค่าอันใด ได้อย่างน่าสนใจ
ผลการสำรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติวิทยาและโบราณคดีมากมาย อาทิ
มีพืชและสัตว์เฉพาะถิ่นหายาก อาทิ นกจู๋เต้น
ยังมีการขุดพบฟอสซิลหอย ยุคเพอร์เมียนอายุสองร้อยล้านปี
เป็นการพิสูจน์ว่าแถวนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน
และยังพบโบราณวัตถุยุควัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก
ชาวบ้านรู้อยู่แกใจว่า ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์เพียงใด
แต่ที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือการระเบิดภูเขาหินปูน
จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชาวบ้านทราบดีว่า คนแก่งคอย สระบุรี พื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
สมัยก่อนก็เคยมีป่าเขาสมบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์มาก
แต่เมื่อทางการให้สัมปทาน ระเบิดภูเขาหินปูนหินเพื่อผลิตปูนซิเมนต์ลูกแล้วลูกเล่า
ทำให้ทั้งประชาชนอำเภอแก่งคอยประสบปัญหาฝุ่นควันจากการระเบิด
จนถึงทุกวันนี้ แก่งคอยมีผู้ป่วยทางลมหายใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
บทเรียนจากแก่งคอยจะไม่มีทางเกิดกับพวกเขาเด็ดขาด
ชาวบ้านไม่กี่คนรวมตัวกันเข้มแข็ง คัดค้านอย่างเข้มแข็ง
ท่ามกลางเสียงข่มขู่เอาชีวิตจากผู้มีอิทธิพล
เวลาผ่านไป จากคนไม่กี่คนที่ร่วมกันต่อสู้ในนามชมรมรักษ์เขาเอราวัณ
จนต่อมาชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจและกลายเป็นแนวร่วมในการคัดค้าน
พวกเขายังได้ส่งตัวแทนกลุ่มอนุรักษลงเลือกตั้งในการเมืองระดับท้องถิ่น
ที่ก่อนหน้ามีคนของฝ่ายสนับสนุนให้สัมปทานโรงโม่หินยึดครอง
จนประสบชัยชนะได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น
และเป็นปัจจัยสำคัญในการไม่ยอมให้พื้นที่ได้รับสัมปทาน
และสุดท้ายเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลความสำคัญของพื้นที่ทางธรรมชาติเขาเอราวัณ
ทางกรมอุทยานฯ จึงได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในปีพ.ศ.2550
เพราะมีสัตว์ป่าสงวน คือ เลียงผา และนกเฉพาะถิ่นที่หายากคือ นกจู๋เต้น
พื้นที่เขาหินปูนยังมีความสำคัญในระบบนิเวศเขาหินปูนและเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของชุมชนแถบนี้ด้วย
หลังประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีกฎหมายรองรับและคุ้มครองชัดเจน
ทำให้อีกฝ่ายจึงจำเป็นต้องล่าถอย ยกเลิกการให้สัมปานได้สำเร็จ
ทุกวันนี้เขาเอราวัณเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติสำคัญของลพบุรี
และชาวบ้านยังขยายการดูแลพื้นที่ป่าออกไปอีก 7 พันกว่าไร่ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน
แกนนำชมรมรักษ์เขาเอราวัณคนหนึ่งพาผู้เขียน เดินขึ้นที่สูงมองลงมา
เห็นภูเขาหินปูนตั้งตระหง่านล้อมรอบด้วยป่าสีเขียวที่พวกเขาช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมาสุดลูกหูลูกตา
“หากชาวบ้านอย่างพวกผมไม่ลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมเสี่ยงชีวิต
ภูเขาหินปูนที่เห็นคงแบนราบไปนานแล้ว”
เขากล่าวกับผู้เขียนก่อนลาจากกัน
การปกป้องผืนป่า ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ
สักครั้งเดียว