22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด
คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านการห้ามใช้สารเคมีประกาศเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง
ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมเรื่องการเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช คงยังไม่จบสิ้นง่าย ๆ
เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หรือยาฆ่าหญ้า
ได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพราะมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการปราบศัตรูพืช
“พาราควอต” เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ซึ่งคนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า “กรัมม็อกโซน”
“ไกลโฟเซต” เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า “ราวด์อัพ”
ต่อมามีการพบว่า สารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพและปนเปื้อนในดินและน้ำ
จนทำให้ 53 ประเทศทั่วโลกได้แบนสารชนิดนี้ รวมทั้งประเทศไทย
ฝ่ายที่คัดค้านก็ให้เหตุผลว่า จะทำให้ต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น
เพราะต้องหาวิธีกำจัดศัตรูพืชแบบอื่น และเรื่องผลที่มีต่อสุขภาพก็ไม่ชัดเจน
กล่าวหาว่า คนที่สนับสนุนการแบบสารเคมีส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง
แต่เป็นคนที่ห่วงใยสุขภาพมากกว่า
ท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ ไม่กี่วันที่ผ่านมา
ผมมาจับเข่านั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆกับกลุ่มชาวบ้านแห่งชุมชนตำบลสงเปือย
อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ดินแดนแห่งข้าวหอมมะลิ
ชาวบ้านตำบลนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวนามาแต่กำเนิด
เล่ากันว่าเมื่อประมาณสามร้อยปีก่อน มีชาวบ้านจากเมืองอุบลราชธานี
เดินทางมาตามลำน้ำ พบพื้นที่เหมาะสมจึงพากันตั้งรกราก
และเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะของต้นเปือย หรือต้นตะแบกที่มีจำนวนมาก
พวกเขาปลูกพืชมาหลายชนิด ปอ ฝ้าย มันสำปะหลัง และสุดท้ายคือ ข้าวหอมมะลิ
ในอดีตชาวนาสงเปือยล้วนปลูกข้าวด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดมานานแล้วด้วยความเคยชิน
ไม่ว่ายาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืชทุกชนิด เพราะออกฤทธิ์เร็วและราคาไม่แพง
จนกระทั่งเมื่อร่วมสิบปีก่อน ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านเริ่มไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลกันมากขึ้น
สาเหตุมาจากปัญหาการสูดดมและสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน
จนเกิดการสะสมและมีผลต่อสุขภาพร่างกาย
ด้วยความกลัวตาย ชาวนาหลายคนก็เริ่มสนใจไปเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี
พวกเขาลองผิดลองถูก ไปดูงานตามที่ต่าง ๆ สั่งสมประสบการณ์ในการทำนาอินทรีย์
โดยเริ่มจากการทำปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี การทำหัวเชื้อน้ำหมักอีเอ็ม การใช้แรงงานตัดหญ้า
ไถกลบฟางหลังเก็บเกี่ยวเพื่อทำปุ๋ย และปล่อยน้ำเข้าท้องนาเพื่อให้ท่วมต้นหญ้าตาย
ก่อนจะลงกล้าในฤดูดำนา
ชาวนาหลายคนที่เลิกเลี้ยงควายไปนาน เพราะใช้ควายเหล็ก และเครื่องจักรในท้องนา
ก็เริ่มหันมาเลี้ยงวัวควาย แต่ไม่ได้ใช้ไถนา เลี้ยงไว้เอามูลสัตว์มาทำปุ๋ยคอก
บ้านหลังหนึ่งอย่างน้อยต้องมีวัวควายคู่หนึ่ง
ชาวนาเริ่มปลูกข้าวอินทรีย์ ยอมรับว่าผลิตผลข้าวต่อไร่ลดลงกว่าเดิม
เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมี
“นาอินทรีย์ได้ข้าวไร่ละ 400 กิโลกรัม แต่นาสารเคมีได้ข้าวไร่ละ 500 กิโลกรัม” ชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
แต่สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการผลิตจากการซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้าลดลง
และสิ่งที่พวกเขาได้กลับคืนมา คือสุขภาพดีขึ้น
ไม่ต้องกังวลหรือหวั่นใจกับการสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีจะทำร้ายร่างกายอีกต่อไป
พวกเขาบอกว่าตอนแรกๆมีคนทำเกษตรอินทรีย์ นับหัวได้
เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังเชื่อในสารเคมี ไม่อยากปรับตัว
เวลาผ่านไปร่วมสิบปี คนในชุมชนที่ใช้สารเคมีก็เริ่มสนใจอยากทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
หลังจากมีการถ่ายทอดวิธีทำ และเห็นผลดีผลเสียของทั้งสองวิธี จนเกิดการเปลี่ยนแปลง
“ตอนแรกนึกว่าเกษตรอินทรีย์จะยากลำบาก แต่ลองทำดูแล้ว ก็ไม่ยุ่งยาก
อาจต้องขยันตัดหญ้ามากขึ้น”
ชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ทุกวันนี้ชาวนาสงเปือยหันมาทำนาเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นจำนวนร้อยละ 50
ของชาวนาทั้งตำบล จากที่มีคนเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ตอนแรกไม่ถึงร้อยละ 5
พวกเขาสังเกตว่า หลังจากเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สิ่งที่ตามมาคือผึ้ง
แมลงชนิดสำคัญที่สุดในการผสมเกสรดอกไม้
ทำให้พืชนานาชนิดเกิดการแพร่ขยายพันธุ์ ที่เคยหายไปนานจากสารเคมีในท้องไร่ท้องนา
ได้กลับมามากขึ้น รวมถึงต่อ แตนในธรรมชาติ และแมลงในพื้นดินหลายชนิด
ที่เป็นอาหารโปรตีนของพวกเขา
ไม่นานนัก นกปากห่างหลายร้อยตัวปรากฏตัวขึ้น ลงมากินหอยเชอรี่ในนาข้าว
โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหอย
ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศกำลังกลับคืนสู่ท้องไร่ท้องนาอีกครั้ง
พอเกี่ยวข้าวเสร็จ พ่อค้าโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากท้องนาเกษตรอินทรีย์
ราคาสูงกว่าข้าวในนาที่ใช้สารเคมี
เพิ่มขึ้นเกวียนละ 500 บาท
ผมถามชาวบ้านว่าปลูกข้าว ปลูกผัก ใช้แค่ยาจากพืชสมุนไพร ไม่กลัวแมลงกินหรือ
พวกเขาบอกว่า “ก็มีบ้าง แต่แบ่งๆกันกินดีกว่า แมลงกินบ้าง คนกินบ้าง”
ชาวนาตำบลสงเปือยใช้เวลานับสิบปี กว่าที่ชาวนาครึ่งหนึ่งยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ในการผลิต
ถือเป็นความสำเร็จมาก เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว
หากทิศทางใหญ่ของประเทศในอนาคต การก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรอินทรีย์คือคำตอบ
ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอาจจะต้องให้ความสำคัญกับ ช่วงเวลาในกระบวนการ “เปลี่ยนผ่าน”
เพื่อให้ชาวไร่ ชาวนาได้ปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีผลิตพอสมควร
ให้เกษตรกรได้เตรียมตัวและเข้าใจข้อดีข้อเสียระหว่างเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์
บางทีการหักดิบทันทีเลย อาจทำให้เกิดการดื้อยาและต่อต้านอย่างน่าเสียดาย