
ผมเคยสงสัยว่า ทำไมคนไทยจึงมักบริจาคเงินให้กับวัดหรือพระสงฆ์
มากกว่าบริจาคเงินช่วยเหลือคนด้อยโอกาสกว่า
ต่อมาจึงพอเข้าใจว่า เพราะคนไทยจำนวนมากมีความเชื่อว่า
หากคิดจะทำบุญ ควรจะบริจาคเงินกับคนที่มีบุญ วัดชื่อดัง หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ทำบุญแล้วจะเป็นการเพิ่มบุญกลับมาหาตัวเองมาก ๆ
ชัดเจนว่าเป้าหมายเหล่านี้ คือวัดและพระสงฆ์
คนไทยจึงมักไปทำบุญ และบริจาคเงินให้วัด
ยิ่งบริจาคเงินถวายวัดชื่อดัง พระชั้นผู้ใหญ่ หรือพระเกจิอาจารย์ ยิ่งได้บุญเยอะ
ไม่แปลกใจ ที่จะเห็นวัดดัง ๆ มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร พระพุทธรูป ฯลฯ
เพราะเจ้าอาวาสป่าวประกาศรับบริจาคแต่ละครั้ง
ญาติโยมจากทุกสารทิศมุ่งหน้ามาทำบุญกันอุ่นหนาฝาคั่งทีเดียว
เวลาไปตามวัด หลายครั้งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นหลายคนมาทำบุญ บริจาคเงินที่วัด
แต่พอขับรถหรูออกนอกวัด เห็นขอทานมารอรับเงินบริจาค น้อยรายนักที่จะให้เงินขอทาน
ส่วนหนึ่งด้วยความเชื่อว่า ขอทานเป็นคนไม่มีบุญบารมีมากพอ สู้ทำบุญกับวัดไม่ได้
ดังนั้นไม่แปลกใจที่ การรณรงค์บริจาคเงินให้องค์กรกุศล
ช่วยเหลือเด็ก คนชรา คนพิการ ผู้อพยพ คนด้อยโอกาสในสังคม
หรือบริจาคเงินเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปลูกป่า ช่วยเหลือสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ป่า
จึงยากเย็นกว่าการบริจาคเงินให้วัด
ในความเชื่อของคนทั่วไป การบริจาคเงินช่วยชีวิตสัตว์ ปลูกป่า ช่วยผู้ลี้ภัย
คงห่างไกลจากการจะได้บุญ เมื่อเปรียบเทียบกับบริจาคเงินให้วัดหรือพระสงฆ์
ไม่มีใครรู้ว่า แต่ละปี คนไทยทำบุญบริจาคเงินให้วัดกับพระสงฆ์ปีละเท่าไหร่
แต่ธนาคารแห่งหนึ่งเคยประเมินว่า
เงินฝากของวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมกัน
น่าจะมีมากกว่า 3 แสนล้านบาท
แน่นอนว่า
เงินส่วนใหญ่คงมาจากเงินบริจาคของชาวบ้านเอามาถวายวัด
อันนี้ไม่รวมเงินของบรรดาหลวงพ่อ หลวงพี่
ที่อาจไม่ได้ฝากธนาคาร และไม่สามารถตรวจสอบได้
ขณะที่ฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร ในปี 2551
มีผู้เสียภาษีนำใบเสร็จรับเงินบริจาคกับองค์กรการกุศลทุกประเภท
ตั้งแต่บริจาคให้วัด องค์กรการกุศลต่าง ๆ มาหักลดหย่อนภาษี
ประมาณ 55,236 ล้านบาท
แสดงว่าแต่ละปีคนไทยใช้เงินจำนวนมหาศาลในการทำบุญ
เพียงแต่ว่าจะเอาเงินไปทำบุญอะไรมากกว่า
อันที่จริง ในทางพุทธศาสนา การทำบุญ มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการใหญ่ ๆ คือ
เกิดปัญญา เห็นความจริงจนปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้
และมีความกรุณา เห็นสรรพสัตว์สรรพชีวิตเป็นเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน
พร้อมจะเกื้อกูลอย่างไม่เห็นแก่ตัว
เมื่อมีปัญญาและกรุณา ก็จะเกิดความสุขหรือความสงบเย็น
ไม่ใช่คาดหวังว่า ทำบุญแล้วจะได้บุญกุศลกลับมาตัวเอง
โดยเฉพาะทำบุญกับวัดชื่อดังหรือเกจิอาจารย์แล้ว
ยิ่งได้บุญกลับมาหาตัวเองมากขึ้น
พระไพศาล วิสาโลเคยกล่าวไว้ว่า
“การทำบุญ ตามความคุ้นชินของคนทั่วไป
มักเข้าใจกันว่าต้องเป็นการทำทานด้วยข้าวของเงินทอง
และต้องทำกับพระสงฆ์เท่านั้น
แต่ความจริงแล้วการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้
หากยังรวมถึงการเสียสละเวลา แรงกาย น้ำใจ ความรู้ความสามารถ ความเอื้ออาทรให้แก่ผู้อื่น
ในส่วนของผู้รับก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพระสงฆ์
แต่ยังสามารถให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าคน สัตว์
หรือแม้แต่การช่วยฟื้นฟูธรรมชาติที่เสื่อมโทรม
ซึ่งถือเป็นการทำบุญทั้งสิ้น
การทำบุญด้วยความเข้าใจใหม่ดังกล่าว
จะทำให้เกิดประโยชน์ครอบคลุม ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมโดยรวม
และจุดหมายที่สำคัญของการทำบุญก็คือการลดละความเห็นแก่ตัว
เริ่มจากการลดละความยึดติดในทรัพย์สินเงินทอง
ถ้าหากเรายังยึดติดในทรัพย์สินเงินทอง ทำบุญก็หวังรวย
อยากไปเกิดในสวรรค์ ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำบุญที่ฉลาด ”
การทำบุญ ตามความหมายที่แท้จริง
หมายถึงการชำระใจให้สะอาด การชำระใจให้ผ่องแผ้ว
ถ้าเราทำบุญแล้วเราไม่ได้ทำใจของเรา ให้โปร่งเบา
หรือชำระจิตของเราให้สะอาด ก็เป็นบุญที่แท้ไม่ได้
ทำบุญช่วยใครก็ได้ ที่สบายใจ รู้สึกอิ่มเอิบใจ
ไม่ว่าจะเป็นทำบุญกับพระ คนด้อยโอกาสกว่าเรา
ไปจนถึงการช่วยเหลือบรรดาสิงสาราสัตว์
หรือการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา
และไม่จำเป็นต้องใช้เงินอย่างเดียว
การออกแรงกายก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง
หลายครั้งในต่างประเทศตอนวันหยุดผู้เขียนเห็น หมอ วิศวกร และผู้คนจำนวนมาก
เข้าแถวมาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนหนังสือในถิ่นทุรกันดาร
ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงพยาบาล
หรือกวาดขยะตามสวนสัตว์ที่ขาดแคลนแรงงาน
บางคนใช้เวลาวันหยุดบินไปเป็นแพทย์ อาสาสมัครสร้างที่พักพิง
ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในแอฟริกา ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่เป็นงานใช้แรงงาน ทำงานกับคนที่ด้อยกว่า
แต่พวกเขาไม่ได้รังเกียจ
ด้วยความเชื่อว่า การได้ช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ
ย่อมทำให้สังคมดีขึ้น
ทำแล้วตัวเองสบายใจ คือการทำบุญโดยแท้จริง
ไม่ต้องรอชาติหน้าเลย