รำลึกนางาซากิ คนตายเขียนไม่ได้ แต่คนเขียนได้ตายทั้งเป็น

 

 

บริเวณกำแพงทางออกอาคารพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ (Nagasaki Atomic Bomb Museum )

มีภาพถ่ายขาวดำเด็กชายแบกทารกไว้ที่หลัง

ได้ตรึงผู้เขียนให้หยุดดูนาน

ก่อนออกจากสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง

ที่มีต่อชาวเมืองนางาซากิ จากการทิ้งระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกัน เมื่อ 74 ปีก่อน

ภาพถ่ายนี้เป็นหนึ่งในสัญญลักษณ์ความทุกข์เวทนา

สะเทือนใจผู้พบเห็น และบอกอารมณ์ความรู้สึกของสงครามอย่างหมดจด

Joe O’Donnell ช่างภาพสงครามชาวอเมริกันผู้ถ่ายภาพนี้ได้ในเมืองนางาซากิ ในปีค.ศ. 1945

ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม

เขาให้สัมภาษณ์เบื้องหลังภาพนี้ว่า

“เมื่อผมเดินทางมาถึงเมืองนางาซากิ ผมเห็นผู้คนอุดจมูกด้วยผ้าขาว

กำลังเผาซากศพจำนวนมากในหลุมขนาดใหญ่

สักพักผมเห็นเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณสิบขวบกำลังเดินมา

เขาแบกเด็กทารกคนหนึ่งบนหลัง

ดูเหมือนเป็นภาพปกติที่จะเห็นพี่ชายแบกน้องตัวเล็กขึ้นหลังเดินไปมา

แต่ภาพของเด็กคนนี้แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง

เด็กเดินตีนเปล่ามาที่เผาศพ

มีทารกบนหลังหงายศีรษะขึ้น ราวกับเพิ่งหลับ

เขาเดินมาถึงปากหลุม และจ้องมองลงไปอย่างสงบ

เด็กชายยืนนิ่งเกือบสิบนาที

จนมีชายคนหนึ่งเดินมาหา ค่อย ๆ ปลดเชือกที่คล้องตัวทารกออกมาจากหลังเด็กชาย

ผมเข้าใจทันทีว่าทารกตายแล้ว

และเอาร่างทารกไปวางบนกองฟืนที่กำลังลุกโชน

ไฟลามศพทารก เสียงเผาศพดังเป็นระยะ

เด็กชายยืนนิ่งเงียบมองเปลวไฟราวกับไร้วิญญาณ

ผมสังเกตเห็นริมฝีปากมีสีแดง

เด็กน้อยกัดริมฝีปากล่างจนเลือดหยดออกมา

เขายืนอยู่ตราบจนไฟไหม้ศพน้องชายของเขาจนเป็นเถ้าหมด

ดวงอาทิตย์กำลังลับฟ้า แล้วเขาเดินจากไปอย่างเงียบ ๆ”

9 สิงหาคม 1945 ระเบิดปรมาณูได้ระเบิดเหนือเมืองนางาซากิ

สามวันหลังจากระเบิดลูกแรกได้ถล่มเมืองฮิโรชิม่า มีคนตาย 140,000  คน

เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามกับสหรัฐอเมริกา

หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ  67 เมืองของญี่ปุ่น

อย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึงหกเดือน

เพราะกองทัพสหรัฐอเมริกาประเมินแล้วว่า

หากใช้กองทหารบุกเกาะญี่ปุ่น อาจจะถูกต่อต้านอย่างหนัก

และต้องสูญเสียทหารอเมริกันนับล้านคน

แนวทางที่สูญเสียชีวิตทหารน้อยกว่า คือการทิ้งระเบิดปรมาณูเป้าหมายทางพลเรือน

เพื่อข่มขวัญศัตรูว่า มีอาวุธมหาประลัย

แต่เมื่อทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาแล้ว กองทัพญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้

ภายใน Nagasaki Atomic Bomb Museum แสดงภาพเมืองนางาซากิภายหลังโดนระเบิดปรมาณู

ระเบิดปรมาณูลูกที่สองก็ตามมา

อันที่จริงนางาซากิไม่ใช่เป้าหมายหลักการทิ้งระเบิด

ทหารอเมริกันวางแผนว่าจะทิ้งเมืองโคคูระ

เช้าวันนั้นเครื่องบิน B-29 ได้บินไปเหนือเมือง ปรากฏว่ามีหมอกควัน

มองไม่เห็นเป้าหมายข้างล่างนักบินวนเหนือเมืองถึงสามรอบ แต่ทัศนวิสัยแย่มาก

จึงตัดสินใจเลือกแผนสำรองบินมาเป้าหมายที่สองคือนางาซากิ

นักบินได้ปล่อยระเบิดพลูโตเนียมที่มีอานุภาพทำลายสูงสุดออกจากเครื่องบิน เมื่อเวลา 11.02 น.

เวลานั้นนางาซากิมีพลเมืองประมาณ 240,000  คน

ระเบิดมหาประลัยทำให้มีผู้เสียชีวิต 70,000 กว่าคน บาดเจ็บนับแสนคน

และเมืองพังพินาศ ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยเกือบหมด

หลักฐานสำคัญชิ้นแรกเมื่อผู้เขียนเดินเข้าไปอาคารจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ

คือ ซากนาฬิกาแขวนเก่า ๆ เคยตั้งอยู่ห่างจากศูนย์การระเบิด 800  เมตร

เข้มสั้นชี้เลข 11 เข็มยาวชี้เลข 1 นาฬิกาหยุดเดินเวลา 11.05 น.เมื่อระเบิดได้กระทบพื้นดิน

11.05 เวลาหยุดโลก หยุดชีวิตชาวเมืองนางาซากิ

ผู้เขียนเดินดู ซากชิ้นส่วนสิ่งของต่างๆ ที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐาน

ข้อมูลเหตุการณ์ สาเหตุการเกิดช่วงเวลาเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา

ถ่ายภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและซากปรักหักพังของเมืองผู้รอดชีวิต

แต่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยโรคลูคีเมีย(มะเร็งเม็ดเลือดขาว) จากพิษของสารกัมตภาพรังสี

และคำพูดแสดงความรู้สึกของชาวบ้าน ลูกเล็กเด็กแดง ที่ต้องมารับเคราะห์แทนผู้กระหายสงคราม

บางตอนมีคำพูดของผู้รอดตายว่า

“ ท้องทุ่งไหม้เกรียมเป็นสีแดงเพลิง

ไฟยังลุกไหม้ผู้คน
แม่ของฉัน อยู่ในกองเพลิง
พี่สาวของฉัน อยู่ในกองเพลิง
และมีเพียงเถ้าถ่านที่หลงเหลืออยู่”

ซากู ชิโมฮิรา วัย 11 ขวบ

ภายใน Nagasaki Atomic Bomb Museum

“ขอให้ฉันกลับไปอยู่อดีตเถิด

ขอเพียงแค่ครั้งเดียว
ฉันต้องการแม่ ฉันต้องการพ่อ
ฉันต้องการพี่ชาย ฉันต้องการพี่สาว”

ฟูจิโอ ชึจิโมโต วัย 5 ขวบ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่

ในวันที่นางาซากิโดนพิษร้ายของสารพลูโตเนียมอาบกินไปเกือบทั้งเมือง

โดยที่ชาวเมืองไม่ได้มีส่วนรับรู้ในการก่อสงครามเลย

แต่ต้องมาเป็นผู้รับเคราะห์ร้ายโดยตรง

ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก ก็เหมือนกับตายทั้งเป็น

เมื่อคนในบ้านตายหมด

เหมือนอย่างหัวหน้าครอบครัวชื่อ อัทซูยูกิ มัทซูโอะ บันทึกไว้ว่า

“9 สิงหาคม นางาซากิ โดนระเบิดปรมาณู

ฉันมาถึงบ้านเมื่อพลบค่ำแห่งความตายมีใครอยู่ไหม

ภายใต้ซากปรักหักพัง

ฉันพบเมียบาดเจ็บสาหัส และศพลูกสองคนข้างถนน

เธอได้เล่าว่าลูกตายอย่างไร (อายุหนึ่งและสี่ขวบ)

เธอบอกว่าลูกของเราตายมีรอยยิ้มในอ้อมกอดของแม่

แม่วางลูกสองคนลงบนพื้น

เมื่อไม่มีอะไรมาหุ้มตัวลูก ฝูงแมลงวันก็บินมาไต่ตอม

ลูกชายคนโตอีกคนบาดเจ็บสาหัส

ก่อนจะตายตามไป

นอนตายอยู่ข้าง ๆ แม่

11 สิงหาคม ฉันรวบรวมกองฟืนเผาลูกทั้งสามคน

รุ่งขึ้นหมอกน้ำค้างยามเช้าได้ชำระเถ้าถ่านของลูกสามคนไปหมด

13 สิงหาคม เมียทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายไปอีกคน

15 สิงหาคม ฉันเผาศพเธอ

วันเดียวกับที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

หลังจากสูญเสียทุกสิ่ง ฉันยืนสงบนิ่ง

เมื่อระเบิดปรมาณูสี่ลูกซ้อน ระเบิดตัวฉัน ฉันจุดไฟเผาศพ

ให้เปลวไฟลุกไหม้ไปพร้อมกับคำยอมแพ้สงคราม”

คนตายเขียนไม่ได้ แต่คนเขียนได้ตายทั้งเป็น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s