พ่อแม่ของผู้เขียนครองชีวิตด้วยกันมา 60กว่าปี
ก่อนที่พ่อจะลาจากไปเมื่อสามปีก่อน
ผู้เขียนมองย้อนกลับไปในอดีต
แทบไม่น่าเชื่อว่า
พ่อแม่เป็นชนชั้นกลาง มีลูกถึงเจ็ดคน จะสามารถเลี้ยงดูลูก ๆมาได้อย่างไร
ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางเศรษฐกิจก็ย่ำแย่
แม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูกทั้งเจ็ดคน
ขณะที่พ่อออกไปทำงานหาเงินทุกวันไม่เคยหยุด
ท่านทั้งสองก็อดทนเลี้ยงลูก
เข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงและส่งเสียจนลูกทุกคนเรียนจบมหาวิทยาลัย
เปรียบกับครอบครัวในปัจจุบันแล้ว
แทบจะหายากมากที่จะมีใครสามารถเลี้ยงลูกได้มากขนาดนี้
ผู้เขียนจำได้ว่า ช่วงที่ทำงานใหม่ ๆ แยกครอบครัวออกมา
มักจะให้ความสนใจในการสร้างเนื้อสร้างตัว
มากกว่าจะกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลพ่อแม่
ให้ความสนใจกับมิตรภาพของเพื่อน
มากกว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่
นาน ๆ ทีจึงจะกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้าน
แต่เห็นหน้าพ่อแม่ บางครั้งก็หงุดหงิด
อารมณ์เสียใส่พ่อแม่ที่พูดหรือทำอะไรไม่ถูกใจ
บางทีพ่อแม่พยายามดูแลเอาใจใส่
ก็มักจะรำคาญใจ เผลอพูดไปว่า
“อั๊วโตแล้ว อย่าทำเหมือนอั๊วเป็นเด็ก ๆนะ”
พ่อแม่คงรู้สึกเสียใจกับคำพูดเรา
แต่ก็อดทนได้
พอจะแต่งงาน พ่อแม่ก็ไม่เคยบังคับลูกอะไรเลย
ว่าอยากแต่งกับใครก็ได้
หากจะรักใคร ชอบใคร
พ่อแม่ ไม่เคยถามว่าฐานะทางบ้านคู่ครองเป็นอย่างไร ร่ำรวยไหม
ขอให้ลูกชอบ พ่อแม่ก็มีความสุข
เวลาผ่านไป พอโตขึ้นมา มีวุฒิภาวะมากขึ้น
ผู้เขียนก็เริ่มรับรู้ความจริงมากขึ้น
“เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
ร้องไห้ยามป่วยไข้ ได้ใครเล่าเฝ้าปลอบโยน
เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่ แม้เหนื่อยกายก็ยอมทน”
อ.สุนทรเกตุ
สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต
คือการที่พ่อแม่ให้ชีวิตเราเกิดมาในโลกใบนี้
พ่อแม่ให้โอกาสเรามีชีวิตขึ้นมา
จะมีอะไรสำคัญไปกว่านี้ไหม
บางคนบอกว่า
พ่อแม่เปรียบเสมือนพระอรหันต์
ให้โอกาสลูก ๆ ได้ตอบแทนและดูแล
อยู่ที่ว่าเราจะทิ้งโอกาสอันนี้หรือไม่
เวลาที่ท่านเหลืออยู่บนโลก นับถอยหลังลงเรื่อย ๆ
เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อมาโดยตลอด
เพื่อนหลายคน เมื่อออกเรือน แต่งงานมีครอบครัวแล้ว
มักจะค่อย ๆ ห่างหายไปจากพ่อแม่
ด้วยข้ออ้างว่า ตกเย็นต้องไปงานเลี้ยงลูกค้า ต้องไปหาเงิน
เสาร์อาทิตย์ต้องให้เวลากับครอบครัว
เรียกได้ว่า พ่อแม่มาทีหลังเสมอ
ภารกิจรัดตัวทุกวันเป็นเวลาหลายปี
เพื่อนหลายคนเมื่อเจอหน้าพ่อแม่
หลายครั้งก็จะหงุดหงิดใส่
เพราะพ่อแม่แก่เฒ่าลง
ทำอะไรเชื่องช้า ไม่ทันใจ
บางทีไม่รู้จะคุยอะไร อยู่ได้สักพักก็ลากลับ
พ่อแม่ก็ไม่เคยบ่นว่าอะไร
ขอให้นาน ๆทีมาเยี่ยมก็พอ
แค่เห็นหน้าลูกก็ดีใจสุดขีดแล้ว
ผู้เคยสังเกตว่า ร้านอาหารทันสมัย ดูดี
จึงมีแต่คนวัยทำงาน คนหนุ่มสาวไปทานอาหาร
น้อยครั้งที่จะเห็นลูกหลานพาพ่อแม่ในวัยร่วงโรยไปกินอาหาร
เพื่อนบางคนเชื่อว่า พ่อแม่แก่แล้ว ชอบความสงบ อยู่บ้านดีแล้ว
ไม่ต้องพาไปไหนไกล ๆ ดูแลลำบาก
แต่ผมเชื่อว่า พ่อแม่หลายคนอยากเห็นความทันสมัย
อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากแลกเปลี่ยนสนทนากับลูกหลาน
ไม่อยากอยู่ในโลกของความสันโดษ ความสงบไปโดยตลอด
ครั้งหนึ่งผู้เขียนพาพ่อแม่วัย 90 ไปทานอาหารโรงเบียร์ชื่อดัง ไปดูดนตรี
การแสดงอันตระการตรา พลางจิบเบียร์เพลินไปเล็กน้อย
ท่ามกลางรอยยิ้มของลูกหลานเต็มโต๊ะ ที่เห็นอากงอาม่ามีความสุข
ผู้เขียนเชื่อตลอดว่า การกลับไปเยี่ยมพ่อแม่
ดูแลท่านให้บ่อยที่สุดเท่าที่มีโอกาส
คือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต
มากกว่าการทำงานเสียสละให้สังคม
มากกว่าการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ถือศีลกินเจ
หรือสวดมนต์ นั่งสมาธิ
มากกว่าการต่อสู้ทางการเมือง
ไม่แปลกหรอกที่ครั้งหนึ่ง อัลแบร์ กามู นักเขียนชื่อดัง เคยกล่าวว่า
“ผมรักแม่ มากกว่าความยุติธรรม”
หลายคนไม่คาดคิด
หลายคนผัดวันประกันพรุ่งที่จะกลับบ้านไปดูแลพ่อแม่
และสุดท้ายหลายคนเสียใจไปตลอด
เมื่อคิดขึ้นได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร
ภายหลังเมื่อท่านจากไป
แต่ก็สายเกินไป
เพื่อนหลายคน ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ทำงานหนักมาตลอดเพื่อครอบครัว
เคยบอกผู้เขียนว่า
สิ่งที่เสียใจที่สุด คือไม่ค่อยมีโอกาสได้อยู่ใกล้พ่อแม่ ยังไม่ทันได้ตอบแทนอะไร
คิดว่าวันหน้ายังพอมีเวลา เพราะธุรกิจรัดตัว
พ่อแม่ก็ลาจากไปกะทันหัน
เป็นความรู้สึกผิดที่ติดตัวไปตลอด
ผู้เขียนเชื่อว่า
หากจัดลำดับความสำคัญในชีวิตแล้ว
ส่วนตัวเชื่อว่า
การดูแลพ่อแม่บั้นปลายชีวิต เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ
แล้วเราจะไม่เสียใจไปตลอด