ช่วงเวลานี้ ค่า pm2.5 ในกรุงเทพมหานครเฉลี่ยทะลุหลักร้อยมาหลายอาทิตย์แล้ว
ขณะที่ค่า pm2.5 ในกรุงลอนดอนวัดได้หลักสิบ
เหตุผลสำคัญที่กรุงลอนดอนเป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีมลพิษ
เป็นเพราะมหานครแห่งนี้มีสวนสาธารณะและต้นไม้มากอันดับต้น ๆ ของโลก
มีงานวิจัยมากมายบอกว่า การปลูกต้นไม้ในเมืองช่วยลดอากาศเป็นพิษได้ชัดเจน
ในปีค.ศ 2013 Daniel Raven-Ellison นักภูมิศาสตร์คนหนึ่ง ได้ตั้งประเด็นว่า
ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนให้มหานครลอนดอนกลายเป็น ”เมืองในสวนสาธารณะ”
ไม่ใช่ “สวนสาธารณะในเมือง”
สองคำนี้มีความหมายต่างกันมาก เพราะคำแรก หมายความว่า
ลอนดอนจะเป็น สวนสาธารณะที่มี ‘เมือง’ อยู่ข้างใน
ไม่ใช่ เมืองใหญ่ที่มี ‘สวนสาธารณะ ‘อยู่ข้างใน
เขาได้พบว่า แม้ว่าลอนดอนจะมีสวนสาธารณะมากมาย
แต่ก็ยังขาดความหลากหลายทางชีวภาพ และพื้นที่สีเขียวยังไม่ค่อยมากพอ
ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดการรณรงค์ขึ้นครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน มีผู้คนจากหลากหลายอาชีพ
องค์กรต่าง ๆ นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนและนักการเมืองจำนวนมาก
เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องทำให้สำเร็จ
เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวเกิดขึ้นหลายแห่งในเมือง
มีการปรับปรุงพื้นที่ชุ่มน้ำ wetlands ให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อาทิเช่น
Walthamstow wetlands เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาใหญ่ที่สุด
หล่อเลี้ยงชาวลอนดอน 3.5 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากร 8 ล้านคน
แต่เดิมบริเวณนี้นับพันปี เคยเป็นโรงงานผลิต แป้ง โรงสี ทองแดง ดินระเบิด
ต่อมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เกิดความแห้งแล้ง
จึงมีการปรับปรุงหนองน้ำบริเวณนี้ให้เป็นอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง
เพื่อเป็นโรงผลิตน้ำประปาเลี้ยงชาวลอนดอน
และเมื่อปีก่อน ได้ประกาศให้บริเวณนี้เป็น wetland พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการอนุรักษ์
เป็นสวนสาธารณะ นก ปลา คน ต้นไม้ทุกชนิด สามารถอยู่ร่วมกันได้
และยังผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนลอนดอนหลายล้านคน
ทุกวันนี้เป็น urban wetlands ใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วยขนาด 1,200 ไร่
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะทางเลียบริมแม่น้ำเทมส์หลายแห่ง
ให้เป็นทางเท้า ทางจักรยานที่สามารถติดต่อกันได้ทั่วถึง
หกปีผ่านไป เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา Sadiq Khan นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนได้ประกาศว่า
“จะทำให้ลอนดอนเป็นเมืองในสวนสาธารณะแห่งแรกในโลก เป็นเมืองที่เขียวที่สุดในโลก
มีคุณภาพอากาศดี มีการอนุรักษ์สัตว์ป่าและต้นไม้ในเมือง
ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเป็นเมืองสีเขียว ให้สำเร็จ”
ทุกวันนี้ในแง่กายภาพ ลอนดอนมีพื้นที่ประมาณ 1,600 ตารางกิโลเมตร ประชากร 8 ล้านคน
มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 40 % ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด
ประกอบไปด้วย สวนสาธารณะ ต้นไม้ริมถนน สวนขนาดเล็ก พื้นที่ชุ่มน้ำ
เฉพาะสวนสาธารณะ มีถึง 3,000 แห่ง
(ประมาณครึ่งหนึ่งในอดีตเคยเป็นสวนส่วนพระองค์เพื่อการล่าสัตว์ของกษัตริย์
และต่อมาพระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ) ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 8.7 หมื่นไร่
ขณะที่กรุงเทพมหานครพื้นที่ใกล้เคียงกับลอนดอน ประชากร 10 ล้านคน
มีสวนสาธารณะรวมกันไม่ถึง 3,000 ไร่
ในอดีตชาวลอนดอนเคยมีบทเรียนจากปัญหาอากาศไม่บริสุทธิ์
จากปัญหาโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงและควันรถ
ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
แต่ก็มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาตลอดหลายสิบปี
ลดการใช้รถยนต์ เพิ่มทางจักรยานและระบบขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง
โซนนิ่งการก่อสร้างอาคารสูง เข้มงวดกับการก่อสร้างทุกชนิด
และเพิ่มพิ้นที่สวนสาธารณะอย่างรีบด่วน
ทางการลอนดอนได้ตั้งเป้าหมายที่แสดงถึงความเป็นเมืองในสวนสาธารณะว่า
ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวฟรีและมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ
เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้
มีการปรับปรุงและตรวจวัดคุณภาพอากาศและน้ำทุกปี
มีการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ให้สัตว์ป่าและต้นไม้มีชีวิตได้ดีขึ้น
สนับสนุนการสร้างอาคารสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สนับสนุนการสร้างกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
สุดท้าย ร่วมกันประกาศในอนาคตว่า ลอนดอนเป็นเมืองแห่งโลกสีเขียว
แต่แน่นอนว่า การพลิกโฉมมหานครที่มีประชากร 8 ล้านกว่าคน ต้องใช้เวลาพอสมควร
แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากชาวเมืองทุกฝ่ายเป็นอย่างดี
ที่สำคัญคือ การจับมือระหว่างมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ประชาชนในชุมชนและรัฐบาล
ช่วยกันสร้าง อาสาสมัครนักวิทยาศาสตร์พลเมือง
เพื่อระดมคนจำนวนมากช่วยกันเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ ทั่วทั้งมหานคร
เพื่อนำข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้ มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตลอดจนถึงการวางแผนสร้างพื้นที่สีเขียวต่อไปในอนาคต
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกฝ่าย เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการสร้างโครงการนี้
เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า อยากให้สำเร็จ จึงรู้สึกร่วมกันเป็นเจ้าของ
ไม่ใช่โครงการที่เป็นคำสั่งจากส่วนราชการ หรือผู้มีอำนาจลงข้างล่างฝ่ายเดียว
ชาวเมืองลอนดอนพร้อมใจกันทำเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายชัดเจนว่า
เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
ยิ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากเท่าไร สิ่งที่ตามมาคือ
อากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด และสุขภาพที่ดีของทุกคน
คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่ลอยมาจากคนใดคนหนึ่ง
แต่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายอย่างจริงจัง