ฤดูฝนปีนี้ อีสานขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
ฝนทิ้งช่วงมานาน ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำก็แทบจะเหลือก้นอ่าง
ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองวิ่งกันพล่าน แต่ปัญหาก็แก้ได้ยากเย็นเหลือเกิน
สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาภัยแล้งอันดับต้น ๆของประเทศมานานแล้ว
ปีนี้ก็เช่นกัน
เกือบทุกปีสุรินทร์จะได้รับการประกาศเป็น จังหวัดที่ประสบภัยแล้งจัด
เป็นปัญหามานานที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง
ชาวบ้านประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ฐานะค่อนข้างยากจน
โดยเฉพาะหน้าแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้จากการขาดแคลนน้ำ
และพอเข้าหน้าฝนหาก ปีไหนโชคร้ายฝนทิ้งช่วง ไร่นาก็อาจล่มสลาย เช่นเดียวกับปีนี้
แต่เชื่อหรือไม่
ชุมชนแห่งหนึ่งในสุรินทร์ ไม่เคยขาดน้ำตลอดทั้งปี
เร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสมาเยือนชาวบ้านแห่งตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท
ชุมชนแห่งนี้ไม่เคยขาดแคลนน้ำมาหลายปีแล้ว อย่างน่าทึ่ง
ชาวตำบลเชื้อเพลิงสามารถจัดการน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ได้ตลอดปี ทั้งหน้าแล้งและหน้าฝน
เมื่อมีน้ำ ทุกชีวิตบนแผ่นดินก็งอกงาม กลับคืนมา
เมื่อมีแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ พวกเขาก็มีรายได้จากการทำไร่ ไถนา
มีฐานะทางเศรษฐกิจพอเพียง แทบจะไม่เป็นหนี้สิน
พ้นเส้นขีดความยากจนที่รัฐบาลตั้งไว้
แต่แหล่งน้ำที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะการร้องขอ ให้ใครมาช่วยเหลือ
พวกเขาลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง
ชุมชนเชื้อเพลิงมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาป่าให้กลับคืนมา
เมื่อมีป่า แหล่งน้ำก็ตามมา
แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงห่างจากอำเภอเมืองสุรินทร์ เมืองใหญ่ที่มีความเจริญด้วยตึกรามบ้านช่อง
ไม่กี่สิบกว่ากิโลเมตร
จะมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านเชื้อเพลิงช่วยกันรักษาถึง 3,900 ไร่
ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของผู้คนแห่งนี้
ที่ในอดีตเคยถูกถางเตียนเกือบหมด
ชาวตำบลเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวเขมร หรือ “ส่วย”
อาศัยอยู่บริเวณนี้มานานหลายร้อยปีแล้ว
ส่วย เป็นชาวพื้นราบที่ผูกพันและหวงแหนป่ามานานแล้ว
ป่าชุมชนที่ชาวเชื้อเพลิงร่วมกันดูแลรักษา เรียกว่า ป่าตาเกาว์ เป็นภาษาเขมร
มาจากชื่อหญ้าตะกั๊ก หญ้าชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณนี้ จนภายหลังเพื้ยนมาเป็น ตาเกาว์
ป่าตาเกาว์มีความอุดมสมบูรณ์มาก และเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านมาช้านาน
แต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน รัฐบาลได้ส่งเสริมนโยบายการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปอ
ชาวบ้านพากันบุกรุกทำลายป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ปอ ด้วยความเชื่อว่า
ปอ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ฝันสลาย เพราะราคาปอตกต่ำ ไม่ได้ช่วยทำให้ฐานะดีขึ้น
ซ้ำร้ายชาวบ้านยังต้องมีหนี้สิน คนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ต้องอพยพไปหางานทำในตัวเมือง
ขณะที่ป่าตาเกาว์ถูกทำลายจนเหลือเพียง 2,000กว่าไร่
จนเมื่อยี่สิบปีก่อน นายพินิจ เมืองไทย กำนัน แห่งตำบลเชื้อเพลิง
ทนเห็นความวิบัติของป่า และความล่มสลายของชุมชน ไม่ได้อีกต่อไป
จึงเรียกประชุมชาวบ้านและแกนนำชุมชน
จนได้ข้อสรุปว่า จะต้องฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูน้ำให้ได้ก่อนจะสายเกินไป
กำนันใช้ความพยายามร่วมกับแกนนำชุมชน
เจรจาขอคืนพื้นที่ป่าคืนจากชาวบ้านผู้บุกรุก ใช้ความอดทนในการพูดให้ชาวบ้านเข้าใจว่า
ทำไมต้องฟื้นป่า จนสำเร็จ ได้พื้นที่ป่าคืนมาประมาณ 1,000 ไร่
กำนันบอกผู้เขียนว่า
“ตอนนั้นผมมีความมุ่งมั่นว่าต้องรักษาป่าผืนนี้ให้ได้
เพราะเชื่อว่า ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ”
พวกเขาช่วยกันร่างระเบียบการใช้ป่าชุมชน อาทิ
ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามจุดไฟเผาป่า
ชาวบ้านเก็บของป่าเพื่อหากินได้ แต่ห้ามนำมาค้าขาย ฯลฯ
ใครทำผิดระเบียบจะถูกปรับเป็นเงินตั้งแต่ 5 -500 บาท
และนำเงินนี้สมทบกองทุนรักษาป่าชุมชนต่อไป
พวกเขาร่วมกันตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน มีสัดส่วนของผู้หญิงมากพอ ๆกับผู้ชาย
ผมสังเกตดูรายชื่อกรรมการหลายกลุ่มในชุมชนแห่งนี้
มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสียอีก
“ ชาวเชื้อเพลิงเชื่อในความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย” กรรมการสาวคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
เมื่อได้พื้นที่คืนมา แทนที่พวกเขาจะปลูกป่าเต็มพื้นที่
ด้วยประสบการณ์ในชีวิตมายาวนาน พวกเขาฉลาดพอที่จะ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง
วางแผนสร้างสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำหลายแห่ง ใหญ่บ้าง เล็กบ้างกระจายไปรอบ ๆ ป่า
และร่วมแรงร่วมใจกันขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติเดิมทั้งหมดให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น
ผู้เขียนเดินดูสระน้ำขนาดใหญ่ขุดเป็นคูน้ำยาวหลายสิบกิโลเมตร ล้อมรอบผืนป่า
เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และยังเป็นแหล่งน้ำชั้นดีให้กับชาวบ้าน
หน้าแล้งพวกเขายังสามารถปลูกข้าวได้อย่างน่าทึ่ง
ป่าตาเกาว์มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 5 แห่ง และชาวบ้านช่วยกันขุดสระน้ำขนาดใหญ่อีก 8 แห่ง
กำนันพินิจเป็นผู้กว้างขวาง จึงสามารถขอความร่วมมือจากหน่วยราชการ
มาช่วยกันขุดสระน้ำได้โดยสะดวก เพราะลำพังการขุดสระน้ำต้องใช้เงินจำนวนมาก
พอฝนตกลงมา ชาวเชื้อเพลิงมีน้ำเต็มสระน้ำ บึงน้ำ
ปริมาณน้ำเหล่านี้รวมกันประมาณ 5 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร เป็นหลักประกันว่า
หน้าฝนใช้ฝนธรรมชาติ แต่หากฝนทิ้งช่วง หรือหากหน้าแล้ง
พวกเขาสามารถทำไร่ ปลูกผักได้ โดยมีการต่อท่อส่งน้ำไปยังไร่นาของตัวเอง
ท่อเหล่านี้ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ แต่ใช้หลักการแรงดึงดูด น้ำจากที่สูงไหลสู่ที่ต่ำ
ผมเดินตามท่อส่งน้ำเหล่านี้ที่ต่อมาจาก สระน้ำ
เพื่อไปลงพื้นที่ไร่นาของชาวบ้าน ระยะทางหลายร้อยเมตร ซึ่งอยู่ต่ำกว่าสระน้ำ
เมื่อไปถึงปลายท่อบนผืนนา ชาวบ้านได้เปิดเครื่องสูบน้ำ น้ำพุ่งออกมาเหมือนน้ำพุ
โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ใด ๆ แต่น้ำพุ่งออกมาตามแรงดึงดูด ก่อนจะไหลเข้านา
นวัตกรรมแบบบ้าน ๆ ที่ไม่ต้องเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ผลดีเยี่ยม
ชาวเชื้อเพลิงนอกจากปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ได้แล้ว
ในป่ายังมีแหล่งอาหารมากมาย โดยเฉพาะเห็ดหลากชนิด
ขณะที่ในน้ำมี กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่เคยขาด
พื้นที่ป่าบางส่วนยังได้ถูกจัดสรรให้เป็นที่ตั้งของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์
โรงเรียนสำหรับคนพิการหูหนวก ปัญญาอ่อน ศูนย์เด็กเล็ก และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ชาวบ้านในชุมชนยังรวมกลุ่มกัน ในการดูแลการแยกขยะ
ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมักแทนสารเคมี และถ่ายทอดการใช้สมุนไพร
มื้อเที่ยงวันนั้น ผู้เขียนได้ร่วมกินอาหารริมสระน้ำ กับข้าวมือนั้น
มาจากวัตถุดิบในป่าในสระน้ำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผัก เห็ดป่านานาชนิด กุ้งฝอย ปลาย่างหลายชนิด
พวกเขาเชื่อว่า
“ น้ำจะไหลไปหาคนยากคนจนที่ขยันเท่านั้น”
ชาวเชื้อเพลิง 12 หมู่บ้าน 7,000 กว่าคนจึงมีฐานะเศรษฐกิจพอเพียง
คนหนุ่มสาวไม่ต้องไปหางานทำในเมืองใหญ่
ท่ามกลางความแห้งแล้งมายาวนาน แต่ด้วยความสามัคคี
การเห็นคุณค่าของป่าและน้ำ และร่วมแรงร่วมใจกันเอาป่ากลับคืนมา
พวกเขาจึงกลายเป็นสังคมอันเข้มแข็ง
ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ
กรุณาส่งเรื่องตำบลเชื้อเพลิงนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดด้วยค่ะ ช่วยกันแก้ปัญหาภัยแล้งนะคะ
LikeLike