ป่าฮาลา-บาลา กับ จุมพิตเลือด

IMG-5767

หากถามนักเดินป่าว่า

ป่าแห่งในเมืองไทยอยากไปมากที่สุด

ป่าฮาลา-บาลา ใต้สุดแดนสยาม

น่าจะเป็นหนึ่งในสุดปรารถนาของนักนิยมไพร

ชื่อก็ลึกลับ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย

ยิ่งทำให้ป่าฝนแห่งนี้มีเสน่ห์ชวนค้นหา

ไม่นานมานี้ ทีมถ่ายทำสารคดีเรื่องหนึ่ง ขับรถจากตัวเมืองนราธิวาส

ผ่านด่านทหารสะพายปืนกลเตรียมพร้อมเต็มที่หลายสิบด่านลงไปตามเส้นทางเปลี่ยว

ทบจะไม่มีรถสวนมา มุ่งหน้าสู่ชายแดนใต้สุด อำเภอสุคิริน

ก่อนจะเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ยามพลบค่ำ

 

รุ่งเช้าเราตื่นขึ้นมากลางสายฝนของป่าดิบชื้นผืนอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมมลายู

ด้วยปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี

และบางปีอาจถึง 4,000 มิลลิเมตร

ขณะปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของประเทศแค่ 1,500 มิลลิเมตร

ไม่น่าแปลกใจที่ป่าแห่งนี้มีฝนตกเกือบทั้งปี

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาประกอบด้วยป่าสองผืน

คือ ป่าฮาลา ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส

และป่าบาลา ในอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

มีพื้นที่รวมกัน 391,689 ไร่

 

คำว่า “ฮาลา” แปลว่า “อพยพ”

หมายถึง ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากตัวเมืองปัตตานีในอดีต

มาอาศัยอยู่เป็นชุมชนรอบ ๆ ป่า

ส่วน “บาลา” มาจากคำว่า “บาละห์” แปลว่า “หลุด” หรือ “ปล่อย”

ชาวบ้านเชื่อว่าสมัยก่อนมีช้างเชือกหนึ่งหลุดหนีเข้าป่าฝั่งอำเภอแว้ง

 

ป่าสองผืนเป็นป่าดิบชื้นผืนใหญ่แห่งคาบสมุทรมลายู

จนได้ฉายาว่า “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

เป็นป่าดิบชื้นอันวิเศษ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก

มีนก 300 กว่าชนิดในจำนวน 1,000 ชนิดในเมืองไทย

เป็นสวรรค์ของนกเงือก 10 ชนิดจาก 13 ชนิดในประเทศ

มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 54 ชนิด สัตว์ป่าขนาดใหญ่มีทั้งช้าง เสือโคร่ง เสือดำ สมเสร็จ

และร่องรอยกระซู่ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย

รวมถึงชะนีดำใหญ่ที่เรียกว่าเซียมมัง ชะนีขนาดใหญ่ที่แพร่กระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมลายู

โดยพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

 

ยังมีความลึกลับทางธรรมชาติอีกมากที่มนุษย์ไม่ทราบ

ขณะที่ป่าผืนเดียวกันติดฝั่งมาเลเซีย น่าเสียดายที่ถูกบุกรุกทำลายป่า

กลายเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่ค่อย ๆ กลืนกินผืนป่าดิบแล้ว

วันรุ่งขึ้นก่อนออกเดินป่า เจ้าหน้าที่เตือนว่าทากเยอะมาก

เราใส่ชุดป้องกันทากคลุมถึงเหนือหัวเข่า  พอเริ่มเดินสายฝนก็โปรยลงมา

แต่แค่ย่างก้าว ใช้มือแหวกต้นไม้ใบหญ้าที่คลุมปิดทางไม่นานก็เห็นสีแดงบนฝ่ามือ

ทากตัวใหญ่ฝังตัวดูดเลือดอย่างรวดเร็ว พอแกะทากสำเร็จเลือดก็ไหลซิบ ๆ

 

ยิ่งเดินลึกป่ายิ่งดิบ พื้นดินเจิ่งนองด้วยน้ำ

บางช่วงผ่านป่าพรุ เดินย่ำโคลนอันเฉอะแฉะ

 

พอมองพื้นล่าง แทบทุกย่างก้าวเห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เคลื่อนไหว

ตัวทากขนาดเท่าเส้นด้ายจนถึงหัวไม้ขีดไฟชูตัวสลอน

ตั้งท่าคอยประชิดสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนมาใกล้

พอหยุดเดิน สังเกตรองเท้าตัวเองเห็นทากหลายตัวค่อย ๆ กระดืบ ๆ ไต่ตามผิวรองเท้า

พยายามรีดตัวเข้าไปในรู บางตัวคลานขึ้นมาตามกางเกง

ควานหาช่องว่างที่จะสอดแทรกเข้าแนบเนื้อเพื่อฝังเขี้ยวดูดเลือด

 

เราพยายามแกะทากที่ไต่ขึ้นมา แกะก็ยากเพราะมันฝังตัวแน่น

ใช้นิ้วดีดออกเท่าที่ทำได้ แต่ทากก็เยอะเหลือเกิน

ถึงตอนนี้ก็ต้องทำใจว่าบนร่างกายเราคงมีทากเกาะอยู่หลายตัว

 

เราเชื่อแล้วว่าทากเป็นดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า

ป่าดิบมาก ๆ ทากจะชุกเป็นพิเศษ

อยากเดินป่าดิบสมบูรณ์มากเพียงใด ก็ต้องยิ่งแลกกับการสละเลือดให้สัตว์ตัวน้อยเหล่านี้

 

ทากเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับไส้เดือนดิน ลักษณะคล้ายปลิง

ลำตัวเป็นปล้อง มีเมือกเหนียวหุ้มไว้ไม่ให้ตัวแห้ง รูปร่างเรียวยาว

หากินด้วยการดูดเลือดโดยใช้แว่นดูดที่อยู่ตรงปากด้านหน้า

หากใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นฟันเล็ก ๆ จำนวนมาก

 

สายฝนโปรยปรายแทบมองไม่เห็นทางข้างหน้า

เนื้อตัวเปียกชุ่ม อากาศหนาวเย็น แต่ก็ต้องเดินต่อไป

 

มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกทุกครั้งเมื่อเข้าใกล้ธรรมชาติ

จนเห็นธรรมชาติในตัวเราแม้จะต้องแลกด้วยการบริจาคโลหิต

 

เราหยุดพักยืนนิ่ง ๆ ทากสามสี่ตัวได้กลิ่นคาวเลือดค่อย ๆ คลานกระดืบ ๆ มาทางเรา

แม้จะไม่มีตา แต่อาศัยความร้อนและการสั่นสะเทือนจากการเดินของเหยื่อ

 

เรายกขาเปลี่ยนทิศมันก็หันตัวตาม แทบจะยืนนิ่ง ๆ ไม่ได้

ทากทุกตัวมุ่งมาหาเราจนต้องเดินต่อไป

 

ทากทำให้สัตว์ป่าพวกเก้ง กวาง ฯลฯ อยู่ไม่เป็นที่

เพราะเมื่อถูกทากเกาะมันจะรำคาญต้องขยับตัวเดินไปมาตลอดเวลา

ดินจึงร่วนซุยขึ้น เปิดโอกาสให้เมล็ดงอกได้ง่าย เป็นประโยชน์ในระบบนิเวศ

 

ช่วงข้ามลำธาร มองลงพื้นน้ำก็เห็นทากว่ายน้ำกระดุบ ๆ

มุ่งหมายฝากรอยจูบด้วยแว่นดูดที่ปล่อยสารคล้ายยาชาทำให้เราไม่รู้สึกตัว

รอยจูบมันดื่มด่ำมาก ปากดูดแน่นดีดเท่าไรก็ไม่หลุด

เมื่อดูดเลือดจนอิ่มแล้วจากไป เลือดเราก็ไหลออกมาอีก

 

เวลาดูดเลือดทากจะปล่อยสารสองชนิด

คือ สารฮิสตามีน (histamine) ช่วยกระตุ้นหลอดเลือดของเหยื่อให้ขยายตัว

และสารฮิรูดิน (hirudin) ต้านทานการแข็งตัวของเลือด

ทำให้เลือดเหยื่อไหลไม่หยุด แม้ทากจะปล่อยตัวหลุดไปแล้ว

 

ทากจึงเป็นประโยชน์ทางการแพทย์

ที่นำสารฮิรูดินมาทำให้เส้นเลือดของคนไข้ไม่อุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจ

ประโยชน์ของทากยังมีอีก

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ใช้เลือดที่ทากดูด ทำการวิเคราะห์หาดีเอ็นเอของสัตว์ป่าหายาก

 

กลับถึงที่พักค่อย ๆ สำรวจทั่วเรือนร่าง เห็นรอยทากกัดไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง

ทากตัวสุดท้ายยังเกาะดูดเลือดตรงน่อง

เรายอมให้มันฝังรอยจูบจนลำตัวอวบอิ่มและปล่อยลงบนแผ่นกระดาษ

ก่อนมันจะคลานช้า ๆ ไปมาสร้างงานศิลปะบนแผ่นกระดาษชื่อว่า

“จุมพิตเลือด”

ประโยชน์ของทากมีเหลือหลายจริง ๆ

 

IMG-5940

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s